- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Friday, 20 March 2015 21:38
- Hits: 2370
คมนาคมทำ Market Sounding ตั้งนิคมอุตฯ การบิน รับโลว์คอสต์โตก้าวกระโดด
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงฯจัดสัมนาทดสอบตลาด(Market Sounding)โครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบินของไทย เพื่อสำรวจความคิดเห็นและความต้องการของภาคเอกชน นักลงทุนที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการบิน สายการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมกว่า 30 บริษัท และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อเชิญชวนผู้สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งได้แถลงเป็นหนึ่งนโยบาย เพราะเห็นโอกาสของประเทศ ซึ่งขณะนี้ธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำมีอัตราก้าวกระโดด โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีตัวเลขคำสั่งเครื่องบินใหม่ชนิดลำตัวแคบถึง 1,565 ลำ และลำตัวกว้าง 447 ลำ โดยเครื่องโบอิ้ง 737 จำนวน 251 ลำของสายการบินไลอ้อนแอร์ และแอร์บัส 320 ของสายการบินแอร์เอเชีย จำนวน 500 ลำ
ขณะเดียวกัน ปัจจุบันไทยมีเครื่องบินพาณิชย์บริการประมาณ 224 ลำ(เป็นของการบินไทย 89 ลำ) มีมูลค่าตลาดให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานพาณิชย์(MRO) ปีละ 24,642 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นในอัตรา 6%ต่อปี โดยคาดว่าจะมีมูลค่าการซ่อมบำรุงอากาศยานในประเทศไทยในช่วง 10 ปีนี้ (ปี 58-67) สูงถึง 339,840 ล้านบาท โดยปัจจุบัยเครื่องบินในประเทศกว่า 50%ต้องนำไปซ่อมบำรุงในต่างประเทศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายการขนส่งเครื่องเปล่าสูงถึง 320,000 บาท
ทั้งนี้ จากการสำรวจวันนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการทำการศึกษาโครงการนี้จะประมวลความเห็นของนักลงทุนและความคืบหน้าของโครงการส่งมาทางกระทรวงคมนาคม คาดว่าจะนำเสนอต่อคา.เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการดูแลเรื่องนี้เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงศึกษธิการ ขณะที่การศึกษาก็จะทำต่อเนื่องถึงก.ย.58 จากที่เริ่ม ก.ย.57
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า จากการศึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย พบว่า มี 5 พื้นที่ที่มีศักยภาพกับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบิน ได้แก่ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ของกองทัพเรือ., ท่าอากาศยานเชียงราย ของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT), ท่าอากาศยานโคราช,ท่าอากาศยานพิษณุโลก และท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ซึ่ง 3 แห่งนี้เป็นของกรมการบินพลเรือน (บพ.)
นายรุ่งเรือง ทิพยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นิวแอสเส็ทแอดไวซอรี่ จำกัด ซึ่งเป็น 1 ใน 4 บริษัทที่ปรึกษาโครงการนี้ กล่าวว่า จากการสอบถามผู้ประกอบการซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างประเทศพบว่ากว่า 90% เลือกท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพราะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพอยู่ใกล้กับนิคมอีสเทิร์นซีบอร์ดช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง รองลงมาเลือกท่าอาศยานพิษณุโลก
ขณะที่ บมจ.การบินไทย (THAI) ก็มีพื้นที่กว่า 100 ไร่ในท่าอากาศยานอู่ตะเภา และได้แสดงความสนใจดำเนินศูนย์ซ่อมอากาศยาน ส่วนพื้นที่ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก็เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงเฉพาะเครื่องบินของการบินไทย
ทั้งนี้ โครงการการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย จะใช้พื้นที่กว่า 300 ไร่ โดยจะแบ่งเป็น 3 เฟสๆละ ประมาณ 100 ไร่ ทั้งนี้ เฟสแรกควรจะเป็นการลงทุนเพียงรายเดียว โดยการจัดตั้งนิคมอุตสาหรรมการบินเพื่อผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน กับศูนย์ซ่อมอากาศยานสามารถแยกพื้นที่ได้
ในวันนี้บริษัทต่างประเทศที่เข้าร่วมงานสัมนา ได้แก่ บริษัท โรสรอยส์ บริษัทไทรอัมพ์ บริษัท ST Aero Space ซึ่งเป็นของรัฐบาลสิงคโปร์ สายการบินแอร์เอเชีย สายการบินไลอ้อนแอร์ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ เป็นต้น
อินโฟเควสท์