- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Monday, 11 May 2015 00:30
- Hits: 2666
เล็งแก้ไขพ.ร.บ.เวนคืนฯ มุ่งสร้างความเป็นธรรมประชาชน
แนวหน้า : พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ว่า จะต้องมีการปรับแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบันใหม่ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านการทำงาน และส่งผลกระทบต่อภาคประชาชน จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงในหลายมาตรา เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน และให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชน
โดยภาครัฐจะพยายามเวนคืนที่ดินให้น้อยที่สุด เนื่องจากการเวนคืนแต่ละครั้งย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน และในพ.ร.บ.ที่แก้ไข มีกฎข้อบังคับไว้ว่า จะสามารถเวนคืนที่ดินได้ก็ต่อเมื่อมีโครงการ แบบก่อสร้างและงบการลงทุนที่ชัดเจน และได้เพิ่มเติมกรณีที่หากต้องการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาสังคม แก้ปัญหาโบราณสถาน และการจัดสวัสดิการให้ประชาชน ทำให้ภาครัฐสามารถเวนคืนที่ดินได้
ทั้งนี้ รายละเอียดใน พ.ร.บ.ดังกล่าวที่จะต้องมีการปรับปรุง เช่น การเวนคืนที่ดินจะมีการจ่ายเงินชดเชยราคาที่ดินตามราคาตลาด, การให้ประชาชนทำการอุทธรณ์จากเดิม 60 วัน เพิ่มเป็น 90 วัน, โครงการใดที่มีการร้องเรียนสูง รัฐมนตรีจะมีเวลาในการพิจารณาและไตร่ตรองเพิ่มเติม จากเดิม 60 วัน เพิ่มเป็น 180 วัน และการรับซื้อที่ดินที่ไม่ถึง 25 ตารางวา และไม่คุ้มค่าต่อการที่จะเก็บไว้ ก็สามารถขอให้ภาครัฐรับเวนคืนได้ รวมถึงต้องชดเชยราคาค่าอาคารและสิ่งปลูกสร้างด้วย
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสามารถสรุปเนื้อหาที่ต้องดำเนินการแก้ไขพ.ร.บ. และเสนอให้ รมว.คมนาคมพิจารณาได้ไม่เกิน 1 สัปดาห์ นับจากวันที่ 6 พฤษภาคม 2558 และสัปดาห์ถัดไปจะส่งเรื่องให้ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เพื่อเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป และเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขพ.ร.บ.ได้ทันในรัฐบาลชุดนี้
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาและจัดระเบียบคลองแสนแสบ ว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชนในการเดินทาง และหันมาใช้คลองแสนแสบในการเดินทางมากขึ้น ซึ่งก็เป็นแผนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หยิบยกขึ้นมาเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย ปัญหาเรื่องเสียงและการเดินเรือที่ยังไม่เป็นระเบียบในพื้นที่คลองแสนแสบที่มีระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร
ทั้งนี้ คสช.ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพในการแก้ไขร่วมกับกรุงเทพมหานคร ส่วนกระทรวงคมนาคมก็จะมีเจ้าหน้าที่จากกรมเจ้าท่า เข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการในการแก้ไขปัญหาด้วย ซึ่งจะมีการจัดการระบบเดินเรือ เช่น การเปลี่ยนเรือหางยาวให้เป็นเรือที่มีการขับเคลื่อนแบบเดียวกับเรือยอชท์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ให้มากขึ้น และจะทำให้เสียงที่ดังในระหว่างขับเรือลดลง แต่คณะกรรมการยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการเปลี่ยนระบบเรืออย่างชัดเจน มีเพียงการแนะนำว่าต้องดำเนินการเปลี่ยนเท่านั้น
ในส่วนของการพัฒนาท่าเรือที่เป็นการดูแลของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้จัดเส้นทางเรือให้เชื่อมโยงกับระบบขนส่งสาธารณะประเภทอื่น เช่น รถไฟ รถโดยสาร รวมถึงการพัฒนาท่าเรือแต่ละแห่งให้มีสภาพที่ดีขึ้นและพร้อมใช้งาน ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการได้สั่งการให้ไล่ระบบน้ำเสียออกจากในพื้นที่เป็นระยะๆ