- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Sunday, 22 March 2015 19:34
- Hits: 1957
คมนาคม พร้อมเชื่อมขนส่งรับเออีซี
แนวหน้า : คมนาคมพร้อมเชื่อมขนส่งรับเออีซี 'พลังงาน'ลุยเสริมความมั่นคงพลังงาน
รมว.พลังงาน เดินหน้า “อาเซียน พาวเวอร์ กริด” เสริมความมั่นคงด้านพลังงานทางภูมิภาครับเปิดประชาคมอาเซียน หรือ เออีซี ด้าน รมช.คมนาคม ฝันไทยเป็นฮับเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐาน
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน กล่าวในงาน “Beyond AEC 2015” ของ สมาพันธ์เศรษฐศาสตร์อาเซียน เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2558 ว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ปลายปี 2558 นั้น ไทยมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียนในการยกระดับเศรษฐกิจของภูมิภาคเป็นรูปแบบดิจิตอล เพื่อเชื่อมโยงการค้า การบริการ และการลงทุนได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในประเด็นการหารือเรื่องความมั่นคงทางพลังงานของกลุ่มอาเซียน เตรียมจะมีการเจรจาออกกฎระเบียบโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้าของอาเซียน หรืออาเซียน พาวเวอร์ กริด ระหว่างประเทศที่ไม่มีชายแดนติดกันเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่เชื่อมโยงเฉพาะประเทศที่มีชายแดนติดกันเท่านั้น
ส่วนระบบท่อส่งก๊าซและน้ำมัน มองว่าจำเป็นต้องเชื่อมต่อท่อจากฝั่งตะวันออกไปช่วยเหลือฝั่งตะวันตก เพื่อรองรับความเสี่ยงกรณีแหล่งก๊าซพม่าหยุดซ่อมบำรุงที่จะเกิดขึ้นทุกปี เนื่องจากฝั่งตะวันตกใช้ก๊าซจากพม่าเป็นหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า
รมว.พลังงาน กล่าวถึงการปิดซ่อมบำรุงท่อก๊าซตลอดเดือนเม.ย. 2558 นี้ว่า แหล่งก๊าซธรรมชาติสำคัญๆ 3 แหล่งในเมียนมาร์ ต้องทำการหยุดซ่อมบำรุง ซึ่งเป็นแผนงานประจำปีตามสัญญา อันได้แก่ แหล่งยาดานา-เยตากุน 10 วัน (10-19 เม.ย.) และแหล่งซอติก้า 8 วัน (20-27 เม.ย.) ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติหายไปจากระบบรวมกันสูงสุดประมาณ 1,530 ล้านลูกบาศก์ฟุต แบ่งเป็น แหล่งยาดานา-เยตากุน 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต และแหล่งซอติก้า 430 ล้านลูกบาศก์ฟุต โดยถือเป็นสัดส่วนของก๊าซธรรมชาติที่ไทยจำเป็นต้องนำเข้าจากเมียนมาร์คิดเป็นร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 ของปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติทั้งหมดในประเทศ ทางกระทรวง มั่นใจว่าไทยมีความพร้อมรับมือการหยุดซ่อมบำรุงของแหล่งก๊าซพม่า โดยได้เตรียมสำรองน้ำมันเตา และน้ำมัน เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าแทน รวมถึงจะสั่งซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เพิ่มขึ้นเป็น 300 เมกะวัตต์ จากเดิมอยู่ที่ 200 เมกะวัตต์
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม ระบุว่า หลังเปิด เออีซี ไทยตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งทางราง ถนน และอากาศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษระหว่างแนวชายแดน อาทิ ในเร็วๆ นี้ จะมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 เพื่อเชื่อมอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กับจังหวัดเมียวดีของพม่า ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าและลดความแออัด รวมถึงจะจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เพื่อดึงดูดการค้าการลงทุนและขยายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์และเกษตร ซึ่งจะช่วยให้ไทยเกิดการแปรรูปวัตถุดิบและส่งผลดีต่อการส่งออก
นอกจากนี้ การเชื่อมโยงระบบรางเตรียมจะพัฒนารถไฟให้ครอบคลุมอาเซียนและจีน ขณะที่ทางอากาศจะมีการเปิด
ช่องทางการขนส่งสินค้า ส่งเสริมการบินระหว่างประเทศด้วยการเพิ่มเที่ยวบินจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนมายังไทยมากขึ้นเจรจาพัฒนาสายการบินร่วมกัน รวมถึงเตรียมขยายสนามบินแม่สอดและเปิดสนามบินใหม่ที่เบตง