- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Friday, 10 October 2014 21:33
- Hits: 2841
รมว.คมนาคม ลั่นเดินหน้ารถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 6 เส้นทาง พร้อมกำหนดกรอบยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อการพัฒนาระบบเส้นทางคมนาคมของประเทศ โดยเฉพาะระบบราง ซึ่งมีการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง เพื่อการขนส่งในอนาคต ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบขนส่งต่างๆ โดยกำหนดกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2568 วงเงินรวม 1,938,009.50 ล้านบาท ประกอบด้วย 4 ด้าน 5 แผนงาน เช่น 1.การสร้างรากฐานความมั่นคงทางสังคม 2.การสร้างมาตรฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 3.การสร้างโอกาสสำหรับการใช้ประโยชน์สูงสุดจากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และ 4.เสริมสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่ง
ส่วน 5 แผนงาน ได้แก่ 1.การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง 2.การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 3.การเพิ่มขีดความสามารถทางหลวง เพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน 4.การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ และ 5.การเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางอากาศ กำหนดระยะเร่งด่วนปีงบประมาณ 2557-2558 เพื่อเชื่อมโยงประตูการค้าของประเทศ และพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินเชียงใหม่ สนามบินภูเก็ต และสนามบินอู่ตะเภา ที่จะใช้ในเชิงพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังได้กำหนดโครงการเร่งด่วนปี 2557-2558 ประกอบด้วย ขยายรถไฟทางคู่เดิม 6 เส้นทาง และรถไฟทางคู่แบบขนาดทางมาตรฐาน ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (ไฮสปีดเทรนเดิม) 2 เส้นทาง และโครงข่ายถนนสายหลักเชื่อมเมืองหลักกรุงเทพฯ และปริมณฑล และรถไฟทางคู่รางมาตรฐาน หรือรางขนาด 1.435 เมตร ความเร็ว 160 กม./ชม.
สำหรับ โครงการรถไฟทางคู่ ระยะเร่งด่วน 6 เส้นทาง 887 กม. ประกอบด้วย 1.ชุมทางจิระ-ขอนแก่น 2.ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 3.นครปฐม-หัวหิน คาดว่าจะดำเนินการได้ในปี 2558-2561 ส่วน 4.มาบกะเบา-นครราชสีมา 5.ลพบุรี-ปากน้ำโพ 6.หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะเวลาดำเนินการ 2559-2563 ยังไม่รวม สายฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย หากสามารถขยายทางคู่ได้ตามแผน จะทำให้ขบวนรถไฟที่ให้บริการวันละ 288 เที่ยว/วัน เพิ่มเป็น 800 เที่ยว/วัน
ทั้งนี้ โครงการเร่งด่วนจะเน้นเชื่อมโยงโครงข่ายประตูการค้าระหว่างประเทศ การค้าชายแดน และระบบถนนที่เชื่อมโยงประตูการค้าของประเทศ เชื่อมโยงเมืองหลัก เชื่อมโยงกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งการพัฒนาท่าเรือชายฝั่ง ศูนย์ขนส่งสินค้า ทางรถไฟ ถนนเชื่อมกับท่าเรือ ท่าอากาศยานต่างๆ ทั้งสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และอู่ตะเภา รวมทั้งด่านการค้าตามแนวชายแดน เช่น ด่านแม่สอด จ.ตาก, ด่านแม่สาย ด่านเชียงแสน ด่านเชียงของ จ.เชียงราย, ด่านบ้านคลองลึก จ.สระแก้ว, ด่านคลองใหญ่ จ.ตราด, ด่านสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี, ด่านมุกดาหาร ด่านนครพนม ด่านหนองคาย และด่านปาดังเบซาร์ จ.สงขลา และด่านสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ตลอดจนการจัดทำศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าด้วย โดยข้อเสนอแนะการเปิดรับสัมมนาในครั้งนี้จะถูกรวบรวมนำกลับไปปรับปรุงแผนต่างๆ ให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย