- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Monday, 20 October 2014 23:38
- Hits: 3089
ร.ฟ.ท.สบช่องขอปรับค่าตั๋ว 15%
บ้านเมือง : ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อรถโดยสารรุ่นใหม่สำหรับให้บริการเชิงพาณิชย์ (Passenger Coach Set) จำนวน 115 คัน วงเงินรวม 4,668.89 ล้านบาท โดยมีนายวิโรจน์ เตรียมพงศ์พันธ์ รองผู้ว่าการกลุ่มยุทธศาสตร์และอำนวยการ รักษาการแทนผู้ว่าการฯ รฟท.ร่วมลงนามกับนายประสิทธิ์ โพธสุธน ผู้มีอำนาจลงนามของกิจการร่วมค้าบีบีซี (บริษัท เขาหลักแบมบู ออร์คิด จำกัด บริษัท ร่วมมิตรเหมืองแร่ จำกัด บริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสรั๊กชั่น จำกัด) ซึ่งเป็นโครงการตามแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วน รฟท. ปี 2553-2557 วงเงินลงทุน 176,806.28 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 เม.ย.53
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การจัดหารถโดยสารครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในแผนปฏิรูปรถไฟปี 2553 ที่มีวงเงินลงทุนรวม 1.7 แสนล้านบาท ซึ่ง รฟท.ไม่ได้จัดซื้อรถโดยสารมานานเกือบ 20 ปี โดยครั้งสุดท้ายจัดหาเมื่อปี 2538 โดยล่าสุดกิจการร่วมค้าบีบีซีจะส่งมอบรถจำนวน 2 ชุดแรก (ชุดละ 13 คัน) ได้ในเดือนสิงหาคม 2558 เพื่อให้สามารถบริการผู้โดยสารได้มากขึ้น และส่งมอบครบทั้งหมด 115 คัน ในเดือน ส.ค.59 และในการจัดหาครั้งนี้สามารถต่อรองวงเงินลงจากกรอบ 4,981.05 ล้านบาท เหลือ 4,668.89 ล้านบาท ทั้งนี้ รถโดยสารแบบใหม่นี้จะเป็นรถชุดที่มีบริการครบสมบูรณ์ ซึ่งหากจะมีการปรับอัตราค่าโดยสารที่มีความเหมาะสม รฟท.ต้องเสนอเรื่องเข้ามาให้นโยบายตัดสินใจ
ด้านนายวิโรจน์ เตรียมพงศ์พันธ์ รักษาการแทนผู้ว่าการฯ รฟท.กล่าวว่า รถโดยสารบริการเชิงพาณิชย์ 115 คันนี้ จะมีรถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 1 จำนวน 9 คัน รถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 2 จำนวน 88 คัน รถโบกี้ขายอาหารปรับอากาศ จำนวน 9 คัน และรถกำลังไฟฟ้า จำนวน 9 คัน โดยจะนำมาให้บริการเป็นรถด่วนพิเศษ 4 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี กรุงเทพฯหนองคาย และกรุงเทพฯ-ชุมทางหาดใหญ่ ไป-กลับวันละ 2 ขบวนต่อเส้นทาง รวมทั้งสิ้น 8 ขบวน และจะสอดคล้องกับแผนปรับปรุงเส้นทางต่างๆ ที่จะทำให้สามารถใช้ความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม. ถึงปลายทางเร็วขึ้นเฉลี่ย 3 ชม.ต่อเส้นทาง และคาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณปีละ 1.5 ล้านคน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1,250 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีระบบการจองตั๋วผ่านอินเตอร์เน็ต ออนไลน์ และอบรมพนักงานให้บริการบนขบวนรถใหม่ โดยตั้งเป้าที่จะแข่งขันกับเครื่องบิน เน้นผู้โดยสารระดับกลางและบน ดังนั้นจะต้องปรับอัตราค่าโดยสารใหม่ให้สอดคล้องกับบริการและเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ โดยตามแผนจะปรับอัตราค่าโดยสารขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 15% ภายใน 3 ปี