กทพ. เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนโครงการทางพิเศษบูรพาวิถี-พัทยา ครั้งสุดท้าย
ณ ศาลาประชาคมแหลมฉบัง ถนนแหลมฉบังสาย 3 ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อนำเสนอผลการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา โดยมีประชาชนเข้าร่วมการประชุมและแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ซึ่งแตกต่างกันออกไป ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนโครงการและฝ่ายที่คัดค้าน ซึ่ง กทพ. จะได้นำผลสรุปของที่ปรึกษามาเป็นข้อมูลในการพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของ กทพ. ต่อไป
นายเลิศศักดิ์ จิงหะรานนท์ รองผู้ว่าการฝ่ายวิชาการ เปิดเผยว่า ตามที่ กทพ. ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายบูรพาวิถี-พัทยา โดยแนวสายทางเป็นทางยกระดับมีจุดเริ่มต้นต่อเชื่อมกับทางพิเศษบูรพาวิถีบริเวณเทศบาลตำบลคลองตำหรุ ยกระดับไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) จนถึงทางเลี่ยงเมืองชลบุรี หลังจากนั้นแนวสายทางจะไปตามแนวเกาะกลางของทางเลี่ยงเมืองชลบุรีไปจนถึงทางแยกต่างระดับข้ามทางรถไฟไปขนานในแนวด้านซ้ายของทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี) ผ่านตำบลหนองข้างคอก ตำบลบางพระ และตำบลเจ้าพระยาสุรศักดิ์ จนกระทั่งผ่านทางเข้าสวนเสือศรีราชา จากนั้น แนวสายทางจะข้ามทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 บริเวณแยกหนองยายบู่ เพื่อไปใช้แนวด้านขวาของทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ซึ่งอยู่ระหว่างทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 โดยมีทางเชื่อมเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบังที่บริเวณตำบลตะเคียนเตี้ย อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จากนั้นแนวสายทางจะตัดผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 36 และสิ้นสุดแนวสายทางโดยบรรจบกับทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ช่วงก่อนเข้าสู่เมืองพัทยา รวมระยะทางประมาณ 68 กิโลเมตร
“กทพ. ขอเรียนให้พี่น้องประชาชนทราบว่า การดำเนินโครงการใด ๆ ของ กทพ. จะต้องเป็นประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวม และเพื่อพัฒนาแก้ไขปัญหาการจราจรของประเทศ โดยยึดถือประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นสำคัญ กทพ. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาการจราจรของประเทศ เมื่อได้ผลการศึกษาและข้อมูลที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็ต้องนำเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาต่อไป” นายเลิศศักดิ์ฯ กล่าวในท้ายที่สุด