- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Thursday, 16 April 2015 18:06
- Hits: 1628
นายกฯสั่ง บพ.แจงข้อปฏิบัติทุกสายการบิน หวังปิดช่องโหว่บินไทย-ญี่ปุ่นช่วงผ่อนผัน
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กรมการบินพลเรือน (บพ.) จัดประชุมด่วนร่วมกับผู้ประกอบการสายการบินพาณิชย์ของไทยทุกสายการบิน ที่มีตารางเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่น เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นอีก เหมือนกรณี 2 สายการบินที่มีปัญหาเชิงเทคนิคของตนเอง จนไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นได้
"แม้จะมีเพียง 2 เที่ยวบินที่มีปัญหา ขณะที่อีกหลายสิบเที่ยวบินสามารถทำการบินได้เป็นปกติ แต่ท่านนายกได้กำชับว่าไม่ควรเกิดขึ้นอีก เพราะกระทบความรู้สึกและแผนการเดินทางของประชาชนจำนวนไม่น้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่หากมีการวางแผนอย่างรัดกุมและเข้าใจกฎระเบียบอย่างชัดเจนก็น่าจะหลีกเลี่ยงปัญหาทำนองนี้ได้"รองโฆษกรัฐบาล กล่าว
ทั้งนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคมได้เรียกประชุมผู้ประกอบการในวันจันทร์ที่ 13 เม.ย.นี้ เพื่อแจกแจงข้อบังคับ ระเบียบปฏิบัติ และเน้นย้ำจุดที่เคยเป็นปัญหาให้มากเป็นพิเศษ เพื่อให้การเดินทางมีความราบรื่นทุกเที่ยวบิน
ขณะนี้ กรมการบินพลเรือนของญี่ปุ่น ได้อนุญาตให้สายการบินเอเชี่ยนแอร์ที่เคยมีปัญหากลับมาทำการบินได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป"
อินโฟเควสท์
รมช.คมนาคมเลื่อนเดินทางพบประธาน ICAO เป็น 11 มิ.ย.จาก 20 เม.ย.รอส่งแผน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม กล่าวถึงการเดินหน้าแก้ปัญหามาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน กรณีองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ตรวจสอบมาตรฐานกรมการบินพลเรือนของไทยว่าได้เลื่อนกำหนดการเดินทางไปพบประธาน ICAO ที่กรุงมอนทรีออล ประเทศแคนาดา จากวันที่ 20 เมษายน ไปเป็นวันที่ 11 มิถุนายน แทน โดยการเลื่อนกำหนดการดังกล่าว จะไม่กระทบแนวทางในการแก้ปัญหา ตามกำหนดเวลาที่ ICAO จะมีการประกาศคะแนนผลการตรวจสอบมาตรฐานในต้นเดือนมิถุนายน
ทั้งนี้ รมช.คมนาคม เชื่อว่า การไปพบประธาน ICAO ในเดือนมิถุนายน จะเกิดประโยชน์สูงสุด เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว การดำเนินการตามมาตรการต่างๆของไทยส่วนใหญ่จะเห็นผลแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้ จะทำให้การชี้แจงผลของแต่ละมาตรการที่ไทยทำไปมีความชัดเจน ตามประเด็นสำคัญต่างๆ ที่ ICAO ต้องการให้กรมการบินพลเรือนของไทยดำเนินการแก้ไข
ส่วนการประกาศคะแนนของ ICAO ในต้นเดือนมิถุนายน เชื่อว่าแผนที่ไทยจัดส่งให้ ICAO ไปแล้ว รวมทั้ง มาตรการระยะสั้น ที่กรมการบินพลเรือน ดำเนินการ ในส่วนของการแก้ปัญหาใน 3 ประเทศ ที่มีการจำกัดเที่ยวบินจากไทย ทั้ง ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน จะมีความชัดเจน สร้างความพอใจให้แก่ทั้ง 3 ประเทศ และ ICAO ในที่สุด เช่น มาตรการกรณีสายการบินเอเชี่ยนแอร์ที่เดินทางไปญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อสายการบินตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย ของชาเตอร์ไฟลท์ ลำดังกล่าว และ กรมการบินพลเรือน พบว่ายังมีข้อสังเกตให้ดำเนินการแก้ไข เมื่อสายการบิน รับไปดำเนินการ และแก้ไขแล้วเสร็จ แต่เอกสารมาถึงกระทรวงคมนาคมเกินเวลา เมื่อส่งไปกรมการบินพลเรือนของญี่ปุ่น (JCAB) ไม่ทันในเวลาทำการ ทำให้เที่ยวบินดังกล่าวต้องเลื่อน และเที่ยวบินนี้ เมื่อเดินทางไปถึงญี่ปุ่นไม่ได้มีการตรวจซ้ำที่ปลายทาง เนื่องจาก JCAB มีความมั่นใจมาตรการที่กรมการบินพลเรือนดำเนินการไปแล้ว
ประจิน เผยเจรจา JCAB ฉลุย บินเข้าญี่ปุ่นถึงเม.ย.-พ.ค.ไร้ปัญหา เว้น 2 เที่ยวบิน
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากผลการเจรจาและลงนามใน MOU ระหว่างกรมการบินพลเรือนของไทย และJapan Civil Aviation Bureau (JCAB) ของญี่ปุ่น ทำให้การบินรับส่งผู้โดยสารระหว่างสองประเทศเป็นไปด้วยความราบรื่น ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะครอบคลุมตลอดเดือนเมษายนจนถึงพฤษภาคม
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามผลการปฏิบัติการบินระหว่างประเทศทั้งสอง ตั้งแต่ช่วงที่ MOU มีผลบังคับใช้ พบว่า มีเหตุขัดข้องทำให้มีการยกเลิกเที่ยวบินไปญี่ปุ่น 2 เที่ยวบิน คือ เที่ยวบินของเอเชี่ยนแอร์ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2558 เวลา 01.30 น และของนกสกูต เมื่อคืนวันที่ 11 เมษายน 2558 เวลา 23.15 น ซึ่งเกิดจากปัญหาทางเทคนิคของสายการบินเอง
โดยปัญหาของสายการบินเอเชี่ยนแอร์ เกิดจากการตรวจทบทวนใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ ของกรมการบินพลเรือนพบว่ามีปัญหาในระบบการปฏิบัติการบิน ระบบควบคุมเวลาบินและเวลาพักผ่อนของนักบิน และการบำรุงรักษา ซึ่งกรมการบินพลเรือนได้ให้บริษัทแก้ไขข้อบกพร่องและบริษัทได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันศุกร์ เวลาประมาณ 17.00 น ซึ่งกรมการบินพลเรือนได้ส่งจดหมายอิเลคทรอนิกส์ให้ทางJCAB ทันที แต่พ้นเวลาทำการของ JCAB แล้วจึงไม่มีเจ้าหน้าที่พิจารณา ต้องรอวันเปิดทำการถัดไปในวันจันทร์ที่ 13 เมษายน
ส่วนสายการบินนกสกูต เกิดจากการที่นกสกูต ยื่นคำขอให้สกูต ของสิงคโปร์มาบินรับขนแทน ซึ่งได้รับอนุญาตแล้วแต่ทางสกูตไม่สามารถหาเครื่องบินและลูกเรือมาบินได้ทัน จึงจำเป็นต้องยกเลิกเที่ยวบิน ดังนั้น ปัญหาการยกเลิกเที่ยวบินทั้งสองไม่ได้เกิดจาก JCAB แต่อย่างได้ เป็นปัญหาเชิงเทคนิคเฉพาะกรณี ส่วนเที่ยวบินอื่นยังทำการบินตามปกติ
อินโฟเควสท์