- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Wednesday, 13 May 2015 23:33
- Hits: 3428
คมนาคม เตรียมชงครม.ขออนุมัติเอ็มโอซี ดึงญี่ปุ่นลงทุนระบบรางไทย
แนวหน้า : 'บิ๊กจิน' เตรียมเสนอครม.สัปดาห์หน้า อนุมัติกรอบความร่วมมือหรือเอ็มโอซี ก่อนบินไปลงนามการพัฒนาระบบรางไทย-ญี่ปุ่น ด้านคลังยืนยันโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ไม่มีปัญหา พร้อมหาเงินกู้สนับสนุน
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่าสัปดาห์หน้ากระทรวงคมนาคมจะเสนอให้ที่ประชุมคณรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาอนุมัติกรอบความร่วมมือก่อนที่ผู้แทนกระทรวงคมนาคมจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อลงนามกรอบเงื่อนไขความร่วมมือ หรือเอ็มโอซีกับกระทรวงคมนาคมญี่ปุ่นเพื่อเดินหน้าการร่วมมือพัฒนาระบบรางในหลายเส้นทาง โดยคาดว่าจะลงนามระหว่าง 2 ประเทศ ในวันที่ 26 หรือ 27 พฤษภาคม 2558
ทั้งนี้ ในการเจรจากับผู้แทนญี่ปุ่นช่วงที่ผ่านมาชัดเจนว่าญี่ปุ่นให้ความสนใจลงทุนหลายโครงการโดยเฉพาะ โครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน ความเร็วมากกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาแผนรายละเอียดเกี่ยวกับเส้นทางเดินรถของรถไฟเส้นทางดังกล่าวแล้วตั้งแต่ปี 2555
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการก่อสร้างครั้งนี้ตามกรอบความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น จะมีการทบทวนภาพรวมของแผนทั้งหมด รวมทั้งเร่งทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้เสร็จ โดยกระทรวงคมนาคมตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างต้นปี 2559 ส่วนรายละเอียดของวงเงินการลงทุนและที่มาของงบประมาณนั้น จะมีการศึกษาควบคู่พร้อมกัน เมื่อได้รายละเอียดเส้นทางแล้วจะทำให้ทราบวงเงินรายละเอียดของการลงทุน ส่วนที่มาของงบประมาณนั้น จะมาจากการร่วมทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่น ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อดำเนินการ
นอกจากนี้ ทางญี่ปุ่นยังให้ความสนใจการลงทุนเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคของไทย โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟรางมาตรฐานอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว หรือเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ รวมทั้งแนวทางภาคตะวันออกของไทย ปัจจุบันแม้ไทยมีข้อตกลงกับจีนที่จะพัฒนารถไฟรางมาตรฐานเส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุด อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคตะวันออกไทยยังมีเส้นทางระบบรถไฟอีกหลายโครงการ ไม่ว่าแอร์พอร์ตลิงค์ หรือรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง ในอนาคตญี่ปุ่นสามารถเข้ามาพัฒนาความร่วมมือในการลงทุนรถไฟแบบอื่นๆ ได้ ซึ่งจะมีการเจรจากรอบความร่วมมือต่อไป
ด้านนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังยืนยันว่าไม่มีปัญหาในการกู้เงินเพื่อใช้ก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) 2 เส้นทาง วงเงินลงทุนกว่า 1.4 แสนล้านบาท คือ สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. วงเงิน 8.46 หมื่นล้านบาท และสายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. วงเงิน 5.56 หมื่นล้านบาท โดยมั่นใจว่าจะสามารถกู้ได้ และคาดว่ากระทรวงคมนาคมจะเสนอเข้าที่ประชุมครม.พิจารณาในวันที่ 12 พฤษภาคม 2558
ที่ผ่านมาคาดว่าการก่อสร้างจะใช้เป็นรูปแบบการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือพีพีพี แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากเอกชนคงไม่สามารถมีรายได้เพียงพอคุ้มกับเม็ดเงินลงทุน ดังนั้นก็จะต้องใช้วิธีการกู้เงินผ่านงบประมาณรายจ่ายปกติ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังยืนยันว่าหากโครงการมีความจำเป็น เหมาะสม กระทรวงการคลังก็จะเตรียมแหล่งเงินกู้ไว้ให้ได้อยู่แล้ว
โดยก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวที่ว่า รมว.คมนาคม ระบุว่าโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ยังไม่ได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เนื่องจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียด เนื่องจากกระทรวงการคลังยังไม่สามารถจัดหาแหล่งเงินกู้ให้ได้
ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ยังเตรียมจัดหาแหล่งเงินกู้โครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน วงเงิน 78,294 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 2 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะเร่งด่วน วงเงินรวม 37,602 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำโดยการจัดทำระบบประปาหมู่บ้านและระบบชลประทานเพื่อกักเก็บน้ำ และการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยโดยการจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วม พัฒนาระบบการระบายน้ำ ระบบผันน้ำ และระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการศึกษาสำรวจและออกแบบโครงการขนาดใหญ่ที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปีงบประมาณ 2559
ส่วนโครงการที่ 2 คือโครงการพัฒนาระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน วงเงินรวม 40,692 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงบูรณะทางหลวง การปรับปรุงทางจักรยาน การติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างและป้ายจำกัดความเร็ว แก้ไขจุดเสี่ยง การเพิ่มช่องจราจร การขยายเส้นทางการปรับปรุงถนนทางแยกและทางกลับรถ โดยคาดว่าจะทยอยเบิกจ่ายเงินได้ในปี 2558 จำนวน 32,954 ล้านบาท ปี 2559 จำนวน 39,756 ล้านบาท และในปี 2560 อีกจำนวน 5,583 ล้านบาท
ทั้งนี้ ครม.อนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงินตราต่างประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในกรอบวงเงินไม่เกิน 80,000 ล้านบาท และถ้าภาวะตลาดการเงินในประเทศเอื้ออำนวยและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบการเงิน การคลัง และตลาดทุน กระทรวงการคลังสามารถกู้เป็นเงินบาทแทนการกู้เงินตราต่างประเทศได้
ญี่ปุ่น จ่อลงพื้นที่สำรวจทางรถไฟ ประเดิมเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่
แนวหน้า : พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม เปิดเผยความคืบหน้าโครงการพัฒนาความร่วมมือระบบรถไฟไทยร่วมกับประเทศญี่ปุ่นว่า ทางรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นและรัฐบาลไทยจะร่วมมือในการพัฒนารถไฟใน 3 เส้นทาง คือเส้นทาง กรุงเทพ-เชียงใหม่ เส้นทางที่ 2 เป็นเส้นทางเชื่อมโยงระบียงเศรษฐกิจตอนใต้ ฝั่งกาญจนบุรี-กรุงเทพ-อรัญประเทศ-แหลมฉบัง และสุดท้าย เส้นทาง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก - มุกดาหาร ทั้งนี้ จากการหารือทางญี่ปุ่นได้แจ้งความประสงค์ที่จะดำเนินการในเส้นทาง กรุงเทพ-เชียงใหม่ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมได้ทำการศึกษาไว้แล้ว และทางญี่ปุ่นได้ขอดูแผนการศึกษาเพื่อที่จะให้เกิดโครงการนี้อย่างเป็นรูปธรรม โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป และหลังจากครึ่งปีหลังประมาณเดือน มิ.ย.ทางญี่ปุ่นจะส่งทีมลงสำรวจพื้นที่และทบทวนแผนที่ทางกระทรวงคมนาคมได้ทำการศึกษาไว้แล้ว เพื่อนำไปสู่การออกแบบ ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 6 เดือนจะได้ข้อสรุป
ในส่วนของเส้นที่ 2 กาญจนบุรี-กรุงเทพ-อรัญประเทศ-แหลมฉบัง จะเป็นการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจฝั่งตะวันออกไปฝั่งตะวันตกของไทย โดยขนส่งสินค้าจากท่าเรือแหลงฉบังไปท่าเรือทวายของเมียนมาร์ โดยจะเป็นการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายด้วยเช่นกันซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นตรงกัน ส่วนการสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางแม่สอด-มุกดาหาร ญี่ปุ่นจะช่วยศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างตลอดเส้นทาง เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาโครงการไว้ ซึ่งในสัปดาห์หน้าทางกระทรวงคมนาคมจะมีการเสนอเรื่องการลงนามการลงนามบันทึกความร่วมมือ(MOC) การพัฒนาเส้นทางรถไฟกรุงเทพ-เชียงใหม่ กาญจนบุรี-กรุงเทพ-อรัญประเทศ-แหลมฉบังร่วมกับญี่ปุ่น เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก่อนที่จะเดินทางไปลงนามบันทึกความเข้าใจ ภายในวันที่ 26-27 พ.ค.นี้ ที่ประเทศญี่ปุ่น
รมว.คมนาคม เตรียมเสนอครม.สัปดาห์หน้าเห็นชอบร่าง MOC ไทย-ญี่ปุ่นโครงการพัฒนารถไฟ
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Cooperation หรือ MOC) ระหว่างรัฐบาลไทย-รัฐบาลญี่ปุ่นในการพัฒนาระบบรถไฟไทย และคาดว่าจะมีการลงนามกันในวันที่ 26-27 พ.ค.นี้ ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
สำหรับ เส้นทางที่ญี่ปุ่นจะเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนา คือ เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เป็นระบบรถไฟความเร็วสูง และเส้นทางกาญจนบุรี-แหลมฉบัง เป็นการปรับปรุงทางเดิม เพื่อเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ไปถึงท่าเรือน้ำลึกทวาย
ส่วนเส้นทาง อ.แม่สอด จ.ตาก-จ.มุกดาหาร ญี่ปุ่นจะช่วยศึกษาในระยะต่อไป
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ที่ปรึกษาพิเศษนายกฯญี่ปุ่นได้มาพบพูดคุยกันมีความชัดเจนมากขึ้น และภายใน 1-2 วันนี้ จะมีการหารือเพื่อปรับปรุงร่าง MOU และเป็นไปได้ที่จะยกเป็น MOC เนื่องจากญี่ปุ่นเห็นว่า ความร่วมมือของไทย-ญี่ปุ่นได้ก้าวข้าม MOU มาแล้ว สามารถนำไปปฏิบัติได้เลย และจะทำให้ระบบการบริหารคณะกรรมการของ 2 ฝ่ายสามารถต่อเชื่อมกันได้อย่างราบรื่น โดยจะสรุปเสนอรองนายกฯในวันที่ 14 พ.ค.นี้ เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.ได้ในสัปดาห์หน้า ส่วนเส้นทางที่ทับซ้อนในพื้นที่ภาคตะวันออกนั้น กระทรวงคมนาคมและสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะประชุมหารือกับจีนและญี่ปุ่น เพื่อเลือกแนวทางที่ดีที่สุด
"ขณะนี้ อยู่ระหว่างหารือร่วมกันอีกครั้งว่าจะเป็นการยกร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) หรือจะเป็น บันทึกความร่วมมือ (MOC: Memorandum of Cooperation) เนื่องจากไทย-ญี่ปุ่นมีความร่วมมือในการศึกษาเส้นทางรถไฟมานานแล้ว สามารถลงนามในขั้นตอนปฏิบัติได้เลย โดยญี่ปุ่นพร้อมที่จะส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจเส้นทาง ศึกษาออกแบบในกลางเดือนมิ.ย.นี้ โดยจะเริ่มที่เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่จะกำหนดแผนงานภายใน 6 เดือน และ เนื่องจากมีการศึกษาเดิมเมื่อปี 2555 ทางญี่ปุ่นเข้ามาทบทวนปรับปรุงการศึกษา ซึ่งจะใช้เวลาไม่มากนัก โดยจะเริ่มก่อสร้างให้ได้ในต้นปี 2559"รมว.คมนาคม กล่าว
โดยความร่วมมือจะเป็น 2 กลุ่มโดยกลุ่มแรกเป็นความร่วมมือเร่งด่วนคือการพัฒนาเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ เป็นรถไฟความเร็วสูง และเส้นทางเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-อรัญประเทศและท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนอีกกลุ่มจะเป็นการทำคู่ขนาน เช่น ศึกษาเส้นทาง อ.แม่สอด จ.ตาก-จ.มุกดาหาร, การศึกษาความเหมาะสมของเส้นทางในพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีการทับซ้อนกันหลายโครงการและการพัฒนาด้านบุคลากร
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม กล่าวว่า ญี่ปุ่นได้ยืนยันความประสงค์ในการพัฒนาระบบรถไฟไทยโดยให้ความสำคัญ 1. เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 715 กม. โดยจะเริ่มสำรวจออกแบบช่วงครึ่งหลังปี 58 และก่อสร้างในปี 59 โดยเน้นในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย 2. กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง และกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ ระยะทาง 574 กม.ซึ่งเป็นเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ไปถึงท่าเรือน้ำลึกทวาย 3. เส้นทางอ.แม่สอด-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-ขอนแก่น-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร ระยะทาง 718 กม.หรือ East-West Corridor แต่เนื่องจากไม่มีการศึกษาเดิมทางญี่ปุ่นจะเข้ามาช่วยศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาซึ่งจะเป็นการพัฒนาในระยะยาว
นอกจากนี้ จะมีความร่วมมือในการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ซึ่งญี่ปุ่นสนใจเข้ามาช่วยศึกษาเส้นทางรถไฟในพื้นที่ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ที่มีรถไฟหลายระบบในแนวเดียวกันเช่น ความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ช่วงแก่งคอย-มาบตาพุด ,รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งก์ ส่วนต่อขยาย,รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง และเส้นทางที่ญี่ปุ่นจะศึกษากรุงเทพฯ-แหลมฉบัง ทั้งนี้เพื่อออกแบบในการใช้เส้นทางร่วมกัน เนื่องจากเขตทางมีจำกัด
นายอาคม กล่าวว่า หลังลงนามใน MOC ญี่ปุ่นจะนำผลศึกษาเส้นทางกรุงเทพฯ– เชียงใหม่ เดิมที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 55 มาทบทวนและสำรวจออกแบบ รวมถึงหากต้องมีการปรับแบบจะให้เสร็จภายในสิ้นปี 58 ส่วนรูปแบบการลงทุนและการเงิน นั้นจะทำการออกแบบคู่ขานไปกับการสำรวจด้านโครงสร้าง ซึ่งหลักการจะให้ญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การก่อสร้างและเดินรถตั้งแต่ต้น ซึ่งจะเป็นรูปแบบการร่วมทุนระหว่างไทย-ญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นจะมีสถาบันด้านการเงินที่พร้อมให้เงินกู้ในแบบเข้ามาร่วมทุนด้วย ทั้งไจก้า เจบิค
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ขอให้ทางญี่ปุ่นเร่งรัดบริษัทผู้ผลิตรถไฟฟ้า สายสีม่วง เพื่อเร่งส่งมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2559 ซึ่งได้รับรายงานว่าทางญี่ปุ่นจะส่งมอบรถไฟฟ้า 3 ขบวนแรก (9 ตู้) ในเดือนต.ค. 58 เพื่อทดสอบและจะนำมาทดลองวิ่งได้ในเดือนธ.ค. 58