- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Thursday, 25 December 2014 18:54
- Hits: 2224
'ประจิน'ถกรถไฟทางคู่จ.ขอนแก่น ชุมชนห่วงความปลอดภัยวิถีชีวิต
แนวหน้า : ที่ห้องประชุมพระธาตุขามแก่น ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมตรวจราชการในพื้นที่ จ.ขอนแก่น มี นายกำธร ถาวรสถิต ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งเทศบาลนครขอนแก่น ตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น สำนักงานทางหลวงที่ 5 และแขวงการทางขอนแก่นที่ 1 ร่วมประชุมนำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมและเป็นไปได้
พล อ.อ.ประจิน กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมจะดำเนินยุทธศาสตร์ 4 ด้าน 5 แผนงานประกอบด้วย การสร้างโครงข่ายการเชื่อมโยงในประเทศที่สามารถสร้างได้ตามมาตรฐานสากล ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ต้องมีการให้บริการที่ดี มีความสะดวก ปลอดภัย และต้องคำนึงถึงการประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน
ขณะที่แนวความคิดการแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ และถนนในเขตเมืองขอนแก่น จากการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ (ชุมชนทางจิระ - ขอนแก่น) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ใหม่ ระยะทาง 185 กิโลเมตร ด้วยงบประมาณ 26,152 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งทางรถไฟ ลดระยะเวลาการเดินทาง , ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ขนส่งของประเทศ และลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งมีประโยชน์ในการ เชื่อมโยงโครงข่ายการบริหารจัดการขนส่งมวลชน สินค้า และบริการ ทั้งในพื้นที่ชนบท เมือง และระหว่างประเทศเข้าด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เปิดเผยถึงข้อห่วงใยของชาว จ.ขอนแก่น จากการก่อสร้างรถไฟทางคู่ดังกล่าว ว่า ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงการตัดผ่านของทางรถไฟ จะเกิดผลกระทบจากจุดตัดแยกพื้นที่ชุมชนออกจากกันมีรั้วกัน จะเกิดผลกระทบด้านต่างๆ เช่น ปัญหาด้านความปลอดภัย ปัญหาการประกอบอาชีพและวิถีชีวิต และเมื่อก่อสร้างทางแบบยกระดับในเขตเมือง จะสามารถใช้พื้นที่ใต้รางรถไฟแก้ไขปัญหาของเมืองได้หรือไม่อย่างไร ส่วนรางเดิมจะใช้งานได้อีกหรือไม่ และการก่อสร้างไม่ขวางทางน้ำเดิมของชุมชน
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้นำเสนอนวคิดการแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟในเขตขอนแก่น แบ่งเป็น 6 รูปแบบคือ 1.ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟในแนวตรง (Overpass) ใช้กับถนนที่มีปริมาณจราจรค่อนข้างมากในจุดตัดกับถนนสายหลัก 2.ถนนลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) ใช้กับถนนที่มีลักษณะเช่นเดียวกับแบบที่ 1 โดยสภาพพื้นที่ไม่สามารถก่อสร้างด้วยรูปแบบที่ 1 ได้ 3.ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟในลักษณะรูปตัวยู (Two way U-Turn Bridge) ใช้กับถนนสายรองที่มีปริมาณการจราจรน้อย
4.สะพานกลับรถคู่ (Couple One Way U-Turn Bridge) ใช้กับถนนที่มีลักษณะทางกายภาพเช่นเดียวกับรูปแบบที่ 3 แต่มีปริมาณจราจรมากกว่า ใช้แก้ปัญหาจุดตตัดกับถนนขนาดเล็กที่มีหลายแห่งอยู่ใกล้ๆ กัน 5.ท่อเหลี่ยมลอดใต้ทางรถไฟ (Box Culvert) ใช้กับถนนลำลองที่มีระดับต่ำกว่าทางรถไฟ มีลักษณะเช่นเดียวกับท่อเหลี่ยมระบายน้ำ สามารถทำหน้าที่ระบายน้ำในฤดูน้ำหลากได้ และ 6.ยกระดับทางรถไฟ ( Elevated Railway) ใช้สำหรับการแก้ปัญหาจุดตัดในเขตเมืองที่มีถนนสายหลักและสายรองตัดผ่านในระยะใกล้กัน หรือมีโครงข่ายถนนสายหลักวางตัวขนานกับทางรถไฟค่อนข้างใกล้ และมีปริมาณจราจรของจุดตัดค่อนข้างสูง