- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Wednesday, 18 February 2015 15:22
- Hits: 1984
จีนพร้อมให้กู้ทำรถไฟคิดดอก 2%
แนวหน้า : พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่าในภาพรวมของการเดินทางไปเจรจากับทางประเทศญี่ปุ่นนั้น ในส่วนของความร่วมมือด้านทางรถไฟ ทางกระทรวงคมนาคมเตรียมจัดคณะทำงานระดับปลัดกระทรวง เป็นผู้แทนในการเจรจาประสานงานกับทางญี่ปุ่น เพื่อเป็นการยืนยันด้านความร่วมมือการพัฒนารถไฟทางคู่ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการให้ข้อมูลไป 3 เส้นทาง ได้แก่ 1.จากพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-จ.ฉะเชิงเทรา จากนั้นจะแยกไป อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และอีกทางจะแยกจากฉะเชิงเทราไป อ.มาบตาพุด จ.ระยอง เส้นทางที่ 2 จาก อ.แม่สอด จ.ตาก-จ.มุกดาหาร และ 3.เส้นทางเชื่อมภาคเหนือ กรุงเทพฯ-จ.เชียงใหม่
รมว.คมนาคมกล่าวอีกว่า ส่วนการเดินทางไปหารือร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีนมีประเด็นสำคัญหลายเรื่องได้แก่ ความร่วมมือด้านการพัฒนารถไฟฯของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งได้มีการยืนยันรูปแบบการบริหารบนความร่วมมือดังกล่าวแบบ G to G และได้มีการแบ่งหน้าที่บริหารรับผิดชอบทางจีนจะรับผิดชอบในส่วนการสำรวจออกแบบ ส่วนไทยจะรับผิดชอบเรื่องการเวนคืนที่ดิน และการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) และในส่วนที่จะรับผิดชอบร่วมกันคือเรื่องการประเมินราคา
ส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้นได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะอยู่ที่ 2% แต่สัดส่วนในการลงทุนยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากจะต้องมีการแบ่งงานออกส่วนๆ ก่อน เพื่อกำหนดว่าไทยและจีนจะมีการแบ่งสัดส่วนการลงทุนกันอย่างไรจึงจะเหมาะสม คาดว่าจะสรุปรายละเอียดรูปแบบการลงทุนได้ในการหารือครั้งหน้า จะมีการเจรจากันอีกครั้งในวันที่ 10-11 มี.ค.นี้ โดยในวันที่ 11 จะประชุมที่ จ.หนองคาย
รัฐเผยรูปแบบลงทุนจีนเป็น EPC
บ้านเมือง : พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการเดินทางไปเยือนประเทศจีนถึงกรณีความร่วมมือก่อสร้างรถไฟทางคู่รางมาตรฐาน เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระหว่างวันที่ 11-13 ก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้หารือเรื่องการลงทุนเบื้องต้นที่สรุปว่าจะใช้รูปแบบ EPC (Engineering Procurement Construction) โดยจีนให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ปลอดหนี้ 4 ปีแรก และให้เวลาชำระหนี้ 20 ปี โดยรัฐบาลไทยเป็นเจ้าของโครงการ จีนรับหน้าที่สำรวจ ออกแบบ จัดหาระบบ และร่วมก่อสร้าง
"ส่วนการเดินทางไปเยือนยังประเทศจีนนั้น มี 2 เรื่องสำคัญ แต่แบ่งเป็น 4 ประเด็น คือการร่วมมือกันทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งยืนยันรูปแบบการร่วมมือกันแบบจีทูจี สำหรับการแบ่งความรับผิดชอบนั้น ในส่วนที่ 1.ของจีนจะรับผิดชอบด้านการสำรวจออกแบบ ส่วนไทยจะรับผิดชอบเรื่องการเวนคืนที่ดิน และส่วนกระทบสิ่งแวดล้อม ส่วนที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันคือการประเมินราคาที่ดิน 2.รูปแบบการลงทุนคือ EPC ซึ่งจะเป็นการจับคู่กัน ทั้งนี้ การเจรจาเรื่องลงทุนนั้น จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 มี.ค.นี้ โดยวันที่ 10 มี.ค. จะมีขึ้นที่กรุงเทพฯ ส่วนวันที่ 11 มี.ค.นั้น จะมีขึ้นที่จังหวัดหนองคาย พร้อมลงพื้นที่สำรวจจุดสำคัญของภาคอีสาน พื้นที่ที่จะพัฒนา รวมถึงพื้นที่ที่จะเชื่อมกับประเทศลาว ทั้งนี้ ในส่วนที่เป็นลักษณะงานเทคนิคพิเศษ อาทิ การเจาะอุโมงค์ เส้นทางทางเลียบเชิงภูเขา และการวางระบบราง สัญญาณนั้น เป็นการดำเนินการของจีน ส่วนการพัฒนาสถานี การบริหารนั้น ไทยเป็นผู้ดำเนินการ นอกจากนี้ ในส่วนของระบบศูนย์ซ่อมนั้น ในช่วงแรกจีนจะเป็นผู้ดำเนินการเรื่องระบบ และจะโอนถ่ายระบบให้เราดำเนินการต่อในช่วงต่อไป ซึ่งจะต้องมีการลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อการทำงานร่วมกัน หรือ MOC เพื่อตกลงกันอีกครั้ง" พล.อ.อ.ประจิน กล่าว
สำหรับ อัตราดอกเบี้ยที่เคยระบุว่าจีนเสนอที่ 2-4% นั้น ยืนยันว่าจีนไม่ได้เสนออัตราดังกล่าว แต่เป็นเรื่องที่ฝ่ายไทยเข้าใจไปเอง ซึ่งจากการหารือในครั้งนี้ได้ตกลงร่วมกันว่าดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 2% เท่านั้น ส่วนจะกู้จากจีนทั้งหมดหรือแค่บางส่วนนั้น ทางนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จะแถลงความชัดเจนในวันที่ 17 ก.พ.นี้
ถกทางคู่ไทย-จีนฉลุยลุ้นกู้ดอกเบี้ย 2%
ไทยโพสต์ : ราชดำเนิน * 'ประจิน' เผยหา รือรถไฟทางคู่ไทยฉลุย ลุ้นรัฐบาลจีนให้กู้ดอกเบี้ย 2% คาด 10-11 มี.ค.สรุปแล้วทางกู้เงินและสัดส่วนลงทุน พร้อมเตรียมลงพื้นที่หนองคายดูที่ตั้งสถานี มี.ค.นี้
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังร่วมเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นร่วมกับคณะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่ง ชาติ (คสช.) ได้ร่วมลงนามใน เอกสาร 2 ฉบับ คือบันทึกแสดง เจตจำนงหรือ MOI (Memoran dum of Intent) เพื่อศึกษาโครง สร้างทางรถไฟพัฒนาระบบรางของ ประเทศญี่ปุ่น หลังจากทางกระ ทรวงคมนาคมให้ข้อมูล 3 เส้นทาง
สำหรับ เส้นทางที่ 1.เส้น ทางแม่สอด-พิษณุโลก-ขอนแก่นมุกดาหาร ระยะทาง 770 กิโล เมตร, 2.เส้นทางพุน้ำร้อน-กาญจน บุรี-กรุงเทพฯ-มาบตาพุด จังหวัดระยอง ระยะทาง 339 กิโลเมตร และ 3.กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 653 กิโลเมตร โดยทางญี่ปุ่นยืนยันจะมาลงทุนร่วมกับไทย เบื้องต้นไทยลงทุนที่เส้นทางเดียว และคาดว่าการลงทุนจะมีลักษณะคล้ายกับการร่วมทุนกับจีน
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวถึงความคืบหน้ารถไฟไทย-จีน ว่า จากการประชุมร่วมของคณะกรรมการร่วมด้านความร่วมมือ ณ กรุงปักกิ่ง ได้ยืนยันรูปแบบความร่วมมือในการบริหารความร่วมมือแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือจีทูจี โดยแบ่งความรับผิดชอบ ได้แก่ ฝ่ายจีนจะสำรวจ ออกแบบ ส่วนฝ่ายไทยรับผิดชอบเรื่องการเวนคืนที่ดิน และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)
"ที่จะรับผิดชอบร่วมกัน คือ การประเมินราคาก่อสร้างของ โครงการ อีกทั้งรูปแบบการลง ทุนจะเป็นแบบรัฐบาลไทยเป็นเจ้าของโครงการ จีนจะออกแบบ จัดหาระบบและก่อสร้าง หรืออีพีซี โดยจะแยกงานในแต่ละส่วน และจับคู่บริษัทไทยกับจีนทำงานร่วมกัน ยกเว้นงานก่อสร้างอุโมงค์ และวางระบบรางและระบบอา ณัติสัญญาณจะต้องให้ทางจีนเป็นผู้ดำเนินการหลัก"พล.อ.อ.ประจิน กล่าว
พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ในวันที่ 10-11 มี.ค.นี้ จะหารือร่วมกันอีกครั้งที่กรุงเทพฯ ถึงสัดส่วนการลงทุนและดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งทางฝ่ายไทยและจีนเจรจากันว่าดอกเบี้ยที่ต้องการอยู่ที่ประมาณ 2% และครั้งที่ 3 นี้จะมีการลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย เพื่อดูพื้นที่สถานี คาดว่าครั้งที่ 3 กระทรวงคมนาคมจะลงนามบันทึกความร่วมมือทำงานร่วมกัน หรือเอ็มโอซีกับจีนอีกครั้ง.