WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

'หูกวาง' เล็งลดอุบัติเหตุทางถนน ร่วมสมาพันธ์ยานยนต์ฯ จัดรณรงค์

    บ้านเมือง : การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล และรถโดยสารสาธารณะนั้น ถือว่ามีความสำคัญทั้งสิ้นสำหรับประชาชนในปัจจุบัน กระทรวงคมนาคม ในฐานะที่กำกับดูแลเรื่องของมาตรฐานทางถนน ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง รวมถึงการตรวจสภาพรถยนต์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทาง ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลความเรียบร้อย วันนี้ "บ้านเมือง" มีคำตอบ

    นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวภายหลังที่ นายฌอง ทอดท์ ประธานสมาพันธ์ยานยนต์นานาชาติ พร้อมด้วยนางมิเชล โหยว ภรรยา และคณะเข้าเยี่ยมคารวะที่กระทรวงคมนาคม ว่าการเข้าเยี่ยมคารวะดังกล่าวนั้น ได้มีการหารือถึงแนวทางร่วมกันถึงการจัดกิจกรรมการขับขี่ปลอดภัย เพื่อต่อยอดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วยกรมการขนส่งทางบก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยบนท้องถนนในระยะยาวของประเทศไทย เนื่องจากสมาพันธ์ยานยนต์นานาชาติได้ตระหนักถึงการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นจำนวนมาก โดยพร้อมให้ความร่วมมือกับประเทศไทยในการสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงการใช้รถใช้ถนนเพื่อลดสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ขณะเดียวกันยังให้ความสนใจที่จะเข้ามาถ่ายทำสารคดีเกี่ยวกับมาตรการดูแลผู้ประสบอุบัติเหตุและมีความพิการทางร่างกายจนถึงการให้ความช่วยเหลือผู้พิการของประเทศไทย เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีในการให้ความร่วมมือลดอุบัติเหตุ

  สำหรับ แนวทางในการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนต้องอาศัยองค์ประกอบหลายด้าน เริ่มตั้งแต่ปลุกจิตสำนึกวินัยผู้ขับขี่ ซึ่งต้องมีการยกระดับการออกใบอนุญาตขับขี่ให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น การปรับปรุงคุณภาพถนนไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการขับขี่ โดยการแก้ไขปรับจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง การพัฒนาคุณภาพยานยนต์ต้องมีระบบความปลอดภัยและประหยัดพลังงาน การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยกำกับหรือตรวจสอบ ผู้ที่ขับรถฝ่าฝืนกฎหมายการจราจร เช่น การติดตั้ง GPS ในระบบรถโดยสารสาธารณะ การติดตั้ง RFID หรือ CCTV เพื่อตรวจจับความเร็วของรถ และสุดท้ายควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ทั้งรถจักรยานยนต์ควรสวมหมวกนิรภัย และควรมีการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง ซึ่งต้องร่วมมือกับหลายฝ่ายในการบังคับใช้กฎหมาย อย่างไรก็ตาม มีแนวคิดที่จะเพิ่มหลักเกณฑ์ในการเข้มงวดการออกใบอนุญาตขับขี่ใหม่ โดยผลักดันให้โรงเรียนสอนขับรถยนต์เข้ามาอยู่ในความดูแลของกรมการขนส่งทางบก โดยการจัดหาสนามเพื่อใช้เป็นสถานที่สอนขับรถแทนการขับบนท้องถนนจริงในขณะเรียนขับรถ และผู้ที่มีสิทธิ์สอบใบอนุญาตขับขี่ต้องจบหลักสูตรการเรียนขับรถอย่างน้อย 1-2 เดือน พร้อมใบรับรองจากสถาบันที่สอนขับรถ และต้องผ่านการทดสอบข้อเขียน 100 เปอร์เซ็นต์จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 90 นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบก เข้มงวดสำนักงานขนส่งตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ในการออกใบอนุญาตขับขี่ หลังมีการร้องเรียนว่าการขออนุญาตใบขับขี่ในต่างจังหวัดได้มาโดยไม่ต้องมีการทดสอบ

    สำหรับ ข้อมูลช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา พบว่ามีสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่สะสม 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2557-5 มกราคม 2558 ว่าเกิดอุบัติเหตุรวม 2,997 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 341 ราย และผู้บาดเจ็บรวม 3,117 คน โดยจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มี 2 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี และนครพนม จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 133 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 18 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 129 คน

    โดยจากสถิติช่วง 7 วันอันตรายปีใหม่ 2557 พบว่า วันที่ 27 ธันวาคม 2557 เกิดอุบัติเหตุ 392 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 39 ราย ผู้บาดเจ็บ 399 คน วันที่ 28 ธันวาคม 2556 เกิดอุบัติเหตุ 474 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 47 ราย ผู้บาดเจ็บ 488 คน วันที่ 29 ธันวาคม 2556 เกิดอุบัติเหตุ 456 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 75 ราย ผู้บาดเจ็บ 503 คน วันที่ 30 ธันวาคม 2556 เกิดอุบัติเหตุ 496 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 48 ราย ผู้บาดเจ็บ 541 คน วันที่ 31 ธันวาคม 2556 เกิดอุบัติเหตุ 537 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 55 ราย ผู้บาดเจ็บ 571 คน วันที่ 1 มกราคม 2557 เกิดอุบัติเหตุ 536 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 64 ราย ผู้บาดเจ็บ 539 คน และ 2 มกราคม 2557 เกิดอุบัติเหตุ 283 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 28 ราย ผู้บาดเจ็บ 308 คน สรุปยอดเกิดอุบัติเหตุรวม 3,174 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 366 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,345 คน

       นอกจากนี้ กรมทางหลวง (ทล.) ได้มีการออก 7 มาตรการ เพื่อเตรียมพร้อมความปลอดภัยดังนี้ 1.ทางดีพร้อมใช้ ปลอดภัย ไร้จุดเสี่ยง โดยสั่งการให้ตรวจสอบและแก้ไขพื้นที่จุดเสี่ยง/จุดอันตราย/จุดวิกฤติด้านการจราจร, ดูแล บำรุงรักษาทางหลวงให้อยู่ในสภาพดี พร้อมใช้งาน, ขอความร่วมมือผู้รับจ้างคืนผิวทาง ให้หยุดงานก่อสร้าง/บำรุงทาง ในช่วงเทศกาล, ประสานตำรวจทางหลวง และตำรวจท้องที่ เพื่อเตรียมพร้อมด้านการจราจรและประสานและสนับสนุนการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร/จัดช่องทางพิเศษ 2.ป้ายเด่นชัด ไม่พลัด ไม่หลง โดยดำเนินการปรับปรุงดูแล บำรุงรักษา และทำความสะอาดป้าย เครื่องหมายการจราจร สีตีเส้น, ติดตั้งป้ายเตือน ป้ายแนะนำเส้นทางเลี่ยง/ทางลัด ทุกระยะ 3-5 กิโลเมตร, ชุดป้ายเคลื่อนที่ VMS-Mobile บริเวณจุดวิกฤติจราจร 3.ไฟฟ้าส่องสว่าง เดินทางปลอดภัย สัญญาณไฟจราจร เห็นชัด อุบัติเหตุลดลง โดยดูแลบำรุงรักษา และทำความสะอาดสัญญาณไฟฟ้าแสงสว่าง สัญญาณไฟจราจร 4.จุดให้บริการทั่วไทย พักรถก่อนไป เดินทางใกล้ไกล ปลอดภัยทุกเส้นทาง โดยเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่รณรงค์ให้ความรู้แก่ผู้ขับขี่และผู้ใช้ทาง ประชาสัมพันธ์ แจกจ่ายแผนที่แผ่นพับแนะนำเส้นทางเลี่ยง/ทางลัด จัดจุดให้บริการทั่วไทย 192 แห่ง (6 จุดพักรถโดยสารสาธารณะ (4 จังหวัด)/186 จุดให้บริการทั่วไทย) บริการน้ำดื่ม ห้องสุขา

      5.รายงานสภาพจริงการจราจร Online แบบ Real time ตลอด 24 ชั่วโมง โดยประสานข้อมูลศูนย์ปลอดภัยคมนาคม ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน อาสาสมัคร มูลนิธิ, ติดตั้ง CCTV บนทางหลวงสายหลัก ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และจุดเฝ้าระวัง พร้อมทั้งรายงานสภาพการจราจร Online แบบ Real time โดยติดตามได้ที่เว็บไซต์ : http://bmm.doh.go.th/ems และให้บริการข้อมูลการจราจรบนทางหลวงผ่านทาง Smart Phone (RSS Feed) รวมทั้งเปิดให้บริการข้อมูลทางโซเชียลเน็ตเวิร์คของกรมทางหลวงเพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาเส้นทางและรายงานสภาพจริงการจราจร/การเกิดอุบัติเหตุ ผ่านทาง: http://www.doh.go.th,: http://bmm.doh.go.th/ems/feedAll.aspx, http://bmm.doh.go.th/ems, https://www.facebook.com/departmentofhighway รวมทั้งมีการสั่งการ VDO Conference ทุกจังหวัด (สำนักทางหลวง/สำนักงานทางหลวง) ตลอดช่วงเทศกาล 6.เปิดสายด่วน 1586 สายด่วนคู่ใจเพื่อนเดินทาง พร้อมให้บริการ 24 ชั่วโมง ซึ่งสามารถรับทราบข้อมูลข่าวสารผ่าน Call Center กรมทางหลวง 1586 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง และ 7.ใช้ Motorway ที่ปลอดภัย รวมถึงการจัดพิมพ์แผนที่เส้นทางแนะนำ

     ส่วนข้อควรศึกษาก่อนการออกเดินทางนั้น คือวางแผนการเดินทาง ตรวจสอบเส้นทาง และเวลาเดินทางให้เรียบร้อย, ควรเตรียมความพร้อมของร่างกาย อาทิ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อดนอน ไม่ดื่มของมึนเมา ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด, ควรตรวจสอบรถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา, เมื่อรถเสียหรือเกิดอุบัติเหตุให้จอดรถให้ชิดขอบไหล่ทาง ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน, ไม่ควรเก็บสิ่งของไม่จำเป็นไว้ใต้เบาะที่นั่งคนขับ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่ ซึ่งการร่วมมือเพื่อรณรงค์ความปลอดภัย สมาพันธ์ยานยนต์นานาชาตินั้นก็มีความคาดหวังว่าการเดินทางของประชาชนจะเกิดความปลอดภัยไร้อุบัติเหตุนั่นเอง

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!