- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Monday, 16 March 2015 22:58
- Hits: 1956
'ประจิน' พาสำรวจพื้นที่หนองคายโครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน
บ้านเมือง : การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งสาธารณะนั้น ถือว่าเป็นหัวใจหลักที่กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการ ซึ่งโครงการรถไฟ ไทย-จีน ก็เป็นอีกโครงการเมกะโปรเจกต์ที่รัฐบาลหลายสมัยให้ความสนใจ วันนี้ กระทรวงคมนาคม โดย 'พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง'รัฐมนตรีว่ากากระทรวงคมนาคม ได้นำผู้แทนจากรัฐบาลจีน และผู้บริหารกระทรวงคมนาคมพร้อมด้วยสื่อมวลชนลงพื้นที่ ที่จะดำเนินการก่อสร้างที่จังหวัดหนองคาย เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงแผนการก่อสร้างรถไฟทางคู่ไทย-จีน รางมาตรฐาน (Standard Gauge) ในเส้นทางช่วงหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทาง 873 กม.นั้น ภายหลังจากการหารือร่วมกับผู้แทนรัฐบาลจีนเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งระหว่างวันที่ 11-12 มีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 27 มีนาคมนี้ เพื่อรายงานความคืบหน้าการเจรจาทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา และเสนอของบประมาณการจัดจ้างที่ปรึกษาศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ปรึกษาประเมินราคาที่ดิน และประเมินมูลค่าโครงการ นอกจากนี้ ไทยและจีนมีแผนที่จะหารือร่วมกันเป็นครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 6-8 พฤษภาคม 2558 ที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน อย่างไรก็ตาม จะนำรายละเอียดเรื่องความก้าวหน้าของการทำงานระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย มาหารือกัน ประกอบด้วย การพิจารณาเรื่องเงินลงทุน ความคืบหน้าการสำรวจออกแบบที่จะเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้ รวมทั้งความคืบหน้าแผนการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจีนสู่ไทย และในเดือนเมษายนนี้กระทรวงคมนาคมจะเดินทางไปหารือร่วมกับรัฐบาลลาว เพื่อพิจารณาเชื่อมต่อการเดินทางจากหนองคายเข้าสู่นครเวียงจันทน์ของลาวก่อนต่อเข้าไปยังประเทศจีน
สำหรับ งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมีการแบ่งสัดส่วนชัดเจนแล้วว่า 1.งานฐานราก และ 2.งานก่อสร้างที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การเจาะอุโมงค์ การดำเนินโครงการช่วงไหล่เขา ก็จะเป็นทางประเทศจีนเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนประเทศไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบการใช้วิธีกู้เงินหรือระดมเงินทุนภายในประเทศมาดำเนินการ
พร้อมทั้งคัดเลือกผู้รับเหมาไทยที่มีศักยภาพเข้ารับงาน ซึ่งขณะนี้ได้ขึ้นบัญชีบริษัทรับเหมาที่เสนอตัวเข้ารับงานไว้แล้ว 12-15 ราย ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะไปพิจารณาว่าควรใช้วิธีใดในการคัดเลือกเอกชน ระหว่างการเจรจาหรือเปิดประกวดราคา แต่มีเงื่อนไขว่าวิธีการคัดเลือกต้องมีความรวดเร็วสามารถเริ่มงานก่อสร้าง ช่วงที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กม. และช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กม. ได้ภายในเดือนตุลาคมปี 2558 ส่วนงานก่อสร้างที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงฝ่ายจีนจะเป็นผู้รับผิดชอบ
สำหรับ รูปแบบการจัดหาเงินทุนในประเทศนั้น ล่าสุดกระทรวงคมนาคมได้เชิญผู้แทนจากกระทรวงการคลังมาให้ข้อมูลเบื้องต้นแล้ว พร้อมทั้งมอบหมายให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ไปพิจารณารายละเอียดว่าควรให้แหล่งเงินหรือระดมทุนอย่างไร จึงจะเหมาะสมสุด ซึ่งเป็นไปได้ทั้งการกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศ การออกพันธบัตร และการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยจะมีความชัดเจนในเดือนพฤษภาคมนี้
นอกจากนี้ ยังมีงานเดินรถและบำรุงรักษาที่ไทยกับจีนมีแผนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาบริหารงาน โดยจะแบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วง 1-3 ปีแรก จีนเป็นผู้ให้บริการเดินรถ ขณะที่ไทยจะเป็นฝ่ายเรียนรู้การทำงานจีน ระยะที่ 2 ช่วง 4-7 ปี ไทยและจีนจะตั้งบริษัทร่วมทุน โดยไทยมีสัดส่วนการถือหุ้นมากกว่า ซึ่งขณะนี้วางแผนไว้ว่าจะให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ถือหุ้น 30% เอกชนไทยที่มีความสามารถในงานเดินรถ 30% และฝ่ายจีน 40% ระยะที่ 3 ตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป ไทยจะเป็นผู้รับงานเดินรถเอง โดยมีจีนเป็นที่ปรึกษา ซึ่งการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนจะมีความชัดเจนช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคมนี้หลังจากเริ่มงานก่อสร้างไปแล้ว
"เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้ลงนาม MOC กับจีน ซึ่งสาระจะเป็นการสรุปผลการหารือครั้งที่ 1-3 ซึ่งมีความชัดเจนเรื่องความร่วมมือแบบ EPC โดยแบ่งงานเป็น 3 ส่วนคือ 1.งานก่อสร้างฐานราก ไทยเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ส่วนงานก่อสร้างที่ผ่านเขา อุโมงค์และสะพาน ซึ่งใช้เทคโนโลยีสูง ฝ่ายจีนเป็นหลัก งานระบบสนับสนุน (Power Supply) ไทยเป็นหลัก 2.ระบบราง อาณัติสัญญาณ ระบบรถ จีนเป็นหลัก 3.งานเดินรถและซ่อมบำรุง จะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมา โดยไทยถือหุ้นมากกว่า โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 30% รวมกับบริษัทไทยอีก 30% ส่วนจีน 40% โดยการจัดตั้งบริษัทเดินรถจะมีความชัดเจนช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 58 ส่วนการบริหารจะแบ่งความรับผิดชอบเป็น 3 ช่วง โดยช่วง 1-3 ปีแรก จีนจะเป็นหลักพร้อมกับฝึกอบรมและถ่ายโอนเทคโนโลยีให้ไทย ช่วงปีที่ 4-7 ไทย-จีนจะร่วมกันบริหาร 50:50 ช่วงปีที่ 7 ขึ้นไป ไทยจะรับงานเดินรถมาดำเนินการเอง โดยฝ่ายจีนจะเป็นที่ปรึกษา"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายหู จู่ฉาย รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ร่วมเป็นประธานการประชุมร่วม ไทย-จีน เพื่อความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 มกราคมที่ผ่านมา ภายหลังจากมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือกันไทยกับจีน ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 ระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับจีนเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา จนนำมาสู่การหารือในครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรก เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถดำเนินงานร่วมกันทั้งในการวางแผน อำนวยการและลงพื้นที่ปฏิบัติการ สำรวจและออกแบบการประมาณการณ์ด้านราคาของโครงการรวมถึงการกำหนดรูปแบบการลงทุนร่วมกัน จะนำไปสู่การก่อสร้างทางในกรอบเวลาที่กำหนด สำหรับโครงการดังกล่าวมีความสำคัญเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เกิดการจ้างงาน มีรายได้ในการจัดเก็บภาษี ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงด้านการคมนาคม จีนกับอาเซียน อำนวยความสะดวกด้านการค้า การท่องเที่ยว และได้มีการหารือร่วมกันเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11-13 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา ที่ประเทศจีน ซึ่งการหารือร่วมกัน ได้เห็นชอบเรื่องโครงสร้างบริหารงาน โดยระดับรัฐบาลจะมีคณะกรรมการขับเคลื่อน ซึ่งฝ่ายไทยจะมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีคณะกรรมการขึ้นมาประสานงานร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย
สำหรับ เส้นทางก่อสร้างแบ่งเป็น 4 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กิโลเมตร, ช่วงที่ 2 เส้นทางแก่งคอยมาบตาพุด 246.5 กิโลเมตร, ช่วงที่ 3 เส้นทางแก่งคอย-นครราชสีมา 138.5 กิโลเมตร และช่วงที่ 4 เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย 355 กิโลเมตร เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการก่อสร้าง และฝ่ายไทยเองก็ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการไว้ 3 ด้าน ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการบูรณาการแผนงานและการดำเนินงาน และคณะอนุกรรมการด้านการเงินและรูปแบบการลงทุน โดยจะมีการสรุปแผนงานทั้งหมดเสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน 2558 และคาดว่าจะเริ่มกระบวนการในการก่อสร้างช่วงเดือนธันวาคม 2558 นี้ แล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 2 ปีครึ่ง ในช่วง 1 และช่วง 2 อย่างไรก็ตาม ช่วง 3 และช่วง 4 จะต้องเป็นการเจาะอุโมงค์ ซึ่งประสบการณ์ของประเทศจีนในการเจาะอุโมงค์นั้น ใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่ต่ำกว่า 3 ปี