- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Monday, 23 February 2015 21:56
- Hits: 2065
'อาคม' มอบกทพ.สานโครงการหวังต่อยอดความสะดวกเดินทาง
บ้านเมือง : การเดินทางด้วยรถขนส่งโดยสารสาธารณะ หรือรถยนต์ส่วนบุคคลนั้น ปัจจุบันประชาชนก็นิยมใช้บริการทางด่วนพิเศษปริมาณมาก เนื่องจากได้รับความสะดวกสบาย และถือเป็นลดระยะทางในการเดินทางได้เป็นอย่างดี เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางมามอบนโยบายแก่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลโครงการทางพิเศษ วันนี้ "บ้านเมือง" มีคำตอบ
มอบนโยบายสานโครงการ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังมอบนโยบายและตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ว่าสำหรับนโยบายที่มอบหมายให้ กทพ. นั้น จะต้องเร่งดำเนินโครงการทางพิเศษ ซึ่งประกอบด้วย โครงการทางพิเศษสายศรีรัชวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีความคืบหน้ากว่า 40% ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการได้กลางปี 2559 ซึ่งเดิมกำหนดแล้วเสร็จปลายปี 2559 นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่จะเร่งรัดอีกก็คือ โครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา โครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยาพระนครศรีอยุธยา โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี โครงการทางพิเศษในจังหวัดเชียงใหม่ โครงการทางพิเศษในจังหวัดขอนแก่น และ โครงการศึกษาความเป็นไปได้ สำรวจและออกแบบเบื้องต้นทางพิเศษเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ รวมถึงโครงการทางพิเศษ อย่าง โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 N2 N3 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก, โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนองวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก, โครงการทางพิเศษสายกระทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม
รายละเอียดโครงการ
สำหรับ รายละเอียดโครงการดังกล่าวประกอบด้วย โครงการทางพิเศษที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คือโครงการพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ระยะทาง 16.7 กิโลเมตร เป็นทางพิเศษยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร โดยก่อสร้างบนเขตทางรถไฟสายใต้ที่มีอยู่เดิม มีจุดเริ่มต้นจากถนนกาญจนาภิเษก บริเวณใกล้กับโรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์ ก่อสร้างขนานกับรถไฟสายใต้ทางฝั่งด้านเหนือ แนวเส้นทางจะข้ามทางรถไฟมาฝั่งด้านใต้ บริเวณถนนราชพฤกษ์ แล้ววิ่งต่อไปโดยจะเบี่ยงแนวมาทางด้านเหนืออีกครั้งเพื่อหลบสถานีบางบำหรุ และเบี่ยงกลับมาทางด้านใต้ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 6 สิ้นสุดโครงการบริเวณย่านบางซื่อเชื่อมต่อกับทางด่วนพิเศษศรีรัช โดยการทางพิเศษลงนามในสัญญาสัมปทานการลงทุนออกแบบก่อสร้างบริหารจัดการ ให้บริการและบำรุงรักษาบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2555 ระยะเวลาออกแบบ และก่อสร้าง 48 เดือน
ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษานั้น มีจำนวน 8 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 N2 N3 ระยะทาง 40.9 กิโลเมตร ทั้งนี้ การก่อสร้างโครงการดังกล่าวนั้น เพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าขนาดเบา หรือโมโนเรล รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-บึงกุ่ม โครงการของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) 2.โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนองวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก ระยะทาง 16.923 กิโลเมตร ทั้งนี้ เป้าหมายในการก่อสร้างโครงการดังกล่าวเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษให้สามารถรองรับการเดินทางระหว่างพื้นที่ชั้นนอก และพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยแบ่งเบาการจราจรติดขัดบนถนนพระรามที่ 2 และทางพิเศษเฉลิมมหานครช่วงบางโคล่-ดาวคะนองแนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นที่ กม.10+700 ของถนนพระรามที่ 2 ประมาณ 1.5 กิโลเมตร ก่อนถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน โดยเป็นลักษณะทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร สิ้นสุดโครงการโดยเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัชโดยช่วงที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจะก่อสร้างสะพานใหม่ ขนาด 8 ช่อง จราจรขนานอยู่ทางด้านทิศใต้ของสะพานพระราม 9 อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการทางพิเศษได้ส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ฉบับแก้ไข ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา
3. โครงการางพิเศษสายกระทู้ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 3.90 กิโลเมตร ทั้งนี้ เป้าหมายการก่อสร้างนั้น เพื่อการเชื่อมโยงการเดินทางจากตำบลกะทู้ไปยังหาดป่าตอง และแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 4029 พร้อมอำนวยความสะดวกในการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต จุดเริ่มต้นของโครงการเชื่อมกับถนนผังเมืองรวมสาย ก ในพื้นที่ตำบาลป่าตอง อำเภอกะทู้ แนวเส้นทางโครงการเป็นทางยกระดับและอุโมงค์ขนาด 6 ช่องจราจร สำหรับรถยนต์ 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง และช่องจราจรสำหรับรถจักรยานยนต์ 1 ช่องจราจรต่อทิศทาง แนวเส้นทางเริ่มต้นแยกจุดตัดของถนนผังรวมสาย ก ในพื้นที่ตำบลป่าตอง เป็นทางยกระดับข้ามถนนพิศิษฐ์กรณีย์ แล้วจึงเป็นอุโมงค์คลอดเขานาคเกิดหลังจากผ่านช่วงภูเขาจึงเป็นทางยกระดับเชื่อมบริเวณ กม. 0+850 ของทางหลวงหมายเลข 4029 ในพื้นที่ ตำบลกะทู้ ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของโครงการ โดยที่ผ่านการทางพิเศษได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.56 มีระยะเวลาศึกษา 15 เดือน 4.โครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยาพระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 38 กิโลเมตร ซึ่งเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษอุดรรัถยาไปยังภาคกลาง และมีเส้นทางเชื่อมต่อไปยังจังหวัดสระบุร
และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แนวสายทางเบื้องต้นเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร โดยต่อเชื่อมจากพิเศษฉลองรัชที่บริเวณด่านจตุโชติ ตัดกับแนวถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออกแนวสายทางมุ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านจุดตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 305 ถนนรังสิต-นครนายก ไปสิ้นสุดโครงการที่จังหวัดสระบุรี ขณะนี้อยู่ระหว่างการว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรมเศรษฐกิจการเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม 5.โครงการทางพิเศษในจังหวัดเชียงใหม่ 6.โครงการทางพิเศษในจังหวัดขอนแก่น อย่างไรก็ตาม ทั้งโครงพิเศษที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดขอนแก่นนั้น โครงการศึกษาความเป็นไปได้ สำรวจและออกแบบเบื้องต้นทางพิเศษเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นโครงการเร่งรัดรวมถึง โครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยาพระนครศรีอยุธยาด้วย
แผนรองรับเออีซี
ทั้งนี้ การทางพิเศษยังมีโครงการที่มีแผนก่อสร้างเพื่อรับรอง เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรือเออีซีด้วย ซึ่งได้ศึกษาทบทวนและประเมินระดับความพร้อมการดำเนินของ กทพ.เพื่อวางตำแหน่งองค์การอย่างมีกลยุทธ์ในเวทีอาเซียน อีกทั้งกำหนดแนวทางในการพัฒนาองค์การให้มีศักยภาพในการแข่งขันระดับสากลในด้านต่างๆ ตลอดจนดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยการทางพิเศษ จะจัดทำแผนแม่บท และแผนปฏิบัติการ รวมถึงแผนการพัฒนาและบริหารองค์การเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนต่อไป
ภาระกิจเพื่อสังคม
นอกจากนี้ ภารกิจในการแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษแล้ว ที่ผ่านมาการทางพิเศษยังได้ดำเนินโครงการให้กับสังคม โดยการจัดพื้นที่ในเขตทางพิเศษเพื่อทำสวนสาธารณะ ลานกีฬา เส้นลัด โดยการทางพิเศษได้มอบพื้นที่เพื่อสาธารณประโยชน์ไปแล้วกว่า 300,000 ตารางวา และที่ผ่านมายังได้มอบพื้นที่สาธารณะใต้ทางพิเศษอุรุพงษ์ จำนวนกว่า 12ไร่ เพื่อจัดทำลานกีฬาพัฒน์ รวมถึงการจัดทำเส้นทางจักรยานตามแนวเขตทางพิเศษ ทั้งนี้ ยังได้ส่งเสริมการศึกษาแก่เยาวชนโดยการมอบทุนการศึกษาและอุปกรณ์การเรียนในโครงการจักรยานเพื่อเด็กไทย และโครงการกล่องวิเศษรักษ์โลกโดยการรวบรวมกล่อง UHT นำไปรีไซเคิลเป็นโต๊ะ เก้าอี้ นักเรียนโดยมอบให้โรงเรียนที่ยังขาดแคลน รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ ซึ่งเป็นโครงการทางพิเศษคู่ใจสู้ภัยหนาวอีกด้วย นอกจากนี้ ที่ผ่านมา กทพ.ได้ดำเนินการ โครงการทางจักรยานในเขตทางพิเศษ ที่จะเปิดเป็นโครงการนำร่อง ช่วงแรกจากถนนงามวงศ์วาน ถึงถนนสามัคคี ระยะทาง 2.7 กิโลเมตร ถือเป็นทางจักรยานเต็มรูปแบบ ที่ให้บริการครบวงจร ทั้งจุดให้บริการจักรยาน ศูนย์บริการร้านค้า ห้องสุขา จุดต่อรถโดยสารเพื่อเดินทางเข้าเมือง โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปลายเดือนมีนาคม 2558 นี้ หลังจากนั้นก็จะขยายโครงการออกไปจนถึงถนนแจ้งวัฒนะต่อไป