WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

เร่งเครื่องรถไฟไทย-จีนหวังต่อยอดเชื่อมโยงการเดินทาง

    บ้านเมือง : กระทรวงคมนาคม ถือเป็นหน่วยงานที่ควบคุมการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ และโครงสร้างพื้นฐานด้านการให้บริการขนส่งสาธารณะทั้งระบบ ซึ่งโครงการรถไฟไทย-จีน ก็เป็นอีกโครงการเมกะโปรเจกต์ ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการหารือร่วมกันระหว่างไทยและจีน วันนี้ 'บ้านเมือง'มีคำตอบความคืบหน้าโครงการ

ไทย-จีนหารือร่วมกัน

    พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายหู จู่ฉาย รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมเป็นประธานการประชุมร่วม ไทย-จีน เพื่อความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 ม.ค.ที่ผ่านมา ภายหลังจากมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือกันไทยกับจีน ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 ระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับจีนเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา จนนำมาสู่การหารือในครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งแรกเบื้องต้น เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถดำเนินงานร่วมกัน ทั้งในการวางแผน อำนวยการ และลงพื้นที่ปฏิบัติการ สำรวจและออกแบบการประมาณการด้านราคาของโครงการ รวมถึงการกำหนดรูปแบบการลงทุนร่วมกัน จะนำไปสู่การก่อสร้างทางในกรอบเวลาที่กำหนด สำหรับโครงการดังกล่าวมีความสำคัญเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เกิดการจ้างงาน มีรายได้ในการจัดเก็บภาษี ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงด้านการคมนาคม จีนกับอาเซียน อำนวยความสะดวกด้านการค้า การท่องเที่ยว

     ขณะที่นายหู จู่ฉาย รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า มีความยินดีที่ได้นำคณะของฝ่ายจีนมาเยือนประเทศไทยเพื่อร่วมประชุมของคณะกรรมการร่วม ไทย-จีน เพื่อความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย เนื่องจากจีนมีประสบการณ์ในการก่อสร้างทางรถไฟและมีเทคนิคที่ก้าวหน้าและทันสมัย สำหรับเป้าหมายของการประชุมในครั้งนี้จะปฏิบัติตามการลงนามความร่วมมือของนายกรัฐมนตรีไทยและจีน ทั้งโครงการความร่วมมือทางรถไฟระหว่างจีนกับไทย ให้เป็นไปตามโรดแม็พ ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าความร่วมมือในโครงการดังกล่าวระหว่างจีนกับไทย จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประเทศอื่นต่อไป

เดินหน้าประชุมที่จีนต้น ก.พ.

   ทั้งนี้ ในการประชุมที่ผ่านมานั้น เป็นการหารือด้านการบริหารจัดการ สำรวจการออกแบบ เลือกรูปแบบการลงทุน ซึ่งในการประชุมได้มีการเห็นชอบร่วมกันเบื้องต้น ส่วนการหาแหล่งเงินทุนจะมีการประชุมร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 11-13 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ประเทศจีน โดยหากได้ข้อสรุปและจะต้องทำแผนโรดแม็พ ก่อนจะเสนอรายละเอียดให้เกิดความชัดเจนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังได้เห็นชอบเรื่องโครงสร้างบริหารงาน โดยระดับรัฐบาลจะมีคณะกรรมการขับเคลื่อน ซึ่งฝ่ายไทยจะมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และจะมีคณะกรรมการขึ้นมาประสานงานร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ในส่วนของด้านการเงินเบื้องต้นจะให้ธนาคารเพื่อการนำเข้าส่งออกแห่งประเทศจีน (เอ็กซิมแบงก์) เป็นผู้รับผิดชอบเจรจาเรื่องเงินลงทุนในโครงการซึ่งจะสรุปรายละเอียดการลงทุน

   "การประชุมดังกล่าวนั้น ก่อนหน้านี้ได้มีการกำหนดว่าภายหลังการประชุมครั้งแรก ระหว่างวันที่ 21-22 ม.ค.58 แล้วเสร็จนั้น ก็จะต้องมีการประชุมเพิ่มอีกคือ ระหว่างวันที่ 11-13 ก.พ.นี้ ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และในวันที่ 23-27 ก.พ.58 ณ ประเทศไทย แต่ด้วยการประชุมมีการสรุปความเห็นตรงกันอยู่หลายเรื่อง ที่ประชุมจึงเสนอให้มีการรวบรัดการประชุมเป็น 11-13 ก.พ.58 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน โดยไม่ต้องประชุมเพิ่มเติมในวันที่ 23-27 ก.พ.ตามที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งในการประชุมในวันที่ 11-13 ก.พ.นี้ จะมีการประชุม อีกครั้ง ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ทั้งนี้ ในการประชุมดังกล่าวจะมีการหารือถึงเงินลงทุน เบื้องต้นมี 3 รูปแบบ ประกอบด้วย รูปแบบที่ 1.การกู้เงินจากจีนในลักษณะผ่อนปรนอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2.กู้โดยรัฐและเอกชนร่วมกัน หรือ PPP และ 3.ลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐต่อรัฐ ซึ่งการพิจารณาขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้และผลตอบแทน รวมถึงการเสนอรายชื่อบริษัทผู้รับเหมาของทั้ง 2 ฝ่าย ก่อนที่จะมีการนัดสรุปรายละเอียดอีกครั้ง ทั้งนี้ หากได้ข้อสรุปทั้งหมดแล้ว ฝ่ายไทยจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เพื่อพิจารณา อย่างไรก็ตาม มีความมั่นใจว่าทางประเทศจีนพร้อมให้ความช่วยเหลือเรื่องแหล่งเงินกู้อย่างแน่นอน"

แจงเส้นทาง 4 ช่วง

   สำหรับ เส้นทางก่อสร้างแบ่งเป็น 4 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯแก่งคอย ระยะทาง 133 กิโลเมตร, ช่วงที่ 2 เส้นทางแก่งคอย-มาบตาพุด 246.5 กิโลเมตร, ช่วงที่ 3 เส้นทางแก่งคอย-นครราชสีมา 138.5 กิโลเมตร และช่วงที่ 4 เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย 355 กิโลเมตร เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการก่อสร้าง และฝ่ายไทยเองก็ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการไว้ 3 ด้าน ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการบูรณาการแผนงานและการดำเนินงาน และคณะอนุกรรมการด้านการเงินและรูปแบบการลงทุน โดยจะมีการสรุปแผนงานทั้งหมดเสร็จสิ้นภายในเดือน ก.ย.58 และคาดว่าจะเริ่มกระบวนการในการก่อสร้างช่วงเดือน ธ.ค.58 แล้วเสร็จทั้งหมดภายใน 2 ปีครึ่ง ในช่วง 1 และช่วง 2 อย่างไรก็ตาม ช่วง 3 และช่วง 4 จะต้องเป็นการเจาะอุโมงค์ ซึ่งประสบการณ์ของประเทศจีนในการเจาะอุโมงค์นั้น ใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่ต่ำกว่า 3 ปี

สนข.จัดเวทีระดมกึ๋น

  โดยที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงนครราชสีมาหนองคาย ภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯหนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย เพื่อนำเสนอให้กลุ่มเป้าหมายทั้งจากหน่วยงานราชการ-รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ และภาคประชาชนภายในจังหวัดนครราชสีมา ได้รับทราบกรอบแนวทางการศึกษาในด้านต่างๆ ทั้งงานการศึกษาความเหมาะสม งานการออกแบบกรอบรายละเอียด และงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนเพื่อนำไปประกอบการศึกษาในขั้นต่อไป

  สำหรับ โครงการศึกษาครั้งนี้ แนวเส้นทางจะผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย เริ่มต้นแนวเส้นทางบริเวณสถานีรถไฟนครราชสีมา และสิ้นสุดโครงการที่บริเวณสถานีรถไฟหนองคาย โดยกำหนดเกณฑ์การออกแบบเบื้องต้นให้เป็นแนวเส้นทางขนานไปกับเส้นทางรถไฟในปัจจุบัน ก่อสร้างเป็นทางอิสระอยู่ภายในเขตทางรถไฟเดิม และจะปรับแนวเส้นทางให้เป็นแนวตรงมากขึ้น โดยเพิ่มรัศมีโค้งในบางบริเวณ เพื่อลดผลกระทบด้านการเวนคืนที่ดินและสามารถรองรับการเดินรถด้วยความเร็วสูงได้ ในอนาคตเส้นทางรถไฟสายนี้จะเชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงสายคุนหมิง-ลาว ที่เมืองเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเชื่อมต่อไปยังเมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน และเมื่อโครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย แล้วเสร็จ และเชื่อมต่อกับช่วงนครราชสีมา-ท่าเรือมาบตาพุด แล้วจะสามารถเติมเต็มโครงข่ายการขนส่งสินค้าและการเดินทางของประชาชนระหว่างกรุงเทพฯ และภาคอีสาน ไปสู่ภาคตะวันออก สนับสนุนการขนส่งสินค้าจากภูมิภาคไปยังท่าเรือแหลมฉบังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในระดับประเทศ และระดับภูมิภาคอาเซียนให้มีศักยภาพมากขึ้น

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!