- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Thursday, 11 December 2014 13:56
- Hits: 2528
ไทย-จีน’ใช้เวทีประชุม GMS Summit เซ็นMOUรถไฟทางคู่ 19 ธ.ค.
แนวหน้า : ‘ไทย-จีน’ใช้เวทีประชุม GMS Summit เซ็น MOU รถไฟทางคู่19ธ.ค. นายกฯยันก่อสร้างได้ต้นปี’59
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟ ว่า รัฐบาลไทยเตรียมลงนามในบันทึกความเข้าใจ(MOU)ความร่วมมือการก่อสร้างรถไฟความเร็วปานกลาง หรือประมาณ 180 กม./ชม.กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (Great Mekong Subregion-GMS Summit) ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 ธ.ค. 2557 นี้
นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 22-23 ธ.ค. 2557 มีแผนเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยเป็นไปตามคำเชิญของผู้นำจีน ซึ่งการเดินทางยังคงเป็นไปตามปกติ ไม่เปลี่ยนแปลง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า เรื่องรถไฟต้องทำโครงการลักษณะการเชื่อมต่อโครงข่ายเป็นการพัฒนาประเทศไปสู่อนาคต เพื่อสร้างความต่อเนื่องเพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมของอาเซียน ส่วนจะสามารถเริ่มการก่อสร้างได้เมื่อไหร่นั้น คาดว่าอย่างเร็วจะประมาณต้นปี 2559 จึงเริ่มสร้างได้เพราะจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาศึกษารายละเอียด และจะตั้งคณะทำงานภายในปีหน้าโดยจะเร่งให้ได้เร็วที่สุด
ส่วนจีนจะแลกเปลี่ยนหรือช่วยเหลือด้วยการซื้อสิ้นค้าจากไทยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นการช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนระหว่างกันอยู่แล้ว เป็นเรื่องของความร่วมมือการลงทุนร่วม
“ใครจะลงทุนส่วนไหนก็ว่ากันไป เขาก็ช่วยเราในเรื่องของเงินกู้ มีการลงทุนร่วมกัน และจีนจะซื้อข้าว ยางพาราด้วย แต่คงจะมาซื้อแลกเป็นรถไฟไม่ได้ เพราะว่ามูลค่าผิดกันเยอะ ขายเยอะเลยนะ ถ้าจะต้องมาแลกรถไฟ ปลูกอีก 10 ปี ไม่รู้จะขายได้หมดหรือเปล่า ราคามันสูง”นายกรัฐมนตรี กล่าว
มีรายงานแจ้งว่า การประชุม GMS Summit จัดขึ้นที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ โดย ไทยเป็นเจ้าภาพ การประชุมนี้ มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน และเชื่อมโยงประชาชน โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคมจากภาคเหนือสู่ภาคใต้ กับภาคตะวันออกสู่ตะวันตก เพิ่มศักยภาพการใช้ถนนหมายเลข 8 - 12 และถนนสาย R3A ในการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ให้มากยิ่งขึ้นฯลฯ
สำหรับ การลงนามในเอ็มโอยู กับ จีน ในโครงการรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 734 กม. และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทาง 133 กม. หากนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เดินทางมาเยือนไทยและสามารถหารือเพื่อลงนามได้ก็จะลงนามในเอ็มโอยูดังกล่าวเลยโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปลงนามที่ประเทศจีน