- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Thursday, 16 April 2015 23:26
- Hits: 1891
ประจินยุใช้ม.44 ผ่าทางตันโครงการล่าช้า
แนวหน้า : พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม แสดงความเห็นสนับสนุนใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อสางปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการดำเนินงานในหลายๆเรื่อง เช่นเดียวกับของ กระทรวงคมนาคมที่ยังไม่สามารถต้องสนองเป้าหมายในการดำเนินงาน จึงจำเป็นต้องใช้กฎหมายมาตรา 44 (ม.44)เข้ามาช่วยลดขั้นตอนในการทำงานของโครงการต่างๆให้มีความคล่องตัวมากขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ ในส่วน กระทรวงคมนาคม ที่ผ่านมามีการนำกฎหมายมาตรา 44 มาใช้ นอกจากจะมีการใช้ในส่วนของการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการตรวจสอบกรมการบินพลเรือนของ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) ในการตั้งคณะกรรมทำงานขึ้นมา 2 แล้ว ในอนาคตจะมีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นภายใต้สังกัดของกระทรวงเช่น กรมราง มีโอกาสจะนำมา ม.44 มาใช้ในการจัดตั้งหน่วยงานเช่นกัน แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับเหตุผลและหลักการในการใช้ ซึ่งจำเป็นจะที่จะต้องมีการพิจารณาก่อน ส่วน กรมการขนส่งทางอากาศ ที่จะตั้งขึ้นเพื่อรองรับในส่วนของกฎหมายทางอากาศในอนาคต ก็มีโอกาสที่จะมีการนำกฎหมายมาตรา 44 มาใช้ในการดำเนินการเช่นกัน
ส่วนกรณีที่การดำเนินในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆของกระทรวงฯที่ล่าช้า ไม่สามารถทำตามคาดหวังของประชาชนนั้น รมว.คมนาคม กล่าวว่า อยากให้ทำความเข้าใจ และให้เวลาในการทำงาน และยืนยันว่าจะต้องดำเนินการโครงการให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่วางไว้แน่นอน
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการต่างๆก็พยายามเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งมีหลายโครงการต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ หากล่าช้าอาจเกิดผลกระทบต่อตัวโครงการ โดยที่ผ่านมาในบางโครงการได้มีการวางแผนระยะเวลาในการดำเนินการ กรอบลงทุนฯลฯไว้แล้ว แต่ต่อมาจำเป็นต้องไปเริ่มต้นทบทวนจัดทำแผนงานใหม่เพื่อความเหมาะสม ซึ่งประเด็นนี้ก็จะทำให้งานล่าช้าออกไป
'คมนาคม' ลั่นปลดล็อก SCC มิ.ย.เดินหน้ายกเครื่องกรมการบินพลเรือน
บ้านเมือง : กระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกรมการบินพลเรือนที่เป็นหน่วยงานที่ออกใบอนุญาตน่านฟ้าไทย โดยมีบทบาทสำคัญต่อการทำการบินของประเทศ แต่เนื่องจากที่ผ่านมาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) ได้ตรวจมาตรฐานความปลอดภัยของไทยแล้ว พบมีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย หรือ SSC วันนี้ "บ้านเมือง" ขอนำเสนอความคืบหน้า
จากกรณีที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้ตรวจมาตรฐานความปลอดภัยของไทยแล้ว พบมีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย หรือ SSC ซึ่งส่งผลกระทบสำคัญเกี่ยวกับการบินของประเทศนั้น ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาระบุถึงกรณีองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ตรวจมาตรฐานความปลอดภัยของกรมการบินพลเรือน เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่นระงับการอนุญาตเพิ่มเที่ยวบิน เส้นทางบิน รวมถึงการปรับเปลี่ยนรุ่นของเครื่องบินของเครื่องบินเช่าเหมลำของประเทศไทย ที่เกิดปัญหามาเป็นระยะเวลานาน อย่างไรก็ตาม จากปริมาณเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินแต่ละปีในอดีตไทยมีเที่ยวบิน 300,000 เที่ยวบินต่อปี แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 600,000 เที่ยวบินต่อปี ส่วนเรื่องการตรวจมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน มีเจ้าหน้าที่ทำงานน้อยมาก มีเพียง 13 คน ขณะที่อดีตที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองปล่อยปละละเลย ทำให้กลายเป็นปัญหาสะสม ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ ยืนยันว่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง
ใช้มาตรา 44 แก้ปัญหา
โดยต่อมานายกรัฐมนตรีได้ประกาศแนวทางการแก้ไขปัญหาว่าจะต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถสั่งการตามกฎหมายได้ทุกเรื่อง โดยจะมีการสั่งให้ตั้งคณะกรรมการพิเศษ 1 ชุด เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย แก้ไขข้อบกพร่องของกรมการบินพลเรือนให้เป็นไปตามที่ไอซีเอโอกำหนด อย่างไรก็ตาม หากเรื่องดังกล่าวยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้เป็นที่พอใจของ ICAO และจะมีมาตรการออกมาเพิ่มก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องความปลอดภัย หากการผ่อนผันทำให้เกิดอุบัติเหตุใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ สำหรับผลกระทบต่อผู้ประกอบการทัวร์ท่องเที่ยวที่มีการรับจองแล้วนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณามาตรการเยียวยาต่อไป ทั้งนี้ ยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวหากไม่แก้ไขให้เป็นที่พอใจของ ICAO ก็จะส่งผลกระทบทำให้นักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นมีปริมาณลดลงในปีนี้ สำหรับคณะกรรมการพิเศษนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะเป็นประธาน ส่วนกรมการบินพลเรือนเป็นหน่วยงานที่มีปัญหาโครงสร้างและบุคลากรไม่เพียงพอนั้น ได้มีการสอบถามไปยังกรมการบินพลเรือนว่าทำไมถึงปล่อยปัญหาดังกล่าว ซึ่งกรมการบินพลเรือนระบุว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาเสนอให้รัฐบาลในอดีตหลายรัฐบาลเพิ่มอัตรากำลังและเจ้าหน้าที่ด้านนี้ แต่ก็ไม่ได้รับการสนับสนุน ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นปัญหาสะสมมานานไม่ได้รับความสนใจ
เร่งยกเครื่อง บพ.
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีที่เกิดปัญหาดังกล่าวว่า ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้สั่งการเพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการสนับสนุนการใช้กฎหมายเพื่อที่จะพิจารณาปรับรูปแบบขององค์กรในแง่เพื่อให้ได้มากซึ่งบุคลากร งบประมาณ การแก้ไขบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน รวมถึงการแก้ไขกฎหมายด้วย หากใช้กระบวนการปกตินั้น เกรงว่าจะใช้ระยะเวลานานไม่น้อยกว่า 1 ปี ซึ่งจะเกิดผลกระทบทั้งการบิน การท่องเที่ยว รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศด้วย ทั้งนี้ มีทั้ง 8 ข้อที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ได้มาตรวจและพบว่ายังไม่ทันสมัยต้องเร่งแก้ไขประกอบด้วย คือ 1.พ.ร.บ.การเดินอากาศของไทยนั้นยังเป็นฉบับ 2497 ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงบ้างบางรายการ ซึ่งอยู่ระหว่างการแก้ไข คือการผลักดันให้กฤษฎีกาช่วยเร่งกระบวนการแก้ไขกฎหมายซึ่งเกรงว่าจะนานจึงได้ขอยกเลิก และมาตั้งอธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) เป็นหัวหน้าคณะทำงานแทนโดยการร่างกฎหมาย ซึ่งก็ใช้แนวทางของกฤษฎีกา เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล 2.กฎระเบียบข้อบังคับที่ยังไม่ครบถ้วน ซึ่งกฎระเบียบตรงนี้ก็พร้อมที่จะแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อย 3.องค์ประกอบการบินต่างประเทศ 4.คุณสมบัติด้านการฝึก บุคลากรด้านเทคนิค จำนวนบุคลากรที่ยังไม่เพียงพอ รวมถึงจำนวนบุคลากรยังมีไม่ผ่านเกณฑ์ของไอซีเอโอ 5.ข้อกำหนดด้านเทคนิคข้อมูลรวมถึงด้านเอกสารที่ต้องทันสมัย โดยจะต้องเร่งดำเนินการข้อมูลที่ยังไม่ได้อัพเดทเป็นอันดับแรก ซึ่งก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 80 ล้านบาท เพื่อนำฐานข้อมูลดาต้า 6.การขออนุญาตขอจดทะเบียน หรือการออกหนังสือรับรองเนื่องจากกำลังพลมีน้อย จึงต้องขอเพิ่มส่วนนี้ 7.การติดตามกำกับดูแลกระบวนการตรวจสอบมาตรฐาน และ 8.องค์ประกอบด้านความปลอดภัย นอกจากนี้ ได้ประสานไปยังกองทัพอากาศเพื่อเปิดหลักสูตรนิรภัยทางการบิน และหลักสูตรนิรภัยภาคพื้น ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งรายละเอียดไปยังไอซีเอโอแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจก็ขอให้เรามีการปรับปรุงเพิ่มเติม
รมช.จ่อพบ ปธ. ICAO พร้อมกันนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการ โดยจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคม เป็นรองประธาน และปลัดกระทรวงคมนาคม รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นกรรมการ ซึ่งจะดูภาพรวมทั้งหมด พร้อมรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบทุกสัปดาห์ รายงานให้ไอซีเอโอทราบทุก 2 สัปดาห์ รวมถึงจะส่งความคืบหน้าไปยังสถานทูตทั่วโลกที่สายการบินไทยทำการบินอยู่ เพื่อทำความเข้าใจ นอกจากนี้ จะส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย ตัวแทนจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตัวแทนจากสายการบิน กรมการบินพลเรือน เพื่อทำความเข้าใจกับกรมการบินในแต่ละประเทศ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8-9 เม.ย.ที่ผ่านมา บพ.จะเป็นหัวหน้าคณะของไทยจะเดินทางไปจีนเพื่อพูดคุยกับทาง บพ.ของจีน ในรูปแบบเดียวกับญี่ปุ่นและเกาหลี แม้ว่าทางจีนจะยังไม่มีมาตรการออกมาจากกรณีที่ ICAO ตรวจสอบ บพ. เนื่องจากเที่ยวบินและผู้โดยสารระหว่างไทย-จีนมีจำนวนมาก จากนั้นวันที่ 20-22 เม.ย.นี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จะเป็นหัวหน้าคณะพร้อมด้วยรองปลัดกระทรวงคมนาคมและผู้เกี่ยวข้อง เดินทางไปพบกับประธาน ICAO ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจถึงมาตรการที่ บพ.ได้เรงปรับปรุงแก้ไขในแต่ละเรื่องภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลไทย เพื่อให้ทาง ICAO เชื่อมั่น และหวังว่าจะได้รับข่าวดี
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหา กรณีองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) และเจแคปออกมาตรการควบคุมการบินของเที่ยวบินจากไทยไปญี่ปุ่นที่เกิดปัญหานั้น โดยเบื้องต้นการแก้ปัญหาเพื่อรองรับเที่ยวบินช่วงฤดูร้อน กรมการบินพลเรือนของไทยและญี่ปุ่นได้ลงนามร่วมกันแล้วเพื่อผ่อนคลายมาตรการให้เที่ยวบินจากไทยเฉพาะเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลท์) เดินทางไปลงญี่ปุ่นได้ โดยทั้ง 2 ฝ่ายมีการลงนามเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา
สำหรับ การผ่อนคลายมาตรการให้เที่ยวบินไทยไปญี่ปุ่นได้นั้น ภายหลังลงนามก็จะมีการเตรียมมาตรการดำเนินการทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่น จะส่งผลให้ชาร์เตอร์ไฟลท์จากไทยสามารถเดินทางไปญี่ปุ่นในช่วงผ่อนคลายมาตรการได้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน-31 พฤษภาคมนี้ โดยมาตรการดำเนินการระยะ 2 เดือนนี้ เป็นข้อตกลงร่วมกัน โดยฝ่ายไทยจะให้สายการบินแต่ละแห่งตรวจสอบมาตรฐานทุกเที่ยวบินที่จะเดินทางไปญี่ปุ่น โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อบกพร่องที่มีนัยต่อความปลอดภัยของทุกเที่ยวบิน รวมทั้งการขนส่งวัตถุอันตราย เมื่อทุกสายการบินตรวจสอบแล้วต้องมีการเซ็นรับรองจากกรมการบินพลเรือนของไทย และจะมีการแจ้งปลายทางให้ญี่ปุ่นทราบ และเมื่อ ชาร์เตอร์ไฟลท์ลำดังกล่าวเดินทางถึงญี่ปุ่นก็ต้องได้รับการตรวจสอบตามมาตรฐานความปลอดภัยของเจแคปโดยละเอียดอีกครั้ง ทั้งหมดจะเป็นการดำเนินการตามมาตรการระยะสั้น ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวนั้น กระทรวงคมนาคมยืนยันว่าการทำงานจะเป็นไปตามกรอบเวลาที่ตั้งไว้ ทั้งมาตรการแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย แก้ข้อบกพร่องที่เป็นนัยต่อความปลอดภัย การขนส่งวัตถุอันตราย จนถึงการปรับหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตสายการบิน โดยจะดำเนินการให้เสร็จภายใน 2-8 เดือน
"ส่วนการแก้ไขเพื่อเร่งปลด SSC ของ ICAO นั้น จะต้องเร่งทำแผนการแก้ไขข้อบกพร่อง (Corrective Action Plan) ฉบับใหม่ส่งให้ ICAO โดยปรับปรุงจากแผนเดิมที่จะทำเป็นหัวข้อรวมระยะเวลาแก้ไขประมาณ 2 ปี โดยฉบับที่ 2 จะระบุรายละเอียดการปรับปรุงในแต่ละเดือนอย่างชัดเจน คือ เดือน เม.ย.ปรับปรุงเรื่องอะไรบ้าง ส่วนเดือน พ.ค.จะเป็นการปรับใหญ่ โดยใช้อำนาจพิเศษใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 44 มาช่วยเร่งรัดกระบวนการ ทั้งการจัดตั้งองค์กร การแก้ไขบทบาทหน้าที่ การบรรจุกำลังคน การใช้งบ ประมาณจ้างบุคลากร การติดตั้งระบบ การฝึกอบรม การแก้ไขกฎหมาย เพื่อปลดล็อก SSC โดยเร็ว โดยจะนำมาตรฐานสากลมาเปรียบเทียบ เช่น มาตรฐานของสิงคโปร์ หรือ JCAB ของญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่จะขอยกเว้นการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง ข้อกฎหมายและการใช้งบประมาณ"
ยันจบปัญหา SSC มิ.ย.นี้
ทั้งนี้ ล่าสุด นายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุหลังการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการตรวจจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เข้ามาตรวจสอบกรมการบินพลเรือน (บพ.) ของไทย ว่าได้มีการปรับโครงสร้างองค์กร ปรับปรุงระบบฐานข้อมูล แผนการอบรมเจ้าหน้ากรมการบินพลเรือน (บพ.) เพื่อมุ่งปลดข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญ (SSC) โดยมีการหารือเพื่อแก้ไขปัญหา 2 แนวทาง ประกอบด้วย 1.กระบวนการออกใบอนุญาตรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ และการออกข้อกำหนดการปฏิบัติการที่ยังไม่ได้มาตรฐาน 2. การออกใบอนุญาตขนส่งสินค้าอันตราย ทั้งนี้ จะต้องมีการแก้ไขกฎเกณฑ์ ระเบียบที่ไม่สอดคล้องซึ่งจะต้องเร่งรัดแก้ไขกฎเกณฑ์ดังกล่าวตาม ICAO กำหนด โดยใช้มาตรฐานของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป (เอียซา) เป็นตัวกำหนด คาดว่าจะสามารถลดระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2558 ซึ่งขณะนี้ด้านบุคลากรนั้นได้ครบถ้วนแล้ว 40 คน ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้จะมีการฝึกอบรม ซึ่งจะเป็นเจ้าหน้าที่จากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรปมาฝึกอบรมให้เร่งแก้ไข ทั้งนี้ เพื่อความเป็นมาตรฐานสากล หากฝึกอบรมตามขั้นตอนเรียบร้อย เจ้าหน้าก็สามารถออกตรวจสายการบินได้
นอกจากนี้ สำหรับความคืบหน้าการออกใบอนุญาตขนส่งสินค้าอันตรายนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำคู่มือโดยมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาช่วยตรวจสอบ โดยจะมีกระบวนการฝึกอบรม 1 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างองค์กรนั้น มีแผนจะตั้งหน่วยงานตรวจสอบสินค้าอันตราย โดยแยกย่อยอยู่ในกรมการบินพลเรือน ซึ่งจะต้องผ่านการเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคม อย่างไรก็ตาม การปลด SSC นั้น จะต้องแล้วเรียบร้อยภายในเดือนมิถุนายน 2558 ส่วนการออก พ.ร.บ.เดินอากาศนั้น โดยจะใช้อำนาจพิเศษใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 44 ซึ่งในเดือนเมษายนนี้ จะต้องส่งร่าง พ.ร.บ.ต่อ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนโดยจะใช้รูปแบบ พ.ร.บ.เดินอากาศของประเทศญี่ปุ่นมาเป็นต้นแบบ และจะนำรูปแบบของประเทศเกาหลีมาศึกษาเพื่อจัดทำด้วย จากนั้นจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องก่อนจะสรุปเพื่อเสนอต่อรัฐบาลภายในเดือนพฤษภาคมนี้
ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังได้ระบุภายหลังที่ นายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) พร้อมคณะ เดินทางไปยังประเทศจีนเพื่อชี้แจงกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 8-9 เมษายนที่ผ่านมา พบว่าการพูดคุยทำความเข้าใจเป็นไปด้วยดี โดยจีนเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับไทย และยืนยันว่าจะไม่มีการปิดกั้นเที่ยวบินสัญชาติไทยในการบินเข้าสู่จีน ทั้งนี้ จีนยังย้ำด้วยว่า เหตุที่ไม่อนุมัติเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลท์) สัญชาติไทยเข้าจีนก่อนหน้านี้ เป็นเพราะนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าสู่จีนจำนวนมาก จนต้องจำกัดโควตา เพื่อไม่ให้เกิดความแออัด มิใช่เกิดจากปัญหา SSC ซึ่งหลังจากนี้คณะผู้แทนไทยจะเดินทางไปชี้แจงยังประเทศสิงคโปร์ ICAO และเยอรมนี โดยจะเริ่มตั้งแต่ช่วงหลังสงกรานต์ และต้องแบ่งการเดินสายชี้แจงเป็น 2 คณะ เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า อย่างไรก็ตาม ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีก 1 ชุด เป็นคณะอนุกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหา SSC โดยมีนายพงษ์ไชย เกษมทวีศักดิ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน และมีผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมาร่วมเป็นอนุกรรมการ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้แทนจากสายการบินที่เสนอตัวเข้าร่วมแก้ปัญหาในครั้งนี้คือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)