- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Thursday, 22 January 2015 21:06
- Hits: 2271
สนข. เผยหารือไทย-จีนหาร่วมลงทุนรถไฟทางคู่นัดแรก 21.22 ม.ค.นี้ คาดสรุปรูปแบบได้ต้น ก.พ.
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า การประชุมร่วมไทย-จีนเพื่อความร่วมมือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของไทย ครั้งที่ 1 ระหว่าง วันที่ 21 -22 มกราคมนี้ เป็นการหารือร่วมเป็นครั้งแรก โดยฝ่ายไทยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เป็นประธาน
เบื้องต้นจะมีการหารือถึงแผนการทำงานที่ฝ่ายไทยได้วางไว้ก่อน คือ การแบ่งงานก่อสร้างเป็น 4 ช่วง ระยะทางรวม 873 กิโลเมตร วงเงินเบื้องต้นเกือบ4 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.ช่วงกรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กิโลเมตร2.แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กิโลเมตร
"ฝ่ายไทยมีความเห็นในส่วนของไทย แต่จะรอความเห็นจากฝ่ายจีนด้วยว่าจะลงทุนรูปแบบใด คาดว่าการหารือร่วมไทย-จีนในรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 5-7 กุมภาพันธ์นี้ จะได้ข้อยุติเรื่องรูปแบบการลงทุนได้ชัดเจนขึ้น"นายพีระพล กล่าว
สำหรับ การประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเงินและรูปแบบการลงทุนในโครงการการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน(Standard Gauge) 1.435 เมตร ระหว่างไทย-จีน เส้นทาง หนองคาย-โคราช-แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 734 กม. และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ 133 กม. ที่มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้รับทราบกรอบเวลาการทำงานที่คณะกรรมการบริหารโครงการภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย (คบร.) ที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เป็นประธาน กำหนดเบื้องต้น
โดยรูปแบบการลงทุนนั้นคณะอนุฯด้านการเงิน เห็นว่าควรนำผลการศึกษาโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ) เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย ซึ่งขณะนี้ ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ดำเนินการศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว และผลการศึกษาโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ส่วนต่อขยาย กรุงเทพฯ-ระยอง เป็นข้อมูลเบื้องต้น ในการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ ไทย-จีน ก่อน เนื่องจากแนวเส้นทางและที่ตั้งสถานีของรถไฟความเร็วสูง มีความสอดคล้องกับรถไฟทางคู่ และหลังจากทั้ง 2 ฝ่ายตั้งคณะทำงานลงสำรวจออกแบบในเดือนมีนาคม 2558 จะมีความชัดเจนมากขึ้นว่าจะมีความก่อสร้างเท่าไร รวมถึงการประเมินเรื่องจำนวนผู้โดยสาร เนื่องจากจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อรายได้และการพัฒนาเชิงพาณิชย์
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
ระดมกึ๋นรถไฟทางคู่มาตรฐานสู่เออีซี
บ้านเมือง : นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย เพื่อนำเสนอให้กลุ่มเป้าหมายทั้งจากหน่วยงานราชการรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ และภาคประชาชน ภายในจังหวัดนครราชสีมา ได้รับทราบกรอบแนวทางการศึกษาในด้านต่างๆ ทั้งงานการศึกษาความเหมาะสม งานการออกแบบกรอบรายละเอียด และงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนเพื่อนำไปประกอบการศึกษาในขั้นต่อไป
"รถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคตช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ภายใต้โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคายเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (2552-2559) ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 และนโยบายของคณะรัฐมนตรีปัจจุบัน ซึ่งกำหนดให้เร่งผลักดันให้สามารถดำเนินการก่อสร้างทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน (Standard Gauge) เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านและสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ"
สำหรับ โครงการศึกษาครั้งนี้ แนวเส้นทางจะผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย เริ่มต้นแนวเส้นทางบริเวณสถานีรถไฟนครราชสีมา และสิ้นสุดโครงการที่บริเวณสถานีรถไฟหนองคาย โดยกำหนดเกณฑ์การออกแบบเบื้องต้นให้เป็นแนวเส้นทางขนานไปกับเส้นทางรถไฟในปัจจุบัน ก่อสร้างเป็นทางอิสระอยู่ภายในเขตทางรถไฟเดิม และจะปรับแนวเส้นทางให้เป็นแนวตรงมากขึ้น ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในระดับประเทศ และระดับภูมิภาคอาเซียนให้มีศักยภาพมากขึ้น