- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Wednesday, 08 April 2015 22:56
- Hits: 2494
เผยโสมขาวปลดล็อคกฎเข้มการบิน บพ.จ่อคุยจีน-แคนาดายันพร้อมแก้ไข
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงผลจากการที่ทางกรมการบินพลเรือนเดินทางไปหารือทำความเข้าใจกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งสาธารณรัฐเกาหลีใต้ เพื่อชี้แจงถึงแผนการแก้ไขข้อบกพร่องด้านการบินที่มีนัยสำคัญต่อมาตรฐานการบิน (SSC) ซึ่งทางเกาหลีใต้ ได้มีการผ่อนปรนให้เที่ยวบินเช่าเหมาลำ(Charter Flight) ของสายการบินเจ็ทเอเชีย ให้สามารถทำการบินเข้าออกเกาหลีได้ระหว่างวันที่ 7-15 เม.ย.นี้ รวมถึงเกาหลีใต้ พร้อมที่จะแบ่งปันข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้แก่ไทย โดยเฉพาะข้อมูลด้านการกำกับดูแลความปลอดภัย และเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมทั้งยินดีจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของไทยด้วย
ทั้งนี้ เตรียมเสนอให้สายการบินนกสกู๊ต และสายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ โดยให้ถือสัญชาติต่างประเทศที่จดทะเบียนใบอนุญาตทำการบินเพื่อใช้ในการทำการบินเช่นสายการบินนกสกู๊ตใช้ของประเทศสิงค์โปร์ และสายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ใช้ของประเทศมาเลเซีย เป็นต้น ในการบินไปเกาหลีใต้ ซึ่งปัจจุบันมีสายการบินของไทยที่บินไปเกาหลีใต้มีจำนวน 70 เที่ยวบินต่อเดือน ทำให้มีผู้ใช้บริการมากที่ได้รับผลกระทบ
สำหรับ เที่ยวบินประจำของไทยที่ทำการบินไปเกาหลีใต้เช่น สายการบินไทย และไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ สามารถทำการบินได้ตามปกติ แต่หากจะเพิ่มความถี่ในเที่ยวบินประจำ ไทยจะต้องเสนอจำนวนเที่ยวบินและเส้นทางการบินที่จะเพิ่มให้เกาหลีใต้พิจารณาก่อนจึงจะสามารถเริ่มให้บริการได้ ในส่วนสายการบินอื่นได้แก่ เอเชียแอตแลนติก และนกสกู๊ต จะพิจารณาหารือถึงมาตรการผ่อนปรนอีกครั้ง แต่ยังคงเน้นความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนเป็นหลักและมีการหารือผลกระทบในการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเกาหลีในช่วงเดือน เม.ย. ที่เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งกรมการบินพลเรือนของไทยพร้อมอนุมัติเรื่องการเพิ่มเที่ยวบินพิเศษนี้ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสำนักงานการบินพลเรือนสาธารณรัฐเกาหลีด้วยเช่นกันที่จะมีผู้โดยสารเดินทางผ่านเที่ยวบินเช่าเหมาลำจำนวนกว่า 22,119 คน
ด้าน นายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จะมีการประชุมแผนปฏิบัติการแก้ไขข้อบกพร่อง (Corrective Action Plan) โดยในฉบับที่ 2 จะระบุชี้ชัด ถึงแผนการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรลงรายละเอียดเป็นรายเดือน และชี้แจงการดำเนินงานที่จะจัดทำอย่างเร่งด่วนผ่านมาตรา 44 โดยจะเพิ่มกำลังพล จัดสรรงบประมาณอย่างด่วน และจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ เอียซ่า (EASA) จะเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงโครงสร้าง บพ.ครั้งใหญ่นี้ โดยเบื้องต้นจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาวางโครงสร้าง และให้ความรู้ด้านกฎหมายซึ่งคาดว่าจะเดินทางมาภายในสัปดาห์หน้า
อย่างไรก็ตาม หากได้ตามที่คาดไว้จะมีการแจ้งผลความคืบหน้าของแผนให้ทางองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และกรมการบินพลเรือนของญี่ปุ่น (JCAB) โดยเชื่อว่า ภายในวัน 10 เม.ย.นี้จะมีความคืบหน้าประมาณ 70% และในวันที่ 8 - 9 เม.ย.นี้ จะมีการเดินทางไปจีนเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงในวันที่ 20-22 เม.ย.นี้ จะเดินทางไปสำนักงานใหญ่ของ ICAO ที่มอนทรีโอ ประเทศแคนาดา เพื่อทำความเข้าใจถึงมาตรการแก้ไขข้อบกพร่องที่ปรับปรุงใหม่ ที่อยู่ภายใต้กรอบเวลา 8 เดือน จากเดิมที่ต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี
นายกฯยืนยันใช้ ม.44 เร่งแก้ปัญหาICAO ภายใน90วัน-เรียกความเชื่อมั่นคืนมา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ถึงการแก้ไขปัญหามาตรฐานด้านการบินของประเทศไทยตามคำเตือนขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ว่า กำลังเดินหน้าอยู่ เรื่องของการพูดคุยกัน ในเรื่องขอความร่วมมือ ในเรื่องการสนับสนุนสมาคมท่องเที่ยวไทย ในปัจจุบันนั้นยังไม่ได้ถูกปรับลดนะครับ แจ้งเตือนมาก่อน ให้เวลา เราก็มีปัญหาด้านโครงสร้าง การบริหารองค์กร ความเชื่อถือจากต่างประเทศความปลอดภัยต่างๆ เราก็ยังโอเคอยู่นะ นักบินก็ยืนยัน อาจจะดีกว่าหลายๆ ประเทศด้วยซ้ำไป เพียงแต่ว่า เครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้มันไม่ทันสมัย และบุคลากร ก็ตั้งแต่ปี 2548 นะ ผ่านมา 10 ปีแล้ว ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไข ก็คงเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงาน และก็ของรัฐบาลด้วยนะ ไม่เป็นไปตามที่ ICAO กำหนด
"เราต้องเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมานะ สิ่งที่รัฐบาลนี้กำลังทำอยู่เร่งด่วน ภายใน 30 วัน นี่คือระยะที่ 1 เราก็จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพราะโครงสร้างเดิมมันมีเท่านี้ 11-12คน เท่านี้ ไม่ทันสมัย ไม่ได้รับความเชื่อถือ ก็จะใช้อำนาจนี่ตั้งขึ้นมา 30 วัน ทั้งหมดจะใช้เวลาทั้งหมด 90 วัน เขาให้เวลาเราเท่านั้น 30 วันแรก ผมเร่งมานะ เดิมต้องใช้ 3 เดือน 2 เดือน 3 เดือน เป็นต้นไปนี่ ไม่ได้ ผมให้กรมการบินพลเรือนนี่ ปัจจุบันนี่ ทำงานให้ได้ก่อน จัดคนเข้าไป เพิ่มเติมเข้าไป ใช้ ม. 44 นี่ เข้าไปทำ ไม่งั้น พรบ.เดิมมันทำไม่ได้ จะจ้างคนมาอะไรมา จ้างต่างประเทศมาช่วย สร้างความเชื่อมั่นก็ต้องทำ1 เดือนนี่ต้องทำให้ได้ สั่งงานไปแล้ว
ระยะต่อไป 90 วันนี่ต้องทำให้ได้ คือ จะต้องจัดตั้งกรมควบคุมขนส่งทางอากาศ เพราะวันนี้เที่ยวบินมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่านะเป็นแสนๆ เที่ยว นะวันนี้ เพราะงั้นคนเท่าเดิมมันไม่ได้แล้ว ต้องแบ่งแยกหน้าที่กัน ใครจะเป็นผู้กำกับดูแล ประเมินผล ใครจะเป็นหน่วยปฏิบัติ ที่จะต้องไปคอนแทคทั้งในประเทศ ต่างประเทศ สายการบินต่างๆ หมดล่ะนะ มันไม่มีไง ไม่พร้อมยังไง ต้องปรับโครงสร้าง ใช้เวลา 1 ปี –1 ปีครึ่ง แต่ถ้าเราใช้ ม.44 จะใช้เวลาน่าจะไม่เกิน 90 วัน 3 เดือน ผมสั่งไว้ตามนี้นะ ก็เห็นรัฐมนตรีคมนาคมก็โอเค ก็จะเร่งดำเนินการให้ได้นะครับ แล้วก็มีการฝึกอบรมบุคลากรแล้วก็จากคำแนะนำความร่วมมือจากองค์กรระหว่างประเทศด้วยนะครับ ที่เกี่ยวกับเรื่องด้านนี้นะ ด้านการบินพลเรือนมาช่วยด้วยนะ อย่างน้อยก็สร้างความเชื่อมั่นด้วยนะครับ
ด้านพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมจะได้เร่งแก้ไขผลกระทบจากการตรวจสอบของ ICAO ต่อกรมการบินพลเรือนให้กลับมามีสถานะที่ได้รับความเชื่อถือให้ทันตามกำหนดระยะเวลาที่จะครบกำหนด เพื่อให้การดำเนินกิจการการบินของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามมาตรฐานสากล และเกิดผลดีต่อสังคม เศรษฐกิจ ของประเทศในภาพรวมต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19-30 มกราคม 2558 ขณะผู้ตรวจสอบของ ICAO ได้ดำเนินการตรวจสอบตามโครงการตรวจสอบ การกำกับดูแลความปลอดภัยสากล และกรมการบินพลเรือน สืบเนื่องจากการดำเนินภารกิจด้านการบินของกรมการบินพลเรือน ยังมีความซับซ้อนในเรื่องของการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแล และการเป็นผู้ให้บริการ ตลอดจนจำนวนบุคลากรมีไม่เพียงพอกับคณะทำงาน ผลการตรวจสอบเอาเป็นค่าคะแนน ประสิทธิผลในการดำเนินการในการกำกับดูแล 8 ด้าน พบประเด็นที่เป็นปัญหาหลายประการ อาทิเช่น ปัญหาเรื่องของโครงสร้าง ปฏิบัติหน้าที่ อัตรากำลัง คุณภาพของบุคลากรที่เป็นมาตรฐานของ ICAO เรื่องของการจัดการด้านเอกสาร ระบบการทำงานที่ยังไม่ทันสมัย ขั้นตอนของผู้ดำเนินการเดินอากาศ และขั้นตอนการกำกับใบอนุญาตยังไม่มีความสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ICAO ได้ตรวจพบในเรื่องข้อบกพร่องที่น่าสำคัญต่อความปลอดภัย หรือที่เรียกว่า Significant Safety Concern (SSC) ใน 2 ด้านคือ 1.กระบวนการรับรองผู้อำนวยการเดินอากาศ หรือที่เรียกว่า AOC และ 2. การอนุญาตทำการขนส่งสินค้าอันตรายที่เรียกว่า Dangerous Goods ดังนั้นผลการตรวจสอบ ซึ่งประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 กรมการบินพลเรือนจึงไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน และจะต้องวางแผนการแก้ไขข้อบกพร่อง และดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องที่ตรวจพบให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 90 วัน
มาตรการในภาพรวม กระทรวงคมนาคม โดยผู้บริหารของกระทรวงคมนาคม กรมการบินพลเรือน และคณะกรรมการกรมการบินพลเรือน ได้เข้ามารับผิดชอบโดยการหารือร่วมกัน และแก้ไขปัญหา โดยได้จัดทำแผนการดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่อง ที่เรียกว่า Corrective Action Plan และส่งให้ ICAO เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2558 ซึ่งได้รับทราบผลจาก ICAO ตอบแจ้งผลเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2558 ว่า แผนดังกล่าวยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ขอให้ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่อง และรายงานให้ทราบต่อไป
ระยะแรก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 กระทรวงคมนาคม โดยคณะกรรมการการบินพลเรือนได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาจำนวน 2 คณะ ได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการเพื่อกำกับดูแลท่าอากาศยานจำนวน 28 แห่ง แทนกรมการบินพลเรือน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ ตลอดจนผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการบินและการบริการ เพื่อดูแลท่าอากาศยานในกำกับดูแลของกรมการบินพลเรือน 2. คณะอนุกรรมการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีความทันสมัย
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้รายงานต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาขั้นต้น โดยให้มีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศจำนวน 13 คน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของกรมการบินพลเรือน จัดจ้างผู้เชี่ยวชาญเพื่อวางระบบด้านกำกับดูแลความปลอดภัย และการปรับปรุงระบบฐานข้อมูล ให้เป็นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนจะเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างของกรมการบินพลเรือนในการเพิ่มอัตรากำลัง รวมถึงการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติเดินอากาศ พ.ศ.2497 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ
ต่อมา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 กระทรวงคมนาคมได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจำนวน 2 คณะ เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และแก้ไขปัญหาอย่างสัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว ได้แก่ 1. คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการตรวจสอบกรมการบินพลเรือนของ ICAO มีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการและกำกับการทั้งปวง เพื่อให้การแก้ไขผลกระทบจากการตรวจสอบของกรมการบินพลเรือนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และประสานงานกับคณะกรรมการการบินพลเรือน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและภายนอกประเทศได้โดยตรง 2. คณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการตรวจสอบกรมการบินพลเรือนของ ICAO มีอำนาจหน้าที่ในการวางแผน ดำเนินการ และประสานงานในทุกด้าน เพื่อให้การแก้ไขผลกระทบจากการตรวจสอบของ ICAO เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 45 วัน
นอกจากนั้น ยังมีภารกิจในการดำเนินการจัดทำแผนการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารกิจการทางอากาศของประเทศ ตลอดจนอัตรากำลัง และปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงระบบการทำงาน โดยดำเนินการทั้งสิ้นให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 8 เดือน
ในส่วนของมาตรการระยะสั้น ในเบื้องต้นกระทรวงคมนาคมได้จัดส่งผู้แทนไปชี้แจงยังประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 26-28 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา เพื่อชี้แจง ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานะมาตรฐานความปลอดภัยของสายการบินของประเทศไทย และให้ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการของประเทศไทยในการแก้ไขข้อบกพร่องจากการตรวจสอบของ ICAO และจะได้จัดส่งผู้แทนไปยังประเทศที่มีสายการบินของไทยทำการบิน ทั้งไป-กลับ อาทิเช่น สาธารณรัฐเกาหลี ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศออสเตรเลีย และประเทศเยอรมนี เป็นต้น
สำหรับ ระยะกลาง และระยะยาว คณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการดำเนินงาน ตลอดจนคณะกรรมการการบินพลเรือน โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคม กรมการบินพลเรือน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบินจากภาคเอกชน จะได้เร่งรัดการดำเนินการตาม Corrective Action Plan ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายในกำหนดในแผนงานอย่างรอบคอบและเร่งด่วน โดยจะเสนอใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 44 เพื่อลดขั้นตอนปฏิบัติตามแผนงานแต่ละด้านตามความจำเป็น
อินโฟเควสท์
รัฐบาลชงมาตรการลดหย่อนภาษีจูงใจนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวใน ปท.กระตุ้นศก.
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ตรวจสอบการกำกับดูแลสายการบินของไทย โดยกรมการบินพลเรือน (บพ.) และพบข้อพกพร่องนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งแก้ไขปัญหา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการกำกับดูแลสายการบินของประเทศไทย
“รัฐบาลยึดมั่นในนโยบายสร้างความเชื่อมั่น ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาใช้สนามบินในเมืองไทย หรือนักท่องเที่ยวไทยที่ใช้สนามบินเพื่อเดินทางไปยังที่ต่างๆ จะต้องได้รับความสะดวก ปลอดภัย และมีมาตรฐานระดับสากล ดังนั้น เราจึงมุ่งหวังจะแก้ปัญหาตามข้อห่วงกังวลของ ICAO อย่างจริงจังให้ได้ตามกำหนดเวลา"พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
ทั้งนี้ ในระหว่างการแก้ปัญหาอาจจะส่งผลกระทบกับนักท่องเที่ยวไทยที่ต้องการจะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศบ้าง ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวไทยใช้โอกาสนี้หันมาเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ โดยรัฐบาลมีมาตรการลดหย่อนภาษี สำหรับผู้ท่องเที่ยวในประเทศ จำนวน 15,000 บาทต่อคนต่อปี จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 โดยนำใบเสร็จรับเงินจาก บริษัททัวร์ภายในประเทศ และโรงแรมภายในประเทศ ที่มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีมาประกอบการขอลดหย่อนภาษี
ซึ่งการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวในประเทศ จะสามารถสร้างรายได้ภายในประเทศปี 2558 ได้ถึง600,000-800,000 ล้านบาท ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในปี 2558 คาดว่าจะมีสูงถึง 29 ล้านคน จากปี 2557 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยว 24.7 ล้านคน สร้างรายได้อีก 1.4 ล้านล้านบาท ดังนั้น เมื่อรวมรายได้ทั้งหมดแล้ว คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท
สำหรับ ช่วง พ.ค.-ก.ย. 2558 ซึ่งเป็นช่วงโลว์ ซีซั่น ของการท่องเที่ยวไทยนั้น คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 กำหนดให้ส่วนราชการ หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และที่เกี่ยวข้อง จะต้องจัดการประชุม สัมมนา การฝึกอบรม การจัดนิทรรศการ การแสดงผลงาน การแข่งขันกีฬา การศึกษาดูงาน และหรือกิจกรรมต่างๆ ที่ใกล้เคียง ของหน่วยงานภายในประเทศ ลักษณะ Incentive (mice) เชื่อมโยงและเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างภูมิภาคอย่างน้อย 1 ครั้งต่อไตรมาส
รวมถึงการส่งเสริมให้ทุกหน่วยงานจัดกิจกรรม เพื่อส่งเสริมท่องเที่ยวภายในประเทศ ให้ทุกหน่วยงานศึกษาดูงานตามโครงการพระราชดำริ โครงการหลวง กำหนดให้มีการจัดการท่องเที่ยวเชิงกีฬา เชิงสุขภาพ และเชิงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
ในปี 2558 เป็นปีแห่งท่องเที่ยววิถีไทย 2558 (2015 Discover Thainess) ด้วยการเน้นการประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญใน 12 เมืองต้องห้ามพลาด ได้แก่ ลำปาง น่าน เพชรบูรณ์ บุรีรัมย์ เลย สมุทรสงคราม ราชบุรี ตราด จันทบุรี ชุมพร ตรัง และนครศรีธรรมราช ที่นอกจากจะเป็นการสร้างความรับรู้สถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงาม ที่ห้ามพลาดแล้ว ยังเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นในจังหวัดดังกล่าวด้วย
อินโฟเควสท์