WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

จับตาบทสรุปกรมขนส่งทางรางหลังสหภาพฯ ต้านหวั่นผลกระทบ

      บ้านเมือง ; กระทรวงคมนาคมในฐานะเป็นหน่วยงานกำกับดูแลโครงสร้าง พื้นฐานด้านขนส่งคมนาคม ซึ่งมีบทบาทสำคัญด้านการเดินทางในประเทศไทย และมีการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างประเทศด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแบ่งการรับผิดชอบให้หน่วยงานที่ต้องดูแลด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะระบบราง จึงมีนโยบายที่จะตั้งกรมขนส่งทางรางขึ้นมา แต่ก็มีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจออกมาไม่เห็นด้วยบางประการ กระทรวงคมนาคมจึงต้องทำความเข้าใจ 'วันนี้' บ้านเมืองมีคำตอบ

หูกวางจัดระดมกึ๋น

    นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หัวข้อ "การจัดตั้งกรมขนส่งทางราง" เพื่อนำเสนอที่มา วัตถุประสงค์ และความจำเป็นของการจัดตั้งกรมขนส่งทางราง และการพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางรางในอนาคต โครงสร้างของกรมและขั้นตอนการจัดตั้งกรมขนส่งทางราง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐและกฎหมายที่กำกับดูแล การบริการด้านการขนส่งทางรางในอนาคตให้มีมาตรฐาน ความปลอดภัย มาตรฐานการให้บริการและมาตรฐานด้านการประกอบการขนส่งทางราง ในรูปแบบมาตรฐานเดียวกันที่สากลยอมรับ ประกอบกับขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบรางในหลายเส้นทางทั้งที่อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รัฐบาลจึงมี นโยบายเร่งด่วน กำหนดให้ "แยกบทบาทและภารกิจของหน่วยงานระดับนโยบาย หน่วยงานกำกับดูแล และหน่วยปฏิบัติที่ชัดเจน และจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลระบบราง เพื่อทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานการให้บริการและความปลอดภัย โครงสร้างอัตราค่าบริการที่เป็นธรรม การลงทุน การบำรุงรักษาและการบริหารจัดการซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาระบบรางให้เป็นโครงข่ายหลักของประเทศ" ซึ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการดำเนินการขอจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล สำหรับความคิดเห็นในครั้งนี้กระทรวงคมนาคมจะได้ประมวลเป็นข้อมูลเพื่อปรับปรุงรายละเอียด คำชี้แจงเกี่ยวการจัดตั้งกรมขนส่งทางรางก่อนส่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร. ดำเนินการต่อไป คาดว่าจะมีความชัดเจนในการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางประมาณกลางปี 2558

    "การจัดตั้งกรมขนส่งทางรางนั้นมีประเด็นสำคัญคือ การแยกบทบาทและภารกิจของหน่วยงานระดับนโยบาย หน่วยงานกำกับดูแล และหน่วยปฏิบัติที่ชัดเจน จึงได้มีนโยบายตั้งกรมขนส่งทางรางขึ้นมา เพื่อให้เป็นหน่วยงานกำกับดูแลระบบรางทั้งหมดขึ้นมา ก็เพื่อจะได้เน้นถึงการดูแลทั้ง โครงการก่อสร้าง โครงสร้างอัตราค่าบริการที่เป็นธรรม"

รวบรวมข้อเสนอแนะ

     ขณะที่ นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. กล่าวว่า สนข. จะเร่งดำเนินการรวบรวมข้อมูลข้อเสนอแนะ จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นเสนอกระทรวงคมนาคมภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ สำหรับร่างโครงสร้างของกรมการขนส่งทางรางจะประกอบด้วยสำนักงานเลขานุการ กองกฎหมายและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน กองการก่อสร้าง กองบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน กองมาตรฐานความปลอดภัย กองแผนงาน กองวิจัยและพัฒนา กองมาตรฐานการประกอบกิจการ และศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

สหภาพฯ ขอความชัดเจน

  ทั้งนี้ สำหรับประเด็นดังกล่าวนั้นทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท รถไฟฟ้า รฟท.จำกัด หรือรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงค์นั้นเอง ออกโรงโต้งเพื่อขอความชัดเจนกับกระทรวงคมนาคม นำโดย นายกำพล ทองรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

  กล่าว ถึงการรับฟังความเห็นครั้งนี้นั้นถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งในมุมมองของสหภาพฯ นั้น ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาว่าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงนั้น จะต้องเป็นรูปแบบใดซึ่งจะต้องเป็นรูปธรรมให้ชัดเจน เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และบริษัท รถไฟฟ้า รฟท. จำกัด เกรงว่าจะกระทบต่อการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต

    อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้เดินทางมายืนหนังสือคัดค้านการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางในส่วนที่เป็นการเปลี่ยนแปลงภารกิจและโครงสร้างองค์กร ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ที่กระทรวงคมนาคม เพื่อหวังจะให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้พิจารณา ซึ่งเหตุหลักก็เกรงจะได้รับ ผลกระทบต่อพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน ในส่วนที่เป็นการเปลี่ยนแปลงภารกิจและโครงสร้างองค์กรของ รฟม.หลังจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.ได้เสนอต่อกระทรวงคมนาคมในการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง เพื่อจัดตั้งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลกิจการขนส่งทางราง โดยเห็นว่าควรจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางเพื่อเป็นหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลกิจการขนส่งทางรางเท่านั้น เช่นเดียวกับหน่วยงานกำกับดูแลกิจการด้านอื่นๆ ตามที่รัฐได้จัดตั้งแล้ว เช่น กรมการขนส่งทางบก และเป็นไปตามคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ระบุว่าปรับโครงสร้าง

   การบริหารจัดการในสาขาขนส่งที่มีการแยกบทบาท และภารกิจของหน่วยงานระดับนโยบายหน่วยงานกำกับดูแล และหน่วยปฏิบัติที่ชัดเจน และจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลระบบราง เพื่อทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานการให้บริการและความปลอดภัย

   โครงสร้างอัตราค่าบริการที่เป็นธรรม การลงทุน การบำรุงรักษา และการบริหารจัดการ ซี่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาระบบรางให้เป็นโครงข่ายหลักของประเทศ

   ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยังระบุด้วยว่า โครงสร้างของกรมขนส่งทางรางเบื้องต้นจะมีเจ้าหน้าที่จาก 4 หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องโอนมา และบรรจุข้าราชการใหม่จากหน่วยงานกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โดยล่าสุดผลจากที่ประชุม ครั้งที่ 1/ 2558 เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา มีผลสรุปได้ว่าจะมีการโอนถ่ายโอนอำนาจหน้าที่การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าซึ่งเป็นภารกิจหลักของ รฟม.ไปอยู่ในส่วนอำนวจที่ของกรมขนส่งทางรางด้วยจึงต้องการขอความชัดเจนเนื่องจากแกรงผลกระทบ

  อย่างไรก็ตาม ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าเมื่อมีการพิจารณาแล้ว การจัดตั้งหน่วยงานกรมขนส่งทางราง จะมีบทสรุปอย่างไร

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!