- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Saturday, 10 January 2015 00:08
- Hits: 2261
'ประจิน'ถก'ไพรินทร์' หาข้อยุติเช่าที่ร.ฟ.ท.
ไทยโพสต์ : ราชดำเนิน * 'ออมสิน'ชงบอร์ดรถไฟหาข้อสรุปต่อสัญญาเช่าที่ ร.ฟ.ท. ด้าน "ประจิน" เล็งถก "ไพรินทร์-ณรงค์ชัย" หวังยุติข้อขัดแย้ง ด้านสหภาพฯ ขู่ปลุกม็อบต้าน ปตท.
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 13 ม.ค.นี้ จะนำเรื่องสัญญาเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้าหารือในที่ประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท. รวมถึงจะมีการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. คาดว่าจะสามารถตกลงในเรื่องอัตราค่าเช่าได้ที่ 1,200 ล้านบาท ต่อระยะเวลาการเช่า 30 ปี
"ข้อพิจารณาของอัยการ ที่กำหนดช่องทางให้ ร.ฟ.ท.กับ ปตท.เจรจาตกลงเรื่องค่าเช่าให้ได้ข้อยุติภายใน 30 วัน หากไม่มีข้อยุติจะต้องส่งเรื่องต่อให้คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ในที่สุดเรื่องนี้อาจต้องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้ตัดสินชี้ขาดสุดท้าย ซึ่งส่วนตัวยังเชื่อว่าเรื่องนี้น่าจะคุยกับ ปตท.ได้ โดยเฉพาะนายไพรินทร์ เพราะ ปตท.ถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์ที่มีรายได้มากมายเมื่อเทียบกับ ร.ฟ.ท." นายออมสินกล่าว
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวต้องหารือกับประธานบอร์ด ร.ฟ.ท. นายไพรินทร์ และนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน ก่อนว่า ในรายละเอียดข้อตกลงเป็นอย่างไร เพราะเชื่อว่าทั้ง ร.ฟ.ท. และ ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจเหมือน กัน สามารถจะพูดคุยกันได้ เพราะรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ใช่พรรคร่วมรัฐบาลเหมือนในอดีต ดังนั้น จะเร่งคุยเรื่องนี้เพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็วที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สหภาพ แรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.ร.ฟ.ท.) ได้ออกแถลงการณ์รวมพลังปกป้องผลประโยชน์ของการรถไฟฯ กรณี ปตท.ยังเดินหน้าโกงค่าเช่าที่ดิน ระบุถึงหนังสือตอบกลับข้อหารือจากสำนักงานอัยการสูงสุด ที่มีเนื้อหาเข้าข้างและเอื้อประโยชน์ให้ ปตท.ทุกรูปแบบ และอ้างว่า ปตท.มีสิทธิได้ต่อสัญญาอีก 30 ปีโดยไม่มีค่าเช่าและค่าตอบแทนใด ทาง สร.ร.ฟ.ท.เห็นว่า มีขบวนการโกงกินที่ดิน ร.ฟ.ท. เป็นการปล้นที่ดินให้ตกไปเป็นทรัพย์สมบัติของนายทุนอย่าง ปตท. ทั้งที่ ปตท.ถูกแปรรูปโดย พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ 2542 จึงไม่มีสถานะความเป็นหน่วยงานของรัฐอีกต่อไป แต่เป็นของนายทุนทั้งในและนอกประเทศ จึงไม่มีสิทธิอ้างความชอบธรรมที่จะใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินของรัฐฟรีๆ อีกต่อไป.