WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

'ประจิน'เร่งดันเมกะโปรเจกต์หวังสร้างความสะดวกด้านระบบสาธารณะ

                        บ้านเมือง : นันทภัค เมนัช/รายงาน

     กระทรวงคมนาคม ถือเป็นหน่วยงานหลักที่เป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า รถไฟฟ้าทางคู่ ทางด่วน ถนน ท่าเทียบเรือ และท่าอากาศยาน ทั้งหมดถือเป็นหัวใจหลักด้านการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้า วันนี้ "บ้านเมือง" ขอนำเสนอโครงการรถไฟฟ้าที่หลายฝ่ายตั้งตารอว่าจะมีความชัดเจนมากน้อยเพียงใด

เดินหน้าเมกะโปรเจกต์

      พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าว่า กระทรวงคมนาคม ได้มีการผลักดันโครงการรถไฟฟ้าที่ยังล่าช้าอยู่ ซึ่งแผนเร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าสาย สีส้ม โดยแบ่งเป็นลักษณะ 2 ช่วง คือ ช่วงสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ-สุวินทวงศ์ และช่วงสถานีบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม ซึ่งที่ผ่านมารายละเอียดโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มได้นำเสนอเรื่องมาที่กระทรวงคมนาคมเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ส่วนสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-บางกะปิ-สำโรง และสายสีชมพู ช่วงแครายมีนบุรีนั้น ตั้งเป้าว่าจะสามารถเสนอต่อ ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อสร้างได้ประมาณ กลางปี 2558 สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ งานก่อสร้างคืบหน้า 96% แล้ว ซึ่งคณะกรรมการ (บอร์ด) ได้กำหนดการเปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 สิงหาคม 2559 ซึ่งจะเร็วกว่ากำหนดเดิมที่จะเปิดการเดินรถอย่างเป็นทางการในปลายปี 2559

สายสีเขียวเหนือประกวดราคา

      อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ทำการเปิดข้อเสนอราคาการประกวดราคางานโยธาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ทั้ง 4 สัญญา วงเงินประมาณ 29,109 ล้านบาท โดยสัญญาที่ 1 การก่อสร้างงานโยธา ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 12 กิโลเมตร วงเงิน 15,423 ล้านบาท ปรากฏว่า บริษัท อิตาเลียนไทย ดิเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 15,279,993,327.35 บาท ขณะที่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เสนอที่ 15,550,000,000.00 บาท บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เสนอที่ 15,570,004,680.24 บาท กลุ่ม UN-SH-CH Joint Venture (บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ, SINOHYDRO CORPORATION LIMITED , CHINA HARBOUR ENGINEERING COMPANY LIMITED) เสนอที่ 15,410,000,000.00 บาท

    สัญญาที่ 2 การก่อสร้างงานโยธา ช่วงสะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร วงเงิน 6,738 ล้านบาท ปรากฏว่ากลุ่ม UN-SH-CH Joint Venture เสนอราคาต่ำสุดที่ 6,729,000,000.00 บาท CK เสนอที่ 6,890,000,000.00 บาท STEC เสนอที่ 6,912,746,267.81 บาท และ ITD เสนอที่ 6,740,017,267.77 บาท สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร วงเงิน 4,079 ล้านบาท ปรากฏว่ากลุ่ม STEC-AS-3 JOINT VENTURE (STEC, A.S.ASSOCIATED ENGINEERING (1964) COMPANY LIMITED) เสนอราคาต่ำสุดที่ 4,042,036,844.95 บาท CK เสนอที่ 4,210,000,000.00 บาท ITD เสนอที่ 4,220,018,892.92 บาท และกลุ่ม UN-SH-CH Joint Venture เสนอที่ 4,250,000,000.00 บาท สัญญาที่ 4 งานจ้างออกแบบควบคุมการก่อสร้างระบบราง วงเงิน 2,869 ล้านบาท ปรากฏว่ากลุ่ม STEC-AS-4 JOINT VENTURE เสนอราคาต่ำสุดที่ 2,842,772,830.43 บาท CK เสนอ 2,950,003,336.25 บาท ITD เสนอ 2,860,000,000.00 บาท และกลุ่ม UN-SH-CH Joint Venture เสนอ 3,020,024,909.87 บาท

    ทั้งนี้ จากการเปิดข้อเสนอราคาดังกล่าวพบว่า ITD เสนอราคาต่ำสุด 1 สัญญา คือ สัญญาที่ 1 ขณะที่ UNIQ เสนอต่ำสุด 1 สัญญา คือ สัญญาที่ 2 และ STEC เสนอต่ำสุด 2 สัญญา คือสัญญาที่ 3-4 ส่วน CK มิได้เสนอราคาต่ำสุดในสัญญาใดเลย ขณะที่นายสัจจพงศ์ สนั่นเสียง รองผู้ว่า รฟม. (ปฏิบัติการ) ในฐานะประธานคณะกรรมการประกวดราคาฯ ระบุว่า ขั้นตอนจากนี้ คณะกรรมการประกวดราคาฯ จะไปพิจารณาความถูกต้องของราคาที่แต่ละรายเสนอ และสามารถสรุปได้ว่ารายใดเป็นผู้ได้รับงาน จากนั้นในเดือนมกราคม 2558 จะเชิญผู้ที่ได้รับงานแต่ละสัญญามาเจรจาเพื่อปรับราคา โดยจะพยายามให้อยู่ในกรอบราคาที่ รฟม.กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสามารถสรุปผลประกวดราคาเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 จากนั้นจะรายงานต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้รับทราบต่อไป โดย รฟม.คาดว่าจะสามารถลงนามกับผู้รับงานทั้ง 4 สัญญาได้ภายในเดือนเมษายน-พฤษภาคม และเริ่มงานก่อสร้างในเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1,350 วัน

สายสีน้ำเงินเปิดแน่ปี 2562

    ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สัญญา 2 ช่วงสถานีสนามไชย-สถานีท่าพระ ที่สถานที่ก่อสร้างสถานีสนามไชยนั้น พล.อ.อ.ประจิน ระบุว่า การเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดแม่น้ำเจ้าพระยา โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งใช้ระยะเวลาในการเจาะอุโมงค์ประมาณ 2 เดือน โดยเริ่มตั้งเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นการเจาะอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกเชื่อมฝั่งตะวันตก ระยะทาง 2.3 กิโลเมตร เป็นช่วงลอดแม่น้ำ 1.2 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม คาดว่าเส้นทางดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2558 เพื่อจะทำการเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินฝั่งตะวันออกเพื่อดำเนินการเดินรถต่อไป ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนั้นเป็นไปตามแผนที่กำหนด สำหรับขั้นตอนการเปิดให้บริษัทที่สนใจยื่นข้อเสนอเดินรถนั้น ขณะนี้มอบให้นายรณชิต แย้มสะอาด รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะรักษาการผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดำเนินการตามขั้นตอนโดยกำหนดตามหลักการคือ การเดินรถต่อเนื่อง โดยจะต้องไม่เป็นภาระแก่ประชาชน รวมถึงประชาชนจะต้องได้ประโยชน์ในการใช้บริการ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา รฟม.ได้มีการตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 13 เพื่อพิจารณารายละเอียดแล้ว       คาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 นี้ จะได้ข้อสรุปบริษัทเดินรถ โดยเป็นลักษณะเปิดกว้างไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นบริษัทที่ให้บริการรายเดิม ทั้งนี้ การพิจารณาดังกล่าวนั้นจะต้องดูการต่อเชื่อมแบบต่อเนื่องเป็นหลัก ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนั้น ขณะนี้มีความคืบหน้าประมาณ 70% ซึ่งถือว่าเป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2559 และจากนั้นจะทำการทดสอบการเดินรถประมาณ 6 เดือน อย่างไรก็ตาม การเปิดเดินรถทั้งระบบนั้นในเดือนเมษายน 2562

    "ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ นั้น บอร์ดได้เร่งให้ให้ทางคณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 เร่งหาข้อสรุปในการเดินรถซึ่งต้องมีการเดินรถต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับงานก่อสร้างงานโยธาที่คืบหน้าไปตามแผนงาน และหากงานโยธาแล้วเสร็จ แต่ยังไม่สามารถเปิดเดินรถได้ รฟม.จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในการดูแลสภาพทางของงานโยธา โดยไม่เกิดประโยชน์ใดๆ"

คืบหน้าโครงการทางคู่

     สำหรับ ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าทางคู่ ขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทางประมาณ 734 กิโลเมตร และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน เข้ามีส่วนร่วมดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 ภายหลังที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบกรอบความตกลงนั้น หากการลงนามแล้วเสร็จกระทรวงคมนาคมก็จะจัดตั้งคณะทำงานในส่วนของกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานเกี่ยวข้อง ให้แล้วเสร็จภายเดือน ม.ค.58

    นอกจากนี้ ยังมีความคืบหน้าการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และช่วงบุใหญ่-แก่งคอย พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง (Chord Lines) 3 แห่งวงเงิน 11,348.35 ล้านบาท ว่า ภายในเดือนธันวาคมนี้ รฟท.จะส่งหนังสือแจ้งไปยังสำงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่ากรมบัญชีกลางได้ตอบกลับมาแล้วว่าการที่ รฟท.กำหนดร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) ให้รวมรายการค่าเครื่องจักรไว้กับงานก่อสร้างนั้น ทางกรมบัญชีกลางไม่มีระเบียบข้อห้ามในเรื่องดังกล่าว ดังนั้น รฟท.จึงสามารถดำเนินการได้ แต่ต้องอธิบายรายละเอียดที่มาของราคากลางในส่วนของเครื่องจักรให้ชัดเจน เพื่อความรอบคอบ ทั้งนี้ หาก สตง.ไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นและไม่มีข้อสงสัยเพิ่มเติม รฟท.ก็พร้อมจะเปิดแข่งขันราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออคชั่น) ทันที โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนมกราคม 2558 ซึ่งมีผู้รับเหมาที่เตรียมแข่งเสนอราคาอี-ออคชั่น มีทั้งหมด 6 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD 2.บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ร่วมกับบริษัท ช.ทวีก่อสร้าง จำกัด 3.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC 4.บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ 5.บริษัท ทิพากร จำกัด ร่วมกับ บริษัทไชน่าฮาร์เบอร์ จากประเทศจีน และ 6.บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา พล.อ.อ.ประจิน ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมความคืบหน้างานก่อสร้างโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต พร้อมทั้งระบุถึงความคืบหน้าการปรับแบบสถานีกลางบางซื่อว่า ล่าสุดกระทรวงคมนาคมเตรียมส่งรายละเอียดให้คณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) พิจารณา และคาดว่าจะสามารถเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือนมกราคม 2558

      โดยการปรับแบบดังกล่าวจะทำให้วงเงินก่อสร้างเพิ่มขึ้นรวม 8,140 ล้านบาท แบ่งเป็นสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ และอาคารซ่อมบำรุง วงเงิน 29,826 ล้านบาท ที่มีกลุ่มกิจการร่วมค้า SU (STEC และ UNIQ) เป็นผู้รับงาน ราคาเพิ่มขึ้น 4,315 ล้านบาท สัญญาที่ 2 งานโยธาสำหรับทางรถไฟช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 21 กิโลเมตร วงเงิน 21,235 ล้านบาท ที่มี ITD เป็นผู้รับงาน ราคาเพิ่มขึ้น 3,352 ล้านบาท สัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่-ตลิ่งชัน มูลค่า 27,926 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการต่อรองราคากับกลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC Consortium (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation) ราคาเพิ่มขึ้นอีก 473 ล้านบาท และหลังจากได้รับความเห็นชอบให้ปรับแบบแล้ว รฟท.ต้องมาปรับแผนการทำงานใหม่ ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่างานก่อสร้างจะล่าช้าออกไปอีก 2 ปี จากแผนเดิมคือเปิดให้บริการปี 2560 เป็นปี 2562

ผลักดันตั้งกรมราง

     ด้านนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ที่ผ่านมาได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อประชุมติดตามความคืบหน้าการขอจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง ร่วมกับผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยได้มอบหมายให้ สนข.ไปหารือร่วมกับ ก.พ.ร.เพื่อดำเนินขั้นตอนการจัดตั้งหน่วยงานราชการใหม่ รวมทั้งระบุภารกิจของกรมขนส่งทางรางให้ชัดเจน โดยกรมขนส่งทางรางนั้น จะมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลงานระบบรางทั้งหมดทั้งรถไฟธรรมดาและรถไฟฟ้า รับผิดชอบการประกวดราคาก่อสร้าง และงานซ่อมบำรุง ขณะที่ รฟท.กับ รฟม.จะเหลือแค่รับผิดชอบงานเดินรถเท่านั้น แต่หลังการจัดตั้งกรมขนส่งทางรางแล้ว ในช่วงแรกภารกิจจะยังคาบเกี่ยวกับ รฟท.และ รฟม. ซึ่งต้องใช้เวลาในการถ่ายโอนประมาณ 3-5 ปี จึงต้องการกำหนดกฎหมายบทเฉพาะกาลขึ้นมาดูแล พร้อมได้มอบหมายให้ รฟท.และ รฟม.ไปพิจารณารายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอน เช่น กำลังคน และทรัพย์สิน ที่ต้องมีการโยกย้ายบางส่วนมายังกรมขนส่งทางราง รวมทั้งต้องพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย ส่วนภาระหนี้สินนั้นมีความชัดเจนว่า รฟท.และ รฟม.ต้องรับภาระเองต่อไป

     "ที่ผ่านมาถือว่ามี 2-3 เรื่องที่ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาให้เสร็จสิ้น โดยจะต้องสรุปออกมาว่าจะมีความชัดเจนอย่างไร กรมขนส่งทางรางจะมีภารกิจแบบไหน อย่างไรถามว่าการตั้งกรมขนส่งทางรางนี้ จะได้ประโยชน์อะไร สิ่งที่ได้คือการทำงาน การลงทุนก่อสร้างจะมีความรวดเร็วมากขึ้น เพราะจัดสรรงบประมาณง่าย หากให้แต่ละหน่วยงานทำเองก็จะล่าช้าอย่างที่เห็นชัด คือ การก่อสร้างรถไฟทางคู่ ที่ควรประมูลมาตั้งแต่ปี 2553 แต่ตอนนี้ปี 2557 เพิ่งเริ่มประมูลได้สายทางเดียว เป็นเพราะปัญหาการจัดสรรงบประมาณที่ รฟท.มีภาระหนี้อยู่มาก พอจะลงทุนอะไรก็ลำบาก หลังจากได้ข้อยุติรูปแบบและภารกิจของกรมขนส่งทางรางแล้ว จะต้องนำเสนอให้มีการประชุมคณะกรรมการระดับกระทรวง โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก.พ.ร. เพื่อสรุปการจัดตั้งกรมขนส่งทางและดำเนินการจัดตั้งตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป ซึ่ง พล.อ.อ.ประจิน เคยให้นโยบายไว้แล้วว่าการจัดตั้งกรมใหม่ต้องเสร็จสิ้นภายเดือนมิถุนายน 2558"

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!