- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Wednesday, 04 March 2015 21:47
- Hits: 1805
รมว.คมนาคม สั่งเดินหน้าไฮสปีดเทรน กทม.-พัทยา และกทม.-หัวหิน คาดกำหนดรูปแบบความร่วมมือได้ภายในปีนี้
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่ารกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ในเส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา และกรุงเทพฯ-หัวหิน หลังจากได้พิจารณาแล้วเห็นว่า แนวคิดเรื่องดังกล่าวสามารถดำเนินการได้จริง เนื่องจากไม่ต้องกังวลเรื่องเทคโนโลยี เพราะสามารถนำเข้าเทคโนโลยีได้ คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการมากเพียงพอโดยเฉพาะนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันยังมีความจำเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการส่งเสริมการท่องเที่ยว คาดว่าจะสามารถดำเนินการกำหนดรูปแบบความร่วมมือให้ชัดเจนภายในปีนี้
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้แต่งตั้งคณะทำงานแล้ว ต้องเชิญผู้ประกอบการเข้ามาหารือ เพื่อดำเนินการพิจารณารูปแบบความร่วมมือในการดำเนินโครงการว่า จะเป็นรูปแบบใด เบื้องต้นได้กำหนดไว้ 2 แนวทาง คือ เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน (พีพีพี) และการให้สัมปทานซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในพีพีพี ส่วนแนวทางที่ 2 อาจจะเป็นการลงทุนในแบบเดียวกับที่ไทยทำร่วมกับจีนในการก่อสร้างรถไฟทางคู่รางมาตรฐาน 1.435 เมตร ในเส้นทางหนองคาย-นคราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุด และแก่งคอย-กรุงเทพฯ ซึ่งต้องศึกษารายละเอียดรูปแบบให้ชัดเจน
"การดำเนินงานพัฒนารถไฟความเร็วสูงในเส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา และกรุงเทพฯ-หัวหินนั้น จะกำหนดให้มีการพัฒนาทั้งระบบรางมาตรฐาน 1.435 เมตร การลงทุนนั้นยังเปิดกว้างให้บริษัทเอกชนในแต่ละประเทศที่สนใจเข้าร่วมลงทุนยังไม่ได้พิจารณาประเทศใดเป็นหลัก"พล.อ.อ.ประจิน กล่าว
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่ารถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-พัทยา นั้น จะไม่ใช่โครงการเดียวกับโครงการกับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิ้งค์ ที่มีแผนจะก่อสร้างจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปยังท่าอากาศยานอู่ตะเภา ที่มีนโยบายพัฒนาให้เป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิ้งค์ ยังเป็นโครงการที่มีจุดประสงค์ เพื่อเชื่อมท่าอากาศยาน 3 แห่งเข้าด้วยกัน คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารในการเดินทางและเข้าไปใช้บริการได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นโครงการที่ไม่ใช่โครงการเดียวกับไทย-จีน ช่วงแก่งคอยไปแหลมฉบัง-มาบตาพุด และไทย-ญี่ปุ่น ช่วง พุน้ำร้อน -กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ - ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ และกรุงเทพฯ- ฉะเชิงเทรา - แหลมฉบัง เนื่องจากเส้นทางรถไฟทั้ง 2 เส้นนี้จะเน้นให้บริการขนส่งตู้สินค้าเป็นหลัก ส่วนรถไฟความเร็วสูงเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวเป็นหลัก
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย