- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Tuesday, 04 November 2014 11:04
- Hits: 3735
04 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8742 ข่าวสดรายวัน
ชงบิ๊กจิน 3 พันล. ติดไม้กั้นพันจุด ลุยแก้รถไฟชน
ปัญหาด่วน- รฟท.ลงพื้นที่สำรวจจุดตัดข้ามทางรถไฟ บริเวณบางน้ำจืด จ.สมุทรสาคร ซึ่งอบต.ใช้งบท้องถิ่นติดตั้งเครื่องกั้นและจ้างพนักงานประจำจุด ช่วยแก้ปัญหารถไฟชนยวดยานชาวบ้านอย่างได้ผล
รฟท.เสนอขอ 3,000 กว่าล้านบาท ชง 'บิ๊กจิน' รมว.คมนาคม อนุมัติแก้ปัญหาอุบัติเหตุ จุดตัดทางรถไฟ ระบุในระยะเร่งด่วนติดสัญญาณไฟ เสียงเตือน บริเวณจุดตัด "ลักผ่าน" 584 แห่ง ส่วนระยะยาวเริ่มปี 2559 เป็นต้นไป ติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติ บริเวณจุดตัดที่ได้รับอนุญาต 645 แห่ง เริ่มจุดที่มีความเสี่ยงก่อน หรือจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย หวิดสยองอีกรายที่ชะอวด นครศรีฯ ขบวนรถไฟกรุงเทพ-ยะลาชนรถเก๋ง เดชะบุญไม่โดนกลางคัน คนขับรอดชีวิต
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. นายพรสุทธิ ทองสาด หัวหน้าสำนักงานประจำการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นำเจ้าหน้าที่ออกสำรวจจุดตัดทางรถไฟ ที่เป็นจุดตัดลักผ่าน 2 แห่ง บริเวณจุดตัดทุ่งสีทอง ต.บางน้ำจืด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร และจุดตัดคอกควาย ต.คอกกระบือ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยทั้ง 2 จุด ติดตั้งไม้เครื่องกั้น โดยองค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อระวังความปลอดภัยให้แก่ผู้สัญจรภายในชุมชน
จากการสำรวจในเบื้องต้นพบว่าจุดหยุดรถไฟทั้ง 2 แห่งมีเครื่องกั้นคานกระดก และมีพนักงานคอยเอาเครื่องกั้นลงเวลาที่มีขบวนรถไฟผ่านมายังจุดหยุดรถไฟ โดยมีพนักงาน 2 คน ผลัดทำงานคนละกะ แต่ก็ยังพบว่าเคยมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเช่นกัน จากการสอบถามพนักงานระบุว่า บางครั้งผู้ใช้รถใช้ถนนฝ่าฝืนกฎจราจร บางครั้งก็เกิดจากความประมาทเลินเล่อ และบางรายก็เมาแล้วขับ
นายสุบรรณ มานะวิทยาการ นายก อบต.บางน้ำจืดกล่าวว่า ในพื้นที่อบต.บางน้ำจืด มีจุดตัดระหว่างทางรถไฟกับถนน 4 จุด อบต.ลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ไม้กระดกและเครื่องกั้น พร้อมกับจัดเจ้าหน้าที่ของอบต. ซึ่งเป็นคนในชุมชนทำหน้าที่ใช้เครื่องกั้นเมื่อขบวนรถไฟวิ่งผ่าน แม้อบต.จะต้องลงทุนเอง แต่ถือว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับความปลอดภัยที่ชุมชนได้รับ ปัญหาอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟนั้น ส่วนใหญ่เป็นคนจากนอกพื้นที่ ที่ไม่ทราบว่ามีทางรถไฟอยู่ แต่หลังจากทำเครื่องกั้นแล้ว สถิติลดลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่เกิดอุบัติเหตุเลยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา
ส่วนนายพรสุทธิ กล่าวว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบริเวณจุดตัดทางรถไฟนั้น พบว่าเกิดบริเวณ จุดตัดทางรถไฟที่ไม่มีเครื่องกั้น จุดตัด ทางรถไฟประเภททางลักผ่าน และจุดตัดทางรถไฟที่ควบคุมด้วยเครื่องหมายการจราจร เพียงอย่างเดียว หรือไม่ก็ป้ายเตือนไม่ได้มาตรฐาน ชำรุดทรุดโทรม และถนนช่วงเข้าสู่ทางตัดมีความลาดชัน หรือหญ้าขึ้นสูง แสงสว่างไม่เพียงพอ รวมไปถึงผู้ขับขี่ขับฝ่าเครื่องกั้นด้วย
หัวหน้าสำนักงานประจำ รฟท. กล่าวว่าสำหรับจุดตัดทางรถไฟที่พบเห็นในปัจจุบัน แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ 1.จุดตัดแบบต่างระดับ คือแบบสะพานข้ามทางรถไฟ และลอดใต้ทางรถไฟ 2.จุดตัดแบบมีเครื่องกั้น 3.จุดตัดแบบควบคุมด้วยเครื่องหมายจราจร และ 4.ทางลักผ่าน ซึ่งทางลักผ่านจะถูกใช้เป็นทางเข้าออกประจำของเอกชน หรือผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณนั้นๆ โดยผู้ทำทางตัดผ่านนี้อาจจะเป็นประชาชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ได้ ไม่ได้ขออนุญาต หรือได้รับอนุญาตจาก รฟท.แต่อย่างใด ในปัจจุบันพบว่าทางลักผ่านมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และยากต่อการควบคุมที่จะให้อยู่ในมาตรฐานความปลอดภัย
ส่วนนายพรสุทธิกล่าวอีกว่า ในสัปดาห์นี้รฟท.จะทำเรื่องถึง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม พิจารณาจัดสรรงบประมาณ 3,333 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟ โดยแบ่งการแก้ไขปัญหาเป็น 2 ระยะ คือ 1.ระยะเร่งด่วน เร่งติดสัญญาณไฟและเสียงเตือนให้ผู้ขับขี่ บริเวณจุดตัดที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือจุดตัดทางลักผ่าน 584 แห่ง วงเงิน 753.2 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายต้องเสร็จภายในปีพ.ศ.2559 และ 2.ระยะยาวเริ่มตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป จะเร่งติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติ บริเวณจุดตัดที่ได้รับอนุญาต 645 แห่ง วงเงิน 2,580 ล้านบาท
หัวหน้าสำนักงานประจำ รฟท. กล่าวต่อว่าสำหรับปี 2558 รฟท.ได้รับจัดสรรงบฯ มาแล้ว 508 ล้านบาท เพื่อใช้ติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติบริเวณจุดตัดที่ได้รับอนุญาต 130 แห่ง สำหรับหลักการพิจารณาติดตั้งเครื่องกั้น และสัญญาณเตือนเพื่อแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟ รฟท.จะพิจารณาและลำดับความสำคัญจากจุดที่ความเสี่ยงก่อน เช่น พิจารณาจากจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย รวมถึงปริมาณรถที่แล่นผ่านแต่ละวันจำนวนมากก่อน เชื่อว่าหากติดตั้งเครื่องกั้นอัตโนมัติและระบบสัญญาณเตือน จะทำให้สถิติอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดลดลงแน่นอน
"สถิติการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดรถไฟเมื่อปี 2557 เกิด 127 ครั้ง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดกับบุคคลนอกพื้นที่ ที่ไม่ชำนาญเส้นทาง และไม่ระมัดระวังจนทำให้เกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น เชื่อว่าอนาคตหากติดตั้งเครื่องกั้นและสัญญาณเตือน เพื่อแจ้งเตือนล่วงหน้าแล้ว ปัญหาอุบัติเหตุจะลดลง" นายพรสุทธิกล่าว
วันเดียวกัน พ.ต.ท.ปรีชา ฉิมภักดี พนักงานสอบสวน สภ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช รับแจ้งอุบัติเหตุรถไฟชนรถเก๋ง ที่บริเวณจุดตัดใกล้กับที่ว่าการอำเภอชะอวด จึงนำกำลังรุดไปที่เกิดเหตุพบรถเก๋งยี่ห้อนิสสัน รุ่นมาร์ช สีเขียวอ่อน ทะเบียน กบ 1742 นครศรีธรรมราช บริเวณด้านหน้ารถพังยับเยิน และมีผู้บาดเจ็บ 1 ราย ทราบชื่อนายธรรมยุทธ มาศนุ้ย อายุ 41 ปี เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 ต.วังอ่าง อ.ชะอวด ถูกนำส่งร.พ.ชะอวด
จากการสอบสวนทราบว่า นายธรรมยุทธขับรถเก๋งออกจากที่ว่าการอำเภอชะอวด ภายหลังเดินทางมาประชุมประจำเดือน เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุตรงถนนพาดรางรถไฟที่ไม่มีแผงกั้น มีเพียงป้ายคำว่าหยุด ขณะขับข้ามทาง รถไฟ มีขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลรางปรับอากาศที่ 41 สถานีกรุงเทพ-ยะลา ชนกระเด็น โชคดีที่ไม่ถูกกลางคัน นายธรรมยุทธได้รับบาดเจ็บ ขณะที่ขบวนรถไฟไม่ตกราง เดินรถต่อไปได้ตามปกติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับถนนพาดรางรถไฟ นอกจากบริเวณที่เกิดเหตุดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกหลายจุดใน อ.ชะอวด ที่ไม่มีแผงกั้น หรือไม่มีสัญลักษณ์เตือนผู้ขับขี่รถยนต์ที่สัญจรไปมาให้ระมัดระวังแต่อย่างใด มีเพียงป้ายคำว่าหยุด แต่เป็นป้ายเล็กๆ เท่านั้น