- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Thursday, 08 January 2015 00:36
- Hits: 2182
เจ้าท่าฯขอ 50 ล.ศึกษาอีเอชไอเอท่าเรือปากบารา
ไทยโพสต์ : คมนาคม * นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ท่าเรือสงขลา 2 ว่า ได้ยื่นของบจำนวน 50 ล้านบาท จากกระทรวงคมนาคม เพื่อนำมาจัดทำโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนในพื้นที่ ก่อนศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวด ล้อมและสุขภาพ หรืออีเอชไอเอ คาดว่าหลังได้ข้อสรุปแล้วจะสามารถเริ่มก่อสร้างโครงการได้ในปี 2561 แล้วเสร็จปี 2565
"ในช่วง 3-4 ปีโครงการไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ก็ไม่ควรที่จะสร้างอีกต่อไป เพราะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งถ้าเริ่มก่อสร้างปี 2561 จะทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีก 20% จากปัจจุบันใช้งบก่อสร้าง 28,000 ล้านบาท" นายจุฬากล่าว
สำหรับ แผนดำเนินโครง การโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่งทางน้ำ ปี 2558 วงเงินรวม 2,200 ล้านบาท แบ่งเป็นการพัฒนาท่าเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 17 แห่ง วงเงิน 70 ล้านบาท โดยเอาแนวคิดการใช้พื้นที่ของ สถานีรถไฟฟ้ามาปรับปรุงและจะกำหนดให้ภาคเอกชนสามารถมีสิทธิ์เข้ามาบริหารและหารายได้เชิงพาณิชย์จากพื้นที่ได้ ซึ่งบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยามีความสนใจที่จะเข้าดำเนินการ แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมธนารักษ์ หากกรมธนารักษ์เห็นชอบท่าเรือแรกที่จะดำเนินการจะเป็นท่าเรือปิ่นเกล้า อย่างไรก็ตาม ในปีนี้คาดว่าจะดำเนินการปรับปรุงได้แล้วเสร็จจำนวน 8 ท่า วงเงิน 14 ล้านบาท.
กรมเจ้าท่า เล็งของบกลาง 50 ลบ.ศึกษาผลกระทบก่อสร้างท่าเรือปากบารา
นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ว่า ขณะนี้ได้เสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณกลางปี 2558 จำนวน 50 ล้านบาทเพื่อทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ โดยจะมีการศึกษาผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม ในภาพรวมของพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบ โดยคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 10 เดือน จากนั้นจะเดินหน้าของบประมาณปี 2559 เพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EHIA) พร้อมกับทบทวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ผ่านการประเมินแล้วอีกครั้งในบางประเด็นวงเงินประมาณ 118 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตามแผนล่าสุดคาดว่าจะศึกษาผลกระทบทุกด้านแล้วเสร็จในปี 60 และเริ่มก่อสร้างได้ในปี 61 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี เปิดให้บริการในปี 65 โดยหากล่าช้ากว่านี้ อาจจะต้องพิจารณายกเลิกโครงการ เนื่องจากตามยุทธศาสตร์แล้วจะไม่มีเอกชนสนใจเข้ามารับบริหารท่าเรือปากบารา และหากก่อสร้างล่าช้ากว่านั้น จะเป็นการลงทุนที่สูญเปล่าได้ เพราะหันไปลงทุนบริหารท่าเรือมาเลเซีย ที่มีความชัดเจนมากกว่าพร้อมทั้งดึงลูกค้าและสายเดินเรือไปหมดแล้ว โดยปัจจุบันปริมาณสินค้าในพื้นที่ภาคใต้มีกว่า 8 แสนตู้ต่อปี ต้องขนส่งโดยรถยนต์และรถไฟไปใช้ท่าเรือปีนังของมาเลเซีย หากไทยมีท่าเรือปากบาราจะช่วงชิงด้านการตลาดได้เพราะจะลดต้นทุนด้านการขนส่งให้ผู้ส่งออก เนื่องจากระยะทางสั้นกว่าประมาณ 100-200 กม.
"ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้กังวลที่ตัวท่าเรือปากบาราโดยตรงแต่กังวลเรื่องนิคมอุตสาหกรรมที่ตามมาว่าจะอยู่ตรงไหน ซึ่งการศึกษาภาพรวมผลกระทบเชิงพื้นที่รวมของทั้งภาคใต้จะช่วยให้รัฐบาลตอบคำถามและทำความเข้าใจกับประชาชนได้ส่วนการถมทะเลนั้นมีการศึกษาEIA ทั้งระหว่างก่อสร้างและเมื่อท่าเรือเปิดให้บริการไว้แล้ว"
อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวถึงนโยบายการดำเนินงานประจำปี 58 ว่า จะดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ที่จังหวัดกระบี่เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำ โดยภายในปี 2558 จะทำการศึกษาออกแบบ และการปรับปรุงโป๊ะในแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 17 แห่ง วงเงิน 70 ล้านบาท โดยในปี 2558 จะดำเนินการจำนวน 8 แห่ง วงเงิน 14 ล้านบาท ประกอบด้วย ท่าเรือสมุทรปราการหน้าสำนักงานเจ้าท่าสมุทรปราการ และบริเวณหน้าตลาดสดวิบูลย์ศรี, ท่าเรือ สุขสวัสดิ์ 53, ท่าเรือวัดบางกระสอบ, ท่าเรือถนนตก, ท่าเรือสี่พระยา, ท่าเรือสะพานพระราม 8 ฝั่งพระนคร และท่าเรือพิบูลย์สงคราม 1
อินโฟเควสท์