- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Wednesday, 11 March 2015 23:36
- Hits: 2755
'ประจิน'ถกจีนสร้างทางรถไฟ เชื่อ'คุนหมิง-มาบตาพุด'เกิดแน่
แนวหน้า : ที่ห้องประชุมโรงแรมบุศยรินทร์ อ.เมืองหนองคาย ได้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย จีน ครั้งที่ 3 โดย พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นำคณะของไทย ประชุมร่วมกับ นายหวัง หมิน (Huang Min) รองกรรมการผู้จัดการบริษัทไชน่า เรลเวย์ คอร์ปอเรชั่น (Deputy General Manager China Railway Corporation) ซึ่งหลังจากร่วมประชุมได้คณะทั้งหมดได้ไปชมพื้นที่ก่อสร้างสะพานสำหรับรถไฟแห่งใหม่เพื่อเชื่อมทางรถไฟระหว่างหนองคาย – เวียงจันทน์
พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การประชุม 2 ครั้งที่ผ่านมามีความคืบหน้าไปมาก ทั้งในฝ่ายของไทย และฝ่ายจีน รวมถึงได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายที่กรุงเทพฯ จากนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมการทำงานร่วมกันเพื่อร่วมกันผลักดันสร้างทางรถไฟขนาดมาตรฐาน ความเร็ว 168 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เส้นทางที่ร่วมกันคือ หนองคาย–อุดรธานี–ขอนแก่น–นครราชสีมา–สระบุรี–กรุงเทพฯ จากนั้น จะแยกออกไป แก่งคอย–มาบตาพุด ระยะทาง 870 กิโลเมตร นับเป็นเส้นทางเชื่อมโยงภาคอีสานกับภาคกลางเข้าด้วยกัน ในอนาคตทราบว่ารัฐบาลจีนมีแผนสร้างเส้นทางรถไฟทางมาตรฐาน จากคุนหมิง มายัง นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อมายังจังหวัดหนองคายได้ หลังจากการหารือร่วมในครั้งที่ 3 นี้ ทั้งสองฝ่ายจะนำเข้าสู่การทำบันทึกความเข้าใจร่วมกัน
ด้านนายหวัง หมิน รองกรรมการผู้จัดการบริษัทไชน่า เรลเวย์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า รัฐบาลจีนจะบรรจุแผนพัฒนาจังหวัดหนองคายเข้าไปในแผนงานสำคัญด้านโลจิสติกส์ และอยู่ระหว่างการหารือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน การสร้างทางรถไฟหนองคาย–กรุงเทพ–มาบตาพุด จะมีประโยชน์ต่อประเทศไทยและกลุ่มอาเซียนเป็นอย่างมาก เส้นทางนี้ไม่เพียงแต่เป็นการเชื่อมต่อภาคอีสาน กรุงเทพ และท่าเรือเข้าด้วยกันแล้ว ยังอยู่ในเส้นทางส่วนประกอบแห่งเอเชียด้วย ทางการจีนวางแผนสร้างรถไฟจากคุนหมิง หรือยูนนาน มาเวียงจันทน์ เข้าหนองคาย สู่กรุงเทพ และสิ้นสุดที่ระยอง ช่องทางนี้จะมีบทบาทสำคัญในอนาคต หลังจากสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้เสร็จ ทั้งจีน ลาว และไทย 3 ประเทศนี้ จะกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ช่วยลดต้นทุนในการขนส่งสินค้าทางรถยนต์ และเครื่องบินได้เป็นอย่างมาก
ในส่วนของท่าเรือของจีน ซึ่งมี 7 ท่าเรือใหญ่ระดับโลก ปริมาณสินค้าขนส่งมากกว่า 8,000 ล้านตัน หรือร้อยละ 70 นำสินค้าออกสู่ยุโรป เอเชีย และอเมริกา โดยผ่านท่าเรือเหล่านี้ เป็นผลผลิตจากทางตะวันตกของจีน ปัจจุบันภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีประชากรหลายร้อยล้านคน จีดีพี หมื่นล้านหยวน สินค้าเหล่านี้ถ้าขนผ่านท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ระยะทาง 200 กิโลเมตร ขึ้นไป ถ้าผ่านทะเลใต้ของจีนจะมีอีกหลายพันกิโลเมตร หลังจากเส้นทางนี้สร้างเสร็จอยากพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเป็นท่าเรือสากล สินค้าจีนสามารถผ่านทางนี้ได้ จะเป็นการช่วยกระชับระยะทางและช่วยลดต้นทุน หากมีการนำสินค้าผ่านทั้งรถไฟและทางเรือร่วมกัน เชื่อว่าในอนาคตเมื่อเชื่อมทางรถไฟจากจีน เวียงจันทน์ หนองคาย มาบตาพุดเสร็จ นำสินค้าลงเรือมาบตาพุดได้จะเป็นมิติใหม่ของเอเชียแปซิฟิก จ.ระยองจะเป็นเมืองโลจิสติกส์ที่สำคัญมากกว่าที่เป็นอยู่
ภายหลังการประชุมได้ข้อสรุป ข้อมูลที่ได้ในการประชุมทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมาจะมีการนำไปหารือกันอีกครั้งในการประชุมครั้งที่ 4 ที่ คุนหมิง ประเทศจีน โดยจะมีประเด็นในการหารือ ทั้งในเรื่องของความก้าวหน้าเรื่องข้อตกลงด้านการเงิน รูปแบบการร่วมทุน ความคืบหน้าความเหมาะสมของโครงการ หลักสูตรการจัดอบรมบุคลากร และจะมีการพูดคุยกันในเรื่องของการศึกษาดูงาน ในการบริหารจัดการด้านการรถไฟของจีน
สำหรับ รูปแบบการบริหารจัดการและการลงทุนนั้น จะแยกออกมาเป็นในช่วงแรก 1-3 ปี แรกให้จีนเป็นตัวหลัก ไทยเป็นตัวเสริม ช่วงปีที่ 4-7 จีนกับไทย จะร่วมกันบริหารจัดการในการเดินรถฝ่ายละครึ่งทาง ส่วนปีที่ 7 เป็นต้นไปนั้น ไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ขณะที่จีนจะเป็นฝ่ายสนับสนุน ส่วนเรื่องของการลงทุนนั้น จะเป็นการจัดตั้งบริษัทขึ้นมา และกำหนดสัดส่วนการลงทุนนั้นว่าจะเป็นเท่าไหร่ ในภาพรวมนั้นไทยจะเป็นหลักในการกำหนดสัดส่วน โดยส่วนไปอาจจะเป็น 2 ส่วน คือการรถไฟไทย ร้อยละ 30 เอกชนที่มีศักยภาพ อีกร้อยละ 30 ฝ่ายไทยจะมีสัดส่วนที่สูงกว่าจีนแน่นอน ซึ่งเชื่อว่าความก้าวหน้าในเรื่องของการสำรวจ นั้นจะมีผลชัดเจนในเดือนพฤษภาคมนี้ แน่นอน ส่วนเรื่องการฝึกอบรมทางการจีนจะเป็นผู้กำหนด เราจะต้องเร่งดำเนินการในเรื่องการให้เรียบร้อยในการจ้างที่ปรึกษาสำรวจผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และจ้างที่ปรึกษาในเรื่องของการบริหารโครงการและการประเมินคุณภาพของโครงการ ซึ่งเราจะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน มีนาคม นี้ จะทำเรื่องขอการสนับสนุนเรื่องของบประมาณจากรัฐบาล ต่อไป.