WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8735 ข่าวสดรายวัน


ขึ้นค่าแท็กซี่ ติดหนึบเจอนาที 2 บ. 
ดีเดย์ปรับราคา 1 ธันวา ขยับกม.ละ 50 สต.-2 บ. สมาคมจี้-แก้แก๊สแพง บิ๊กจินเล็งคุมกำเนิดรถ
      แท็กซี่ปรับราคาใหม่ คาดมีผลในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ แบ่งเป็น 2 ช่วง ขึ้นทันที 8% อีก 6 เดือนปรับเต็มเพดาน 13%อัตราค่าโดยสารช่วง 1-40 ก.ม. ปรับก.ม.ละ 50 ส.ต. ส่วน 40 ก.ม.ขึ้นไปปรับ 1-2 บาท ผู้โดยสารอ่วมรถติดจอดนิ่งมิเตอร์พุ่งนาทีละ 2 บาท จากเดิม 1.50 บาท เผย 'ประจิน' สั่ง ขบ.ศึกษาคุมกำเนิดแท็กซี่เกรงจะล้นตลาดขาดคุณภาพ
      เมื่อวันที่ 27 ต.ค. นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยภายหลังหารือทำความเข้าใจร่วมกับผู้ประกอบการรถแท็กซี่ และตัวแทนคนขับแท็กซี่ส่วนบุคคล เพื่อรับทราบแนวทางการพัฒนาคุณภาพบริการก่อนการปรับขึ้นค่าโดยสารว่า กระทรวงคมนาคมเตรียมอนุมัติให้แท็กซี่ปรับขึ้นค่าโดยสารในช่วงที่รถติดและจอดนิ่งเพิ่มขึ้นอีกนาทีละ 0.50 บาท จากเดิมนาทีละ 1.50 บาท เป็นนาทีละ 2 บาท 
       นอกจากนี้ ยังอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารตามระยะทาง เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 13% โดยซึ่งจะแบ่งการปรับเป็น 2 ช่วง คือ ระยะที่ 1 ช่วงต้นเดือนธ.ค. จะให้ปรับค่าโดยสาร 7-8% ยังไม่เต็มเพดาน เพื่อทดสอบและประเมินคุณภาพการให้บริการตัวรถและคนขับก่อนว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ระยะแรกประมาณ 6 เดือน หากผ่านมาตรฐานบริการจึงจะอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารในระยะที่ 2 โดยให้ปรับเต็มเพดานเฉลี่ยที่ 13% โดยขณะนี้รอ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม ลงนามอนุมัติและประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน คาดว่าจะมีผลบังคับใช้และเริ่มปรับขึ้นค่าโดยสารระยะแรกในช่วงต้นเดือนธ.ค.
       "หลังจากให้ปรับราคาในช่วงระยะแรกไปแล้ว 7-8% เราจะประเมินคุณภาพการให้บริการควบคู่ไปด้วย ประมาณ 6 เดือน ซึ่ง ขส.เตรียมทำแอพพลิเคชั่นพิเศษให้ประชาชนใช้เป็นช่องทางแสดงความคิดเห็นกดไลก์หรือติชมการให้บริการของแท็กซี่ เพื่อจะได้นำข้อมูลมาประกอบเพื่อประเมินคุณภาพ หากไม่ผ่านการประเมินก็จะไม่ได้ปรับราคาในระยะที่ 2" นายธีระพงษ์กล่าว
       นายธีระพงษ์ กล่าวว่า การปรับปรุงค่าโดยสารครั้งนี้ยังได้ปรับลดช่วงระยะทางในการคำนวณอัตราค่าโดยสารแบ่งเป็นช่วงละ 10 กิโลเมตรจากเดิม 12 กิโลเมตร เพื่อให้อัตราค่าโดยสารสะท้อนต้นทุนที่เป็นจริงมากขึ้น โดยระยะทางไกลจะมีการปรับค่าโดยสารที่สูงขึ้นกว่าระยะทางใกล้ ส่วนอัตราค่าโดย สารระยะเริ่มต้นระหว่างก.ม.ที่ 0-1 กิโลเมตร ยังคงอัตราเดิมเริ่มต้นที่ 35 บาท
       นายธีระพงษ์ กล่าวว่า ก่อนจะให้ปรับขึ้นค่าโดยสารรถแท็กซี่ผู้ประกอบการจะต้องนำรถมาตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของตัวรถและอุปกรณ์ภายใน เช่น แอร์ต้องเย็น รถไม่มีกลิ่นอับ และคนขับต้องแต่งตัวสะอาด มีกิริยาที่สุภาพ หากไม่ผ่านจะต้องนำรถกลับไปแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน และนำกลับมาตรวจสภาพใหม่ รถที่ผ่านมาตรฐานจะต้องนำรถเข้ามาปรับจูนมิเตอร์เพื่อซีลตะกั่วที่ตัวมาตรค่าโดยสาร และกรมการขนส่งทางบกจะมอบสติ๊กเกอร์รับรองคุณภาพเพื่อปรับค่าโดยสารต่อไป
        สำหรับ ค่าใช้จ่ายในการปรับจูนมิเตอร์ค่าโดยสารอัตราใหม่นั้น นายธีระพงษ์กล่าวว่า ผู้ประกอบการต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายประมาณ 300-400 บาท ในเบื้องต้น ขบ.ขอความร่วมมือผู้ผลิตและจำหน่ายมิเตอร์ทั้ง 10 ราย รวม 17 ยี่ห้อ เพื่อขอให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการแท็กซี่ในการแบ่งการจัดเก็บค่าปรับจูนออกเป็น 2 ครั้ง ตามระยะการปรับค่าโดยสารที่กระทรวงกำหนด หรือแบ่งจ่ายค่าปรับจูนออกเป็น 2 งวด ขณะนี้มีแท็กซี่อยู่ในระบบประมาณ 1 แสนคัน หากต้องปรับจูน มิเตอร์ก่อนปรับราคาคงไม่มีปัญหา เพราะเตรียมระบบตรวจสอบคุณภาพรถ และปรับ จูนมิเตอร์ไว้พร้อมแล้ว
       นายธีระพงษ์ กล่าวต่อว่า พล.อ.อ.ประจินได้สั่งการให้ ขบ.ไปศึกษาจำนวนแท็กซี่ที่วิ่งให้บริการในปัจจุบันว่ามีจำนวนมากเกินไปหรือไม่ คาดว่าจะสรุปผลการศึกษาได้ช่วงต้นปี 2558 หากพบว่ามีจำนวนที่มากเกินความต้องการก็จำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อควบคุมการออกใบอนุญาต เพื่อให้ขบ.กำกับดูแลมาตรฐานการให้บริการของแท็กซี่ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้ใช้บริการ
       แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า อัตราค่าโดยสารใหม่เบื้องต้นในช่วง 1-40 ก.ม. ปรับขึ้นค่าโดยสารเฉลี่ยก.ม.ละ 50 ส.ต. ส่วนระยะ 40 ก.ม.ขึ้นไปปรับขึ้นค่าโดยสารเฉลี่ยก.ม.ละ 1-2 บาท สำหรับรายละเอียดอัตราค่าโดยสารแท็กซี่ใหม่ คือ อัตราค่าโดยสารระยะเริ่มต้น ระหว่างก.ม.ที่ 0-1 กิโลเมตร ยังคงเป็นอัตราเดิมคือ 35 บาท ช่วง 1-10 ก.ม. จากเดิมเก็บ 5 บาท ต่อก.ม. ปรับขึ้นเป็น 5.50 บาท ต่อก.ม. และช่วง 10-20 ก.ม. จากเดิมเก็บ 5.50 บาท ต่อก.ม. ปรับเป็น 6 บาท ต่อก.ม. และ 20-40 ก.ม.จากเดิมเก็บ 6 บาทต่อก.ม.เป็น 6.50 บาทต่อก.ม. 
       ส่วน ช่วงตั้งแต่ 40-60 ก.ม. เดิมเก็บ 6.50 บาทต่อก.ม. ช่วง 60-80 บาทต่อ ก.ม.เดิมเก็บ 7 บาทต่อก.ม. และ 80 ก.ม.ขึ้นไป เดิมเก็บ 8 บาทต่อก.ม. จะปรับค่าโดยสารเพิ่มขึ้นช่วงละ 1-2 บาท เพื่อแก้ไขปัญหาการปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร และปัญหาเส้นทางระยะไกลต้องตีรถเที่ยวเปล่ากลับมา
       นอกจากนี้ จากการเก็บข้อมูลพบว่าผู้โดยสารส่วนใหญ่จะเดินทางในช่วง 1-10 ก.ม. ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มค่าโดยสารน้อยมาก หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 5 บาทต่อเที่ยวเท่านั้น แต่ผู้ที่เดินทางระยะไกล เช่น ปริมณฑล ปทุมธานี สมุทรปราการ ก็จะต้องจ่ายแพงขึ้นตามอัตราเฉลี่ยที่ 13% ซึ่งถือว่าเป็นธรรมและเพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ด้วย" แหล่งข่าวกล่าว
       นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่กรุงเทพ กล่าวว่า ค่าโดยสารที่กระทรวงคมนาคมอนุมัติให้ปรับขึ้นเฉลี่ย 13% หากมองในภาพรวมก็รับได้และพออยู่ได้ แต่ในอนาคตกระทรวงพลังงานจะปรับขึ้นราคาแอลพีจีและเอ็นจีวีอย่างต่อเนื่อง ก็เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ขับแท็กซี่โดยตรง เพราะการปรับขึ้นราคาก๊าซทุกๆ 1 บาท ทำให้แท็กซี่มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 100 บาท เท่ากับว่าแท็กซี่จะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการปรับขึ้นราคาครั้งนี้
       "ถ้ากระทรวงคมนาคมให้เราขึ้นค่าโดยสาร แต่กระทรวงพลังงานปรับขึ้นราคาก๊าซก็เท่ากับว่าไม่มีประโยชน์อะไร แท็กซี่จะมีค่าใช้จ่ายเติมก๊าซเพิ่มขึ้น จึงอยากให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงพลังงานพูดคุยเรื่องนี้กัน ไม่เช่นนั้นเรื่องก็คงไม่จบ เพราะแท็กซี่คงต้องเรียกร้องขอขึ้นค่าโดยสารอีก เพราะที่ปรับ 13% ไม่ครอบคลุมปรับราคาแอลพีจีอาจขอปรับเป็น 15-20% และจะขอให้กระทรวงพลังงานจัดทำบัตรส่วนลดช่วยเหลือกลุ่มแท็กซี่กลุ่มที่ใช้ก๊าซแอลพีจีด้วย นอกเหนือไปจากกลุ่มแท็กซี่เอ็นจีวี" นายวิฑูรย์กล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!