- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Friday, 06 February 2015 22:12
- Hits: 2130
‘ประจิน’ตั้งงบ 1.7 แสนล. พัฒนาราง-ถนนรับ AEC
แนวหน้า : พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2588 ได้เป็นประธานประชุมมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 ของกระทรวงคมนาคม โดยเป็นการหารือเกี่ยวกับงบประมาณการลงทุนเบื้องต้นประจำปี 2559 มีจำนวนทั้งหมด 177,095.16 ล้านบาท โดยเมื่อเปรียบเทียบงบลงทุนในปีงบประมาณ 2558 เพิ่มขึ้นประมาณ 65.56% ซึ่งในส่วนที่เพิ่มมาจะเป็นในส่วนของการพัฒนาระบบราง ทางหลวง ทางหลวงชนบท ในการพัฒนาถนนเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษเข้าสู่เมือง เชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างประเทศรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)
พร้อมกันนี้ได้มีการมอบนโยบายให้ผู้บริหารทุกคนต้องเข้าใจเรื่องแผนงานโครงการร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเท่าเทียมกันและเป็นไปตามวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ 8 ปี ของกระทรวงคมนาคม และการเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินงานตามกรอบปีงบประมาณเพื่อให้มีการดำเนินการต่อไปได้รวดเร็วขึ้น รวมถึงงบการบูรณาการเชื่อมโยงต่างๆ กับหน่วยงานอื่นๆ ต้องมีความชัดเจนและสอดคล้องกันต้องมีการกำหนดแนวทางในการดำเนินโครงการที่ชัดเจน ทั้งนี้ก็ต้องมีการติดตามประเมินผลของการดำเนินงานให้เป็นไปตามตัวชี้วัดที่มีการเสนอด้วย
ประจิน ทำงบรับยุทธศาสตร์ 8 ปี
บ้านเมือง : พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด เพื่อมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณปี 2559 ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เตรียมเสนอของบประมาณที่ 1.77 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ถึง 65% โดยส่วนใหญ่เป็นงบประมาณเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ระยะเวลา 8 ปี (2558-2565) ซึ่งจะมุ่งเน้นที่การพัฒนาระบบรางเป็นหลัก ต่อด้วยการพัฒนาทางหลวงเพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน (AEC)
ส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี สีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง และสีส้ม บางขุนนนท์-พระราม 9 ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ได้นำส่งรายละเอียดมายังกระทรวงคมนาคมแล้วนั้น มั่นใจว่าจะสามารถเสนอไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมนี้ ซึ่งยอมรับว่ามีความล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ประมาณ 2 เดือน เนื่องจากสายสีส้มต้องทำการปรับแบบโดยเบี่ยงเส้นทางจากเดิมผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์เพื่อเชื่อมต่อไปยังศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เปลี่ยนเป็นก่อสร้างตามแนวถนนพระราม 9 โดยใช้สถานีพระราม 9 เป็นจุดเชื่อม ต่อกับสายสีน้ำเงินปัจจุบัน (สายเฉลิมรัชมงคล) ซึ่งต้องดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่ อย่างไรก็ตาม โครงการที่มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจในขณะนี้คือ ความร่วมมือไทย-จีน ก่อสร้างรถไฟทางคู่รางมาตรฐาน (Standard Gauge) เส้นทางหนองคายโคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ซึ่งการทำงานรวดเร็วกว่าแผนที่วางไว้ โดยเริ่มแรกวางแผนว่าไทย-จีนต้องหารือร่วมกัน โดยครั้งสุดท้ายคือวันที่ 11-13 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ และปลายเดือนกุมภาพันธ์จีนจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจเส้นทางทันที จากเดิมที่วางแผนไว้ว่าจะเริ่มสำรวจได้ในเดือนมีนาคม 2558
ขณะเดียวกัน การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แจ้งถึงความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการทางด่วนสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีความคืบหน้ากว่า 40% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการได้กลางปี 2559 ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่กำหนดไว้ กทพ.ร่วมกับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างให้ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้างดำเนินการออกแบบและก่อสร้างโครงการทางด่วนสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอก