- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Sunday, 04 January 2015 19:16
- Hits: 2371
เปิดแผนพัฒนาเขต ศก.พิเศษคมนาคมเร่งผลักดันเตรียมรับเออีซี
บ้านเมือง : นันทภัค เมนัช /รายงาน
ตามนโยบายรัฐบาลที่ได้มีการผลักดันการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเป็นการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เพื่อเชื่อมต่อการค้ากับประเทศเพื่อบ้าน โดยจะมีการเปิดอย่างเป็นทางการในช่วงปี 2558 กระทรวงคมนาคมถือเป็นอีกกระทรวงหลักที่ดูแลเรื่องของด่านการค้าชายแดน ซึ่งที่ผ่านมาได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการพัฒนาเพื่อรองรับ วันนี้ "บ้านเมือง" มีคำตอบ
เร่งเครื่องเศรษฐกิจพิเศษ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุม เรื่องเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ว่าตามที่คณะอนุกรรมการโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร ในคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ได้กำหนดให้ 5 พื้นที่ชายแดน ได้แก่ 1.อ.แม่สอด จ.ตาก 2.อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 3.พื้นที่ชายแดน จ.ตราด 4.พื้นที่ชายแดน จ.มุกดาหาร และ 5.อ.สะเดา จ.สงขลา (ด่านศุลกากรสะเดาและปาดังเบซาร์) เป็นตัวแทนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะพัฒนาในระยะแรก ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้ประชุมเพื่อพิจารณาการดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวจำนวน 2 ครั้ง ที่ผ่านมาได้ประชุมเพื่อติดตามผลและแก้ไขปัญหาการดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีรายละเอียดดังนี้
สำหรับ โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ด่านศุลกากร การบริหารจัดการด่านชายแดน นิคมอุตสาหกรรม และระบบสาธารณูปโภค (ชลประทาน ประปา ไฟฟ้า) เพื่อให้มีประสิทธิภาพและสามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายหลักของประเทศ รวมถึงบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความสะดวกในการขนส่งสินค้า และการเดินทางข้ามพรมแดน อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งทางถนน ทางน้ำ และทางอากาศ ให้เชื่อมโยงโครงข่ายหลักของประเทศ ประกอบด้วยปรับปรุงขยายท่าอากาศยานแม่สอด จ.ตาก การก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 12 ตาก-แม่สอด ตอน 4 สะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 2 การออกแบบขยายทางหลวงให้เป็น 4 ช่องจราจร ในเส้นทางอรัญประเทศชายแดนไทย/กัมพูชา (หนองเอี่ยน-สตึงบท) ทางหลวงหมายเลข 3 ตราดหาดเล็ก ตอน 2 พิจารณาแนวเส้นทางใหม่ของทางหลวงหมายเลข 12 กาฬสินธุ์-นาไคร้-อ.คำชะอี ตอน 1 การดำเนินงาน ท่าเรือสงขลา แห่งที่ 2 เส้นทางถนนและรถไฟจากปากบารา-ท่าเรือสงขลา แห่งที่ 2 รวมทั้งมอบให้กรมทางหลวงเร่งศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการมอเตอร์เวย์สายสะเดาหาดใหญ่
ยกระดับขนส่งชายแดน ขณะที่นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประชุมคณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร ระบุว่า ที่ประชุมฯ ได้สรุปแนวทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน 5 เขตเศรษฐกิจพิเศษ 6 ด่านชายแดนระยะเร่งด่วนแล้ว โดยเบื้องต้นมีกรอบงบประมาณใช้สร้างถนน สนามบิน ทางรถไฟ ในส่วนกระทรวงคมนาคมประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาความแออัด และเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าตามด่านชายแดน รวมถึงได้เห็นชอบแผนพัฒนาด่านศุลกากรและพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของกรมศุลกากร และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศอีกหลายโครงการ
"ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้นำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ และกรอบการใช้งบประมาณ เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาแล้ว หากผ่านการเห็นชอบจะเสนอให้ที่ประชุมประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อนุมัติโครงการต่อไป"
สำหรับ แนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก จะเสนอให้ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 ช่วงปี 59-61 วงเงิน 3,600 ล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางไทย-เมียนมาร์ ส่วนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เร่งรัดปรับปรุงทางช่วงคลองสิบเก้า-ฉะเชิงเทรา-คลองลึก ระยะทาง 200 กม.อยู่แล้ว คาดจะเสร็จในปี 59 และยังมีแผนเชื่อมต่อการเดินรถไฟไปถึงกัมพูชาผ่านเส้นทางปอยเปต-ศรีโสภณ-พนมเปญ ขณะที่การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตราด จะของบประมาณ 900 ล้านบาท การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดมุกดาหาร จะของบปี 59 วงเงิน 5,400 ล้านบาท เพื่อขยายทางหลวงเป็น 4 ช่องจราจร ตามเส้นทางทางหลวงระหว่างประเทศจากตะวันออกไปตะวันตก และทางหลวง 12 บ.นาไคร้-คำชะอี ขณะเดียวกันจะของบ 59 ล้านบาท ด้านการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดา จ.สงขลา บริเวณด่านศุลกากรสะเดาและด่านปาดังเบซาร์ จะของบประมาณปี 60 วงเงิน 23,900 ล้านบาท
ตั้งแม่สอดนำร่อง นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวยังมีความคืบหน้าในส่วนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ว่าเสนอให้เทศบาลตำบลแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นพื้นที่นำร่องการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ภายใต้ชื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนนครแม่สอด โดยนครแม่สอดแห่งนี้จะมีการจัดระเบียบบริหารแบบใหม่ รวมทั้งจะมีการให้อำนาจในการอนุมัติออกใบอนุญาตต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการตั้งธุรกิจและโรงงาน
"เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดนี้จะกำหนดการบริหารจัดการหรือโซนนิ่งพื้นที่อย่างชัดเจน ไม่ใช่การประกาศครอบคลุมทั้งอำเภอ แต่เลือกเฉพาะตำบลที่มีการใช้พื้นที่ โดยหลังจากนี้กระทรวงมหาดไทยจะนำร่างกฎหมายตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนส่งกลับไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอีกครั้ง เพื่อส่งกลับมาที่ ครม. และส่งไปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาและประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับยอดรวมการขายหรือเช่าที่ดินนิคมฯ ในสังกัด กนอ.ในปีนี้คาดว่าจะมียอดขายรวม 3,900 ไร่ มูลค่ารวม 4,950 ล้านบาท จากเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้เพียง 3,500 ไร่ และในปี 2558 ได้ตั้งเป้ายอดขาย 4,000 ไร่ คาดว่าจะมีรายได้รวมกว่า 5,200 ล้านบาท และ กนอ.จะมีการส่งเสริมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ๆ ให้ได้ 10 นิคมฯ รวมทั้งจะมีการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมภายใต้กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 7 กลุ่ม ได้แก่ 1.นิคมอุตสาหกรรมยางพารา ที่ จ.สงขลา 2.นิคมฯ อากาศยานและศูนย์ซ่อมอากาศยาน จ.นครราชสีมา 3.นิคมฯ บริการเพิ่มรองรับอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงครบวงจร โดยจะประกาศเชิญชวนเอกชนเสนอพื้นที่ใน จ.สมุทรปราการ และปทุมธานี 4.นิคมฯ บริการการขนส่ง 5.นิคมฯ บริการเพื่อรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ 6.นิคมฯ ด้านสิ่งแวดล้อมหรือพลังงาน และ 7.นิคมฯ ป้องกันประเทศ
สำหรับ ธุรกิจที่ได้รับอนุญาต ได้แก่ ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่มและบริษัทคู่ค้า 25 ราย มีเงินลงทุน 1,672 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นบริการให้กู้ยืมเงินบริการด้านการตลาด บริการจัดหาและติดตั้งเครื่องจักร และบริการรับจ้างผลิตเป็นต้น ส่วนประเทศที่ได้รับอนุญาตได้แก่ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ จีน ไอร์แลนด์ ไต้หวัน สวีเดน และเยอรมนี
ส่วนในเดือน ต.ค.57 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลงจากเดือนก่อน 21% และเงินลงทุนลดลง 41,793 ล้านบาท เพราะในเดือน ก.ย.57 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจบริการทางการเงินอื่น ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ขณะที่ในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปีนี้ คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยแล้ว 354 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 60,142ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าจำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้น 7%และเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 44,543 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีสาระสำคัญเรื่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประกอบด้วย 1.เขตพิเศษ คือพื้นที่เฉพาะที่กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมสนับสนุน อำนวยความสะดวก รวมทั้งให้สิทธิพิเศษบางประการในการดำเนินกิจการต่างๆ ภายในเขตพื้นที่ เช่น การอุตสาหกรรม การเกษตรกรรม พาณิชยกรรม การท่องเที่ยว การบริหาร หรือการอื่นใด และยังเป็นการพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการที่ดี 2.ให้มีคณะกรรมการนโยบายเขตพิเศษ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะนโยบายเขตพิเศษและการตั้งเขตพิเศษแต่ละแห่งต่อคณะรัฐมนตรี รวมทั้งกำกับดูแลการดำเนินการของเขตพิเศษให้เป็นไปตามนโยบาย โดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพิเศษ ซึ่งมีสถานะเป็นองค์การมหาชน ทำหน้าที่ศึกษาถึงรายละเอียดที่จะตั้งเขตพิเศษ รวมทั้งเป็นฝ่ายวิชาการและธุรการให้คณะกรรมการ นโยบายฯ 3.กำหนดให้มีกระบวนการจัดตั้งเขตพิเศษ การบริหารจัดการเขตพิเศษแต่ละเขตรายได้และอำนาจหน้าที่ของเขตพิเศษ
4.เขตพิเศษอาจได้มาซึ่งที่ดิน/อสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ในการดำเนินงานโดยจัดหาเอง เช่น ซื้อ เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน เช่าระยะยาว เวนคืน ให้เอกชนนำที่ดินมาร่วมลงทุน เป็นต้น หรือได้มาโดยผลของกฎหมาย เช่น ให้ พ.ร.ฎ.จัดตั้งเขตพิเศษมีผลเป็นการถอนสภาพสาธารณสมบัติของแผ่นดินในเขตที่กำหนดเป็นเขตพิเศษ และให้ตกเป็นของเขตพิเศษ โดยไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายที่ดิน 5.กรณีที่กฎหมายกำหนดให้การดำเนินการในเรื่องใดเป็นอำนาจของหน่วยงานของรัฐหรือคณะกรรมการตามกฎหมาย ให้เขตพิเศษมีอำนาจดำเนินการได้เช่นเดียวกับหน่วยงานของรัฐนั้น และให้ถือว่าผู้ว่าการเขตพิเศษเป็นและมีอำนาจเช่นเดียวกับเจ้าพนักงานตามกฎหมายนั้น 6.การดำเนินการเรื่องใดที่กฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ เขตพิเศษมีอำนาจดำเนินการได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้สำหรับผู้ขออนุญาตตามกฎหมายนั้น 7.ถ้าเขตพิเศษเห็นว่าหลักเกณฑ์ วิธีการเงื่อนไขที่กำหนดไว้สำหรับผู้ขออนุญาตตามกฎหมายใดเป็นอุปสรรคแก่ผู้ประกอบการ/ผู้อยู่อาศัย ให้รายงานคณะกรรมการนโยบายเพื่อนำเสนอ ครม.ปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้
ยกเว้นกิจการที่อยู่ในอำนาจของ กทช. และ กสช 8.ถ้าพื้นที่ของเขตพิเศษครอบคลุมป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืออุทยานแห่งชาติ และเขตพิเศษนั้นมีวัตถุประสงค์ในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวต้องสอดคล้องกับแผนและแนวทางการดำเนินงานของเขตพิเศษ 9.เขตพิเศษมีอำนาจให้บริการแก่ผู้ประกอบธุรกิจ/อยู่อาศัย เช่น อนุมัติ ออกใบอนุญาต แทนหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายภายในพื้นที่เขตพิเศษ และเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งค่าธรรมเนียมหลังจากหักค่าใช้จ่ายไว้ไม่เกินร้อยละ 10 ให้ส่งเป็นรายได้ของหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมาย ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายนั้นกำหนด และเมื่อดำเนินการแล้วต้องแจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายทราบ 10.ให้เขตพิเศษมีอำนาจเช่นเดียวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในพื้นที่เขตพิเศษ และเรียกเก็บค่าธรรมเนียมได้ โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เมื่อดำเนินการแล้วต้องแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบ ค่าธรรมเนียมหลังจากหักค่าใช้จ่ายไว้ไม่เกินร้อยละ 10 ให้ส่งเป็นรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 11.กรณีหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นว่าการดำเนินการของเขตพิเศษไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ให้แจ้งเขตพิเศษเพื่อแก้ไข ถ้าเขตพิเศษไม่ดำเนินการให้เสนอคณะกรรมการนโยบายเพื่อวินิจฉัย 12.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกรรมการ โดยตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารเขตพิเศษ 13.ผู้ประกอบการ/ผู้อยู่อาศัยในเขตพิเศษมีสิทธิ์
เล็งตั้งนิคมฯ อากาศยาน ส่วนความคืบหน้าการขับเคลื่อนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอากาศยาน ภายหลังที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบนโยบายเร่งรัดการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานนั้น ที่ผ่านมาได้มีการหารือถึงแนวทางโดยประกอบด้วย 2 ส่วนต้องดำเนินการควบคู่กัน คือ โรงซ่อมเครื่องบินขนาดใหญ่ (Hangar) และส่วนของโรงซ่อมขนาดเล็ก หรือการซ่อมชิ้นส่วนเล็กน้อย นอกจากนี้ จะต้องจัดหาพื้นที่เพื่อดำเนินการ โดยมี 3 ทางเลือกประกอบด้วย 1.พื้นที่ที่จังหวัดนครราชสีมา 2.พื้นที่ท่าอากาศยาน อู่ตะเภา จังหวัดชลบุรี และ 3.พื้นที่ท่าอากาศยานที่ไม่ค่อยมีกิจกรรมเชิงพาณิชย์ หรือการขึ้น-ลงของเครื่องบินปริมาณน้อย ในส่วนของพื้นที่ จังหวัดนครราชสีมานั้น เนื่องจากเป็นพื้นที่สีเขียว คือเป็นเขตที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม จะต้องมีการยื่นขอเพื่อปรับเปลี่ยนโซนพื้นที่ให้เป็นเขตพื้นที่สีม่วง คือ เป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรม กับกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยจะต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบก่อน และในส่วนของพื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา จังหวัดชลบุรีนั้น เนื่องจากเป็นเขตพื้นที่ทหารเรือ ซึ่งจะต้องหารือกันเพื่อขอเข้าไปดำเนินการ ซึ่งวิธีก็ต้องมีการตรวจถึงมาตรการความปลอดภัยด้วย ทั้งนี้ การจัดหาพื้นที่เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานนั้นถือเป็นอีกการขับเคลื่อนเพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเป็นการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ให้มีการประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น