- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Thursday, 27 November 2014 23:36
- Hits: 3316
กทพ.เตรียมเสนอ ครม.อนุมัติก่อสร้างโครงการทางพิเศษ 3 สายในปี 58
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) จะเสนอรัฐบาลเพื่อขอดำเนินการก่อสร้างโครงการทางพิเศษ 3 สายในปี 58 ประกอบด้วย 1.โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1,N2,N3 2.โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และ 3.โครงการทางพิเศษสายกระทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต
สำหรับ ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือนั้นถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญในการเชื่อม East-West Corridor ของกรุงเทพฯ รองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้น และเชื่อมกับโครงการมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวงที่บางใหญ่เพื่อไปสู่ทวายได้ ซึ่ง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม มีนโยบายให้ดำเนินการต่อ ส่วนปัญหาการต่อต้านจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้นเป็นหน้าที่ของ กทพ.ที่จะต้องไปทำความเข้าใจ
ด้านนายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า ขณะนี้ทั้ง 3 โครงการอยู่ในขั้นตอนการนำเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA )และจะเสนอ ครม.ขออนุมัติดำเนินโครงการทั้ง 3 สาย และเปิดประกวดราคาให้ได้ภายในปี 58 โดยคาดว่าในไตรมาส 1 /58 จะเสนอ ครม.เห็นชอบสายพระราม 3-ดาวคะนองก่อน
ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้นได้มีการศึกษาไว้ 3 แนวทางคือ 1.ความร่วมมือภาครัฐ-ภาคเอกชน(Public Private Partnership: PPP) 2.กทพ.ลงทุนเอง และ 3.การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละโครงการจะเหมาะสมกับรูปแบบใด
ที่ผ่านมา กทพ.เคยดำเนินการในรูปแบบ PPP และ กทพ.ลงทุนเองแล้ว ส่วนการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นนโยบายที่จะต้องพิจารณาประเด็นรายได้ที่จะต้องนำมาคืนให้กับนักลงทุนได้ ซึ่งมีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณาประกอบ ทั้งกรณีที่ กทพ.มีภาระหนี้สินสะสมประมาณ 70,000 ล้านบาท และภารกิจของหน่วยงานที่ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากยังมีกรมทางหลวงทำหน้าที่ในการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ที่เป็นระบบทางพิเศษเก็บค่าผ่านทางเช่นเดียวกัน
"เร็วๆนี้ รมว.คมนาคมจะประชุมเกี่ยวกับเรื่องการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่ง กทพ.คงต้องนำเสนอข้อมูลและข้อสังเกตต่อที่ประชุมเพราะตั้งกองทุนฯ จะต้องมองที่นักลงทุนเป็นสำคัญ ถ้าภารกิจของ กทพ.ไม่ชัดเจน อาจทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจได้ รัฐบาลอาจต้องมอบภารกิจให้ชัดเจน รวมถึงภาระหนี้ของ กทพ.กว่า 7 หมื่นล้านบาทด้วย ซึ่งรัฐบาลต้องเข้ามาอุดหนุนในแต่ละโครงการเพื่อให้มีผลตอบแทนทางการเงินที่ดี ซึ่งขณะนี้รูปแบบ PPP จึงยังเป็นแนวทางที่มีความเหมาะสมและดีที่สุดในการลงทุนก่อสร้างทางด่วน เนื่องจากเอกชนเป็นผู้ลงทุนและจัดเก็บรายได้ให้ รัฐบาลไม่ต้องลงทุน" นายอัยยณัฐ กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
'ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนฯ'คืบหน้า 33% คมนาคมคาดเปิดใช้กลางปี59
แนวหน้า : นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงานวันก่อตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ครบรอบปีที่ 42 ว่า กทพ. ได้มุ่งมั่นแก้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามที่ได้รับมอบหมายให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายระบบทางพิเศษให้เชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน
ทั้งนี้ กทพ. มีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการได้แก่ โครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้ามากกว่า 33% คาดว่าจะสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ประมาณกลางปี 2559 รวมถึงโครงการทางพิเศษอีก 3 โครงการที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2558 ได้แก่ 1)โครงทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก-กรุงเทพมหานครด้านตะวันตก 2)โครงการทางพิเศษสายกระทู้-ป่าตอง และ3)โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือช่วง N2 จากแยกเกษตร- ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนนวมินทร์และช่วง N3 จากถนนนวมินทร์-ถนนเสรีไท-ถนนรามคำแหง โดยเหลือเพียงเส้นทางช่วง N1จากทางพิเศษศรีรัช-แยกเกษตรที่ยังต้องรอหาข้อสรุปอีกครั้ง โดยทั้ง 3โครงการอยู่ระหว่างการดำเนินการขออนุมัติจากกระทรวงคมนาคมก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีหรือครม.พิจารณา
สำหรับ กรณีปัญหาเส้นทางและภาระกิจทับซ้อนระหว่างกรมทางหลวง(ทล.)และ กทพ. ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขแล้ว และได้มีการประสานการทำงานร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดการทับซ้อนในการทำงาน โดยยังเหลือในส่วนของเส้นทางสะเดา-หาดใหญ่ที่ยังต้องทำการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหารวมกันอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม กทพ. ได้เปิดให้บริการเส้นทางพิเศษทั้งหมด 7 เส้นทาง และ 5 เส้นทางเชื่อมต่อ รวมระยะทางกว่า 207.9 กิโลเมตร และผู้ใช้เฉลี่ยวันละ 1,800,000 เที่ยว และเพื่อเป็นการคลี่คลายปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทาง โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บัตรผ่านทางอัตโนมัติ หรือ EasyPass ถึง 900,000 บัตรคาดว่าจะมีผู้ใช้บัตรครบ 1,000,000 บัตรภายในสิ้นปีนี้ ซึ่ง กทพ.ได้อำนวยความสะดวกในการเติมเงินให้แก่ผู้ใช้บัตรผ่านช่องทางต่างๆเพิ่มขึ้นเช่น การเติมเงินผ่านธนาคาร ,เคาเตอร์เซอร์วิส รวมถึงได้มีการสร้างทางขึ้น-ลงทางพิเศษเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจร