- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Monday, 23 March 2015 22:17
- Hits: 2045
หูกวางจ่อทดลองใช้ตั๋วร่วมต้นปี 59 หวังต่อยอดการเดินทางสาธารณะ
บ้านเมือง : การเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนสาธารณะนั้น ถือเป็นอีกทางเลือกที่ให้ความสำคัญกับประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวง ซึ่งต้องใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ กระทรวงคมนาคมถือเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลภาคการขนส่ง ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมก็มีนโยบายที่จะพัฒนาระบบเชื่อมต่อการเดินทางให้เกิดความสมบูรณ์ โดยนำเอาระบบตั๋วร่วมมาให้บริการประชาชน วันนี้ 'บ้านเมือง' มีความคืบหน้า
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานระบบตั๋วร่วม และมาตรฐานบัตร โดยมีผู้บริหารกระทรวงคมนาคม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ผู้บริหารบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส และบริษัทที่ปรึกษาเข้าร่วม โดยขณะนี้ได้กลุ่มบีเอสวี (BSV) เป็นผู้ออกแบบบัตร และพัฒนาระบบตั๋วร่วม ซึ่งเริ่มดำเนินการออกแบบมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการแล้วเสร็จคาดว่าจะสามารถเริ่มทดลองใช้งานได้ประมาณเดือนมกราคม หรือ กุมภาพันธ์ ปี 2559 สำหรับโครงการที่จะสามารถใช้ระบบตั๋วได้ก่อนนั้น น่าจะเป็นในส่วนของทางด่วนพิเศษ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ที่มีแผนจะแล้วเสร็จในปี 2559 ส่วนเป้าหมายทั้งหมดในปี 2560-2561 โครงการไฟฟ้าทุกสายจะเข้าสู่ระบบตั๋วร่วม โดยสามารถใช้ตั๋วใบเดียวเดินทางเชื่อมต่อได้ทุกเส้นทาง โดยมีแผนในอนาคต ภาคการขนส่งสาธารณะ ประกอบด้วย รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้าบีทีเอส รถโดยสาธารณะ (รถเมล์เอ็นจีวี) เรือโดยสาร ทางด่วนนั้น ทุกโหมดการเดินทางจะสามารถเชื่อมต่อกันได้ด้วยตั๋วใบเดียว
"กระทรวงคมนาคมจะมีการเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการกำกับนโยบายตั๋วร่วม นอกจากนี้ จะมีการเร่งเดินหน้าจัดตั้งบริษัทจำกัด เพื่อจัดการระบบตั๋วหรือ CTC เพื่อให้การบริหารจัดเก็บรายได้ด้วยเคลียริ่งเฮาส์มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถนำระบบตั๋วร่วมเริ่มใช้ได้ต้นปี 2559 ซึ่งจะมีระบบขนส่งต่างๆ เข้าร่วม ทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ รถบีอาร์ที ระบบรถเมล์โดยสารเอ็นจีวี รถไฟฟ้าสายสีม่วง ระบบเรือโดยสาร ทางด่วน 1 เส้นทาง ส่วนการจัดตั้งบริษัทจำกัดนั้น จะเป็นลักษณะเอกชนที่มีภาครัฐถือหุ้น 40% และใช้ทุนเริ่มต้นประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งจำนวนดังกล่าวจะใช้เป็นเงินปรับปรุงระบบร่วมที่จะอำนวยความสะดวกในการเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าต่างๆ
ปัจจุบัน วงเงินทั้งสิ้น 244 ล้านบาท ส่วนประโยชน์ที่จะได้รับหลังมีระบบตั๋วร่วม ประชาชนจะมีการเชื่อมต่อระบบขนส่งได้อย่างคล่องตัว ส่วนค่าโดยสารนั้น คาดว่าจะมีอัตราที่ถูกลงร่วมถึงค่าแลกเข้าระบบด้วย"
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้ติดตามความคืบหน้างานให้บริการระบบตั๋วร่วม โดยได้หารือเรื่องจัดตั้งองค์กรขึ้นมารับผิดชอบดูแลการให้บริการระบบตั๋วร่วม ในรูปแบบบริษัทจำกัด สังกัดกระทรวงคมนาคม ใช้วิธีลงทุนแบบรัฐและเอกชนลงทุนร่วมกัน (Public private Partnership : PPP) แบ่งเป็นการร่วมทุน 3 ฝ่าย คือ 1.ภาครัฐ ถือหุ้นใหญ่สุดแต่ไม่เกิน 50% 2.ภาคเอกชนที่ให้บริการเดินรถไฟฟ้า เช่น บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL โดยภาครัฐจะใช้วิธีเจรจากับเอกชนดังกล่าว 3.ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการระบบ ซึ่งเป็นบริษัทจากต่างประเทศ และรัฐบาลไทยจะใช้วิธีเปิดประกวดราคาแบบนานาชาติ (International Bidding) โดยการจัดตั้งจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ซึ่งในระหว่างการจัดตั้งบริษัท สนข.และหน่วยธุรกิจ (BU) ตั๋วร่วมของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเป็นผู้รับผิดชอบบริหารการให้บริการตั๋วร่วมไปก่อน นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการตั๋วร่วมระดับประเทศที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน จากปัจจุบันเป็นคณะกรรมการแค่ระดับกระทรวง ส่วนกรรมการจะประกอบไปด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ที่จัดตั้งขึ้นมาบริหารระบบตั๋วร่วมนั้น จะมีรายได้มาจากค่าธรรมเนียมการใช้ (Transaction Fee) ซึ่งจากการประเมิน
ขณะนี้ค่า Transaction Fee ในระบบรถเมล์จะอยู่ที่ 1.4% รถไฟฟ้า 1.5% ทางด่วน 1.8% ส่วนกลุ่มบีเอสวี (BSV) ประกอบด้วย BTS กับกลุ่มบริษัท สมาร์ททราฟฟิค จำกัด และบริษัท วิกซ์ โมบิลิตี้ จำกัด ผู้รับงานโครงการจัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House: CCH) ระบบตั๋วร่วม วงเงิน 338 ล้านบาท ได้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแล้ว โดยใช้เวลา 48 เดือน ซึ่ง 6 เดือนแรกคือการออกแบบระบบ 6 เดือนที่สอง คือการติดตั้งระบบ จะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 และ 6 เดือนที่สาม เป็นการทดสอบระบบ โดยอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคม 2559
สำหรับ คุณสมบัติที่สำคัญของตั๋วร่วม คือสามารถรองรับผู้ออกบัตรหลายรอบ สามารถรองรับการใช้งานภาคขนส่งสำหรับผู้ให้บริการรายต่างๆ ประกอบด้วย รถไฟฟ้า รถประจำทาง ทางด่วน เรือโดยสารรวมถึงธุรกิจนอกภาคขนส่ง เช่น ธุรกิจค้าปลีก สามารถรองรับการเพิ่มมูลค่าโดยอัตโนมัติ และสามารถรองรับการให้ส่วนลดค่าเดินทางเมื่อเดินทางตามรูปแบบที่กำหนด นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสำคัญในการพัฒนาระบบตั๋วร่วม คือ 1.ระบบตั๋วร่วมต้องมีความง่ายในการใช้งาน อีกทั้งยังต้องสะดวกต่อผู้ใช้บัตรในการเพิ่มมูลค่าเงินในตั๋ว (Top-up) 2.จำเป็นต้องมีการสนับสนุนให้ประชาชนใช้ตั๋วร่วมมากที่สุด โดยกำหนดให้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและตรงความต้องการของผู้ใช้บริการ 3.ระบบตั๋วร่วมต้องครอบคลุมการใช้งานที่หลากหลาย ทั้งในการใช้บริการระบบขนส่งมวลชน และในการใช้งานส่วนค้าปลีก และเชิงพาณิชย์ต่างๆ 4.มาตรฐานระบบต้องสามารถประมวลผลการอ่านบัตรได้อย่างรวดเร็ว และต้องมีความปลอดภัยในการทำรายการสูง และ 5.การดำเนินการของระบบตั๋วร่วมต้องมีความน่าเชื่อถือ และในกรณีที่ระบบเกิดขัดข้องจะต้องสามารถกอบกู้ระบบคืนมาได้ในระยะเวลาอันสั้น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคม ได้มีการดำเนินการศึกษารายละเอียดโครงการระบบตั๋วร่วมมา เพื่อต้องการจะอำนวยความสะดวกในการบริการขนส่งสาธารณะ ในการเชื่อมต่อระบบไม่ว่าจะเป็นการใช้บริการรถไฟฟ้าที่สามารถเชื่อมต่อกับรถประจำทาง (รถเมล์) เรือโดยสาร การใช้บริการทางด่วนพิเศษ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ของกรมทางหลวง (ทล.) และการใช้บริการร้านค้าสะดวกซื้อ และเพื่อเป็นการผลักดันให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น