- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Wednesday, 24 December 2014 20:59
- Hits: 2501
คมนาคม เร่งดันแผนยุทธศาสตร์ขนส่ง 8 ปี งบ 3 ล้านลบ.เสนอ ครม.ต้นปีหน้า เผยจะไม่ให้เป็นภาระหนี้สาธารณะ
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม กล่าวยืนยันว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 (8 ปี) ใช้งบลงทุนกว่า 3ล้านล้านบาท ที่ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง ,การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพและปริมณฑล,การเพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน,การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ และ การเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางอากาศ โดยจะไม่ให้เป็นภาระหนี้สาธารณะ
ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปี(ปี 58-62)โครงการรถไฟทางคู่ ระยะทางรวม 1,000กม.คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 4 แสนล้านบาท รถไฟฟ้า 10 เส้นทาง คาดว่าจะใช้งบ 7.5 แสนล้านบาท ขยายทางหลวง เพื่อเชื่อมเมืองเศรษฐกิจและประตูการค้าชายแดนทั้งหมดและเชื่อมโยงระหว่างประเทศ คาดใช้งบ 9 หมื่นล้านบาทสำหรับกรมทางหลวง และอีก 5 หมื่นล้านบาทสำหรับกรมทางหลวงชนบท โดยในปี 58 กระทรวงคมนาคมตั้งงบลงทุนจำนวน 5.5 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 มูลค่าลงทุน 6.5 หมื่นล้านบาท และโครงการขยายท่าอากาศยานดอนเมืองเฟส 3งบลงทุนประมาณ 7 พันล้านบาท
รมว.คมนาคม กล่าวว่า ในเดือน ม.ค.58 กระทรวงคมนาคมจะนำเสนอต่อครม. เรื่องการปรับปรุงงบลงทุนโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญา 1 และสัญญา 2 ที่มีการเพิ่มงบลงทุนอีก 8 พันล้านบาท ส่วนสัญญา 3 กำลังเจรจาปรับงบลงทุนโดยคาดหวังว่าจะไม่เกิน 4 หมืนล้านบาท จากที่ตั้งงบเดิมไว้ที่ 2.7 หมื่นล้านบาท และคาดว่าเส้นนี้คงจะเสร็จล่าช้ากว่าไปอีก 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง
นอกจากนี้ โครงการ Airport Rail Link ส่วนต่อขยาย ดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท วงเงินโครงการ 3.1 หมื่นล้านบาท ระยะทาง 21.4 กม. จะนำเสนอต่อครม.ในเดือนม.ค.58 เช่นกัน และมีความเป็นไปได้สูงที่จะอออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นแหล่งเงินหลักในโครงการนี้ โดยอนุกรรมการจะมีการหารือระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) การบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งการพิจารณาว่าจะให้รฟท. หรือให้เอกชนเข้าร่วมบริหารการเดินรถ โดยเบื้องต้นจะจัดหาเงินกู้มาใช้ก่อสร้างในระยะเริ่มต้นประมาณ 20ของงบ และที่เหลือ 80% จะได้จากการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) คาดว่าจะนำเสนอครม.ในเดือน ก.พ. 58 ได้ 3 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี วงเงินโครงการ 1.1 แสนล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง จะใช้รถโมโนเรล วงเงินโครงการ 5.46 หมืนล้านบาท และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ใช้รถโมโนเรลเช่นกัน วงเงินโครงการ 5.67 หมื่นล้านบาท ทั้ง 3 โครงการมีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 63 ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 วงเงินโครงการ 1.7 หมื่นล้านบาท คาดจะเสนอครม.ได้ในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 58
รมว.คมนาคม ยังกล่าวว่า แผนการรับมอบรถประจำทางเชื่อเพลิง NGV จำนวน 489 คัน เลื่อนรับมอบไปในเดือนพ.ค.58 จากเดิมกำหนดใน มี.ค.58 นอกจากนี้ ยังเร่งผลักดันการลงทุนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายพัทยา-มาบตาพุด วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท เป็นมอเตอร์เวย์ 4 ช่องจราจร ระยะทาง 32 กม.เพราะเส้นทางนี้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ทั้งเศรษฐกิจ และความมั่นคง จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้เริ่มก่อสร้างภายในปี 58
นอกจากนี้ ยังมีโครงการด้านขนส่งทางน้ำที่จะขอมติการดำเนินโครงการต่อ ครม.ในต้นปี 58 ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A)ที่ท่าเรือแหลมฉบัง วงเงินโครงการ 1.46 พันล้านบาท และโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง วงเงินลงทุน 2.94 พันล้านบาท
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย