- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Thursday, 26 March 2015 22:59
- Hits: 2018
รมว.คมนาคมส่งคณะบินด่วนแจงญี่ปุ่นหลังมีคำสั่งระงับเพิ่มเที่ยวบินไทย
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เตรียมส่งคณะเจ้าหน้าที่บินด่วนเจรจาทางการญี่ปุ่น หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาทางองค์การการบินของญี่ปุ่นได้ขอให้สายการบินของไทยที่ทำการบินไปยังญี่ปุ่น ซึ่งจะครอบคลุมทั้ง 4 สาย คือ สายการบินไทย การบินไทยสมายล์ นกสกู๊ต ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินเปลี่ยนจุดบิน เปิดจุดบินเพิ่ม หรือจุดบินใหม่และเปลี่ยนขนาดเครื่องบินได้ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ เนื่องจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO)พบข้อบกพร่องของกรมการบินพลเรือน (บพ.)ตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากลของ ICAO
"การแก้ไขเร่งด่วนคือ ในวันนี้ผู้แทนกระทรวงคมนาคม และบพ. และสายการบินไทยได้เดินสายไปยังประเทศญี่ปุ่น เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจว่าสายการบินของไทยได้มาตรฐานและขอให้เชื่อมั่นในการแก้ไขของ บพ.ว่าจะเป็นไปตามมาตรฐาน ICAO ซึ่งทางญี่ปุ่นต้องการให้บพ.ส่งแผนงานการแก้ไขและความคืบหน้าตามแนวทางการปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะ โดยยินดีพิจารณาทบทวนคำสั่งดังกล่าว ซึ่งหลังจากนี้ จะเดินทางไปยังประเทศเกาหลี จีนและเยอรมนี ถือว่าเป็นประเทศที่เป็นเส้นทางบินหลัก เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจต่อไป"พล.อ.อ.ประจินกล่าว
พร้อมกันนั้น ในสัปดาห์หน้าจะเรียกประชุมติดตามแผนปรับปรุงต่างๆ และ แผนปฏิบัติ (Action Plan) โดยยอมรับว่ามาตรการของญี่ปุ่นกระทบต่อธุรกิจการบินในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.ที่จะมีนักท่องเที่ยวจากไทยไปญี่ปุ่นค่อนข้างมาก ส่วนเที่ยวกลับจะมีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาไทยมากเช่นกัน ส่วนเส้นทางบินที่มีอยู่เดิม ญี่ปุ่นไม่ได้ระงับการบินใดๆ สายการบินของไทยยังคงบินได้เส้นทางบินเดิมในปริมาณเดิม
พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ผิดหวังกับปฏิกิริยาของญี่ปุ่นที่ออกมาก่อนเวลาที่ ICAO จะมีการสรุป ซึ่งมีเวลา 90 วัน หรือในเดือน พ.ค.ก่อนจะมีมาตรการใด ๆ ออกมา และผิดหวัง ICAO เพราะที่ผ่านมาทั้งบพ.และกระทรวงคมนาคมได้ทำงานอย่างหนักเพื่อปรับปรุงแก้ไข โดยมีแผน เช่น แยกบทบาทหน้าที่ของบพ. จากที่รวมศูนย์ทุกเรื่อง โดยแยกด้าน นโยบาย (Policy) มาอยู่ที่กระทรวงคมนาคม และแยกหน่วยงานกำกับดูแล(Regulator) ออกมา ส่วน Operator นั้นให้หน่วยงานอื่นดูแลแทน เช่น บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT) หรือ ทอท. เป็นต้น
ด้านกฎหมายได้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขแล้ว และจะเร่งรัดแก้พ.ร.บ.เดินอากาศไทยพ.ศ. 2497 ด้านบุคลากรได้จัดทำแผนปรับปรุง ชัดเจน เราเชื่อมั่นแผนการปรับปรุงที่เสนอไป แต่ ICAO บอกว่ายังไม่ผ่านการรับรอง
อย่างไรก็ตาม ได้กำชับคณะกรรมการ (บอร์ด) และผู้บริหารการบินไทย และบพ.ให้เร่งทำงานเป็ทีมเพื่อแก้ปัญหาให้ได้ โดยเฉพาะประเด็นที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไปแล้ว เช่น งบประมาณว่าจ้างบุคลากรเพิ่มจำนวน 23 ล้านบาท (มี.ค.-ก.ย. 58) งบประมาณปรับปรุงระบบ Bata Base ต่างๆ 80 ล้านบาท และการแก้ไขปฎหมาย เป็นต้น
อินโฟเควสท์
รมว.คมนาคม ผิดหวังท่าที ไอซีเอโอและกรมการบินพลเรือนญี่ปุ่น ที่ให้สายการบินของไทยหยุดเพิ่มเที่ยวบิน หลังไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรณีองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือไอซีเอโอ เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานการบินของไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ล่าสุดกระทรวงคมนาคมและกรมการบินพลเรือนได้ดำเนินการปรับหลักเกณฑ์ตามที่ไอซีเอโอต้องการไปแล้ว ทั้งการแก้ไขกฎหมายด้านการบินที่ล้าสมัย อาจต้องเพิ่มบุคลากรทางการบินที่ได้มาตรฐานของไอซีเอโอ การแก้ไขบทบาทของกรมการบินพลเรือน โดยให้มีหน้าที่กำกับดูแลหรือเรคกูเลเตอร์ เพียงอย่างเดียวและให้หน้าที่การบริหารท่าอากาศยานไปอยู่ในการกำกับดูแลของหน่วยงานอื่น เช่น บริษัทอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. โดยกรมการบินพลเรือนส่งประเด็นการแก้ไขต่าง ๆ ไปให้ไอซีโอตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งตามหลักเกณฑ์กระทรวงคมนาคมทราบว่าการพิจารณาจะใช้เวลาในการพิจารณา 90 วัน
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดไอซีเอโอ มีการส่งหนังสือตั้งข้อสังเกตและกังวลเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยและมาตรฐานด้านการบินมากรมการบินพลเรือนของญี่ปุ่น ส่งผลให้ญี่ปุ่นออกมาตรการในการให้อนุญาตการทำการบินของสายการบินของไทย โดยมีการกำกับให้สายการบินจากไทยห้ามเพิ่มจำนวนเที่ยวบิน เส้นทางบิน ขนาดของเครื่องบิน และสายการบินใหม่ โดยให้คงไว้ในจำนวนปัจจุบัน
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวกระทรวงคมนาคมยอมรับว่าจะส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวของไทยในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่เป็นช่วงฤดูร้อน มีนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยและนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นจำนวนมาก โดยกระทรวงคมนาคมยอมรับว่าผิดหวังไอซีเอโอและญี่ปุ่นที่มีการออกมาตรการปฏิบัติก่อนครบกำหนด 90 วัน ในการพิจารณาเอกสารการแก้ไขของฝ่ายไทย อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมและกรมการบินพลเรือนได้เร่งแก้ไข โดยขณะนี้ได้ส่งผู้บริหารของกรมการบินพลเรือนและบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไปเจรจากับกรมการบินพลเรือนของญี่ปุ่น รวมทั้งจะมีการจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปเจรจากับประเทศที่มีความสำคัญในเรื่องของปริมาณเที่ยวบินกลับประเทศไทย เช่น เกาหลี เยอรมัน และจีน เพื่อไม่ให้ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อไป
ทั้งนี้ ยอมรับว่า กังวลต่อข้อสรุปที่ไอซีโอจะมีการพิจารณาผลมาตรการแก้ไขปัญหาของไทยที่จะมีการประกาศผลในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งหากผลที่ออกมามีการลดชั้นมาตรฐานความปลอดภัยและการกำกับดูแลของกรมการบินพลเรือนของไทยไปอยู่ในชั้นเดียวกันกับประเทศที่เคยโดนมาตรการก่อนหน้านี้ เช่น อินโดนีเซีย ก็จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเรื่องดังกล่าวได้มอบหมายให้กรมการบินพลเรือนและการบินไทยไปเตรียมมาตรการรองรับไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถบอกได้ในขณะนี้ ส่วนคำถามที่ว่ามาตรการที่ไอซีเอโอปฏิบัติกับไทยครั้งนี้มีแรงกดดันมาจากการเมืองหรือเป็นการส่งสัญญาณมาตรการแทรกแซง เพื่อกดดันไทยเร่งจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วหรือไม่นั้น พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า เชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่เกี่ยวกับประเด็นการเมือง โดยเชื่อว่าการพิจารณาของไอซีเอโอ จะเป็นมาตรฐานทางวิชาชีพที่ไม่มีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้อง
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
บพ.เผยญี่ปุ่นห้ามเที่ยวบินเช่าเหมาลำเข้า ปท.หลัง ICAO ตรวจพบข้อบกพร่องฯ
กรมการบินพลเรือน(บพ.) ชี้แจงกรณีทางการญี่ปุ่นห้ามเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำจากไทยเข้าประเทศ เนื่องจากได้รับทราบผลการตรวจสอบตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล(Universal Safety Oversight Audit Program; USOAP) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO) ที่ บพ.ได้รับการตรวจตามโครงการฯ เมื่อวันที่ 19-30 มกราคม 2558 ซึ่งผลการตรวจสอบตามโครงการดังกล่าวพบว่า ประเทศไทยมีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย(Significant Safety Concerns: SSC) เกี่ยวกับกระบวนการรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ ซึ่งกระทรวงคมนาคม โดยกรมการบินพลเรือนได้จัดทำแผนการดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่อง(Corrective Action Plan:CAP) และส่งให้ ICAO เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2558 ซึ่ง ICAO ได้นำข้อตรวจพบของ SSC ดังกล่าวลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ที่จำกัดการเข้าถึงเฉพาะรัฐภาคีของ ICAO (Secure website) แล้ว ทั้งนี้ ICAO มิได้มีวัตถุประสงค์หรืออำนาจในการดำเนินการใดๆ ที่เป็นผลกระทบต่อประเทศไทย ขึ้นอยู่กับรัฐต่างๆ ที่จะพิจารณาดำเนินการเอง
ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2558 บพ.ได้รับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของ Japan Civil Aviation Bureau(JCAB) ว่าได้รับทราบผลการตรวจสอบของ ICAO โครงการ USOAP จากการที่ ICAO ได้นำ SSC ของประเทศไทยลงใน Secure website จึงแจ้งให้ บพ.ทราบว่านโยบายของ JCAB เกี่ยวกับผู้ขนส่งทางอากาศของประเทศที่ ICAO ได้ระบุ SSC ให้ทราบว่า
1) JCAB จะไม่อนุมัติให้มีการขยายหรือเปลี่ยนบริการขนส่งทางอากาศ ไม่ว่าจะในรูปการเพิ่มท่าอากาศยานหรือเปลี่ยนแบบอากาศยานที่จะให้บริการไปยังประเทศญี่ปุ่นตามบทบัญญัติในมาตรา 129-3
2) JCAB จะเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบ Ramp service ตามข้อ 16 ของอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (อนุสัญญาชิคาโก ค.ศ.1944)
ทั้งนี้ นโยบายของ JCAB มิได้กระทบถึงผู้ขนส่งทางอากาศของประเทศไทยที่ทำการบินแบบประจำ ซึ่งยังคงสามารถให้บริการขนส่งทางอากาศได้ตามปกติ โดย JCAB จะยกเลิกมาตรการดังกล่าวเมื่อ ICAO ได้ระบุว่า SSC ได้รับการแก้ไขแล้ว การดำเนินการในกรณีนี้ถือเป็นมาตรการ ที่ JCAB ปฏิบัติกับทุกรัฐที่ ICAO ระบุว่ามี SSC
สำหรับ สายการบินที่ได้ยื่นขอทำการบินแบบเช่าเหมาลำจากประเทศไทยไปยังญี่ปุ่น แต่ได้รับแจ้งว่าไม่อนุญาต ดังนี้
1) สายการบินไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ ไม่ได้รับอนุญาตให้เพิ่มสนามบินที่จะทำการบินไปในเส้นทางฮอกไกโด
2) สายการบินนก สกู๊ต ไม่ได้รับอนุญาตให้บินเช่าเหมาลำรับขนในช่วงสงกรานต์ ไปยังเมืองเกียวโต และโอซากา
3) สายการบิน เอเชีย แอตแลนติก ไม่ได้รับอนุญาตให้บินเช่าเหมาลำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เช่นเดียวกัน
สำหรับ แนวทางแก้ไข ณ ขณะนี้ ตัวแทน บพ.จะเดินทางไปชี้แจงกับประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 26 มีนาคม 2558 เพื่อทำความเข้าใจถึงข้อเท็จจริงและแนวทางการดำเนินการของประเทศไทย ส่วนประเทศอื่นๆ บพ.จะได้ดำเนินการชี้แจงเกี่ยวกับสถานะด้านมาตรฐานความปลอดภัยของสายการบินในประเทศไทย รวมถึงการแก้ไขข้อบกพร่องจากการตรวจสอบดังกล่าวให้ทราบอย่างเร็วที่สุด
อินโฟเควสท์