- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Thursday, 09 October 2014 22:20
- Hits: 3216
คมนาคมสั่งรฟม.เจรจา BTS-กทม.เดินรถสายสีเขียว,เสนอลงทุนรถไฟฟ้า 3 สายปีนี้
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า ที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคมเป็นประธาน ได้เห็นชอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ทบทวนแผนการลงทุนการก่อสร้างงานโยธาของโครงการสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 5.59 หมื่นล้านบาท และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 36 กม.วงเงิน 5.82 หมื่นล้านบาท ในส่วนของงานก่อสร้างอู่จอดและศูนย์ซ่อม โดยให้ตัดงานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ออกไปจากการก่อสร้างในพื้นที่เดปโป้ออกไปก่อนเพื่อให้การดำเนินงานในส่วนของงานโยธาทำได้รวดเร็วมากขึ้น และให้รฟม.นำเสนอการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กลับมาใหม่ภายหลัง
ส่วนสายสีส้ม เฟสแรก(ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) วงเงิน 1 .01 แสนล้านบาทนั้น รฟม.ได้เสนอเรื่องมาที่กระทรวงคมนาคมแล้ว ซึ่งจะสามารถเสนอครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 3 สายได้ภายในปี 2557 แน่นอน
พร้อมกันนี้ เตรียมที่จะเสนอครม.ขออนุมัติโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ส่วนต่อขยาย(พญาไท-ดอนเมือง) ระยะทาง 21.87 กม. วงเงิน 3.11 หมื่นล้านบาท เพื่อเดินหน้าประกวดราคาก่อสร้าง ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้เสนอแผนมาที่กระทรวงแล้ว
ทั้งนี้ ในวันที่ 13 ต.ค. พล.อ.อ.ประจิน จะเดินทางไปตรวจพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง บริเวณสถานีกลางบางซื่อซึ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้างในส่วนของทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบรอบ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ด้วย โดยจะเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้ง ร.ฟ.ท. กทพ.และเอกชนผู้รับเหมามาร่วมหารือภาพรวมในการก่อสร้าง
นางสร้อยทิพย์ กล่าวถึงการเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) จะยึดหลักประโยชน์ของประชาชน และไม่ขัดข้อกฎหมายซึ่งมติครม.ให้รฟม.ดำเนินการก่อสร้างงานโยธา ส่วนการเดินรถให้พิจารณาและนำเสนอต่อไป โดยนโยบายกระทรวงต้องการให้รฟม.ไปเจรจากับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (จำกัด) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) ในการเดินรถต่อเชื่อม โดยให้ยึดมติครม.ที่เกี่ยวข้องและต้องไม่ขัดกับข้อกฎหมาย
นายรณชิต แย้มสะอาด รักษาการผู้ว่าการฯ รฟม. กล่าวว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ได้ให้ความเห็นชอบให้รฟม.เดินรถเองทั้งสายสีเขียวเหนือและใต้ในรูปแบบ PSC โดยรฟม.เป็นผู้จัดซื้อรถไฟฟ้าเอง แต่ขณะนี้ทางกระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้เจรจากับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ในการเดินรถต่อเชื่อม เพื่อให้ผู้โดยสารเกิดความสะดวกสูงสุด ซึ่งรฟม.จะเร่งเจรจา 3 ฝ่ายเพื่อหาข้อสรุปและนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกับแนวทางการเดินรถเอง
"สายสีเขียวเหนือและใต้ มีข้อแตกต่างกัน เนื่องจากสีเขียวส่วนเหนือจะเป็นการต่อเชื่อมกับบีทีเอสจากหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ซึ่งเป็นสัมปทานของบีทีเอส ส่วนสีเขียวใต้เป็นการต่อเชื่อมกับช่วงสำโรง-แบริ่ง ซึ่งกทม.จ้างบีทีเอสเดินรถ จึงต้องเจรจา 3 ฝ่าย และยังมีประเด็นการเดินรถนอกเขตพื้นที่กทม. และสัญญาสัมปทานระหว่างกทม.และบีทีเอสจะครบกำหนดด้วย อย่างไรก็ตาม จะสรุปแนวทางการเจรจาให้เรียบร้อยภายในปีนี้"นายรณชิตกล่าว
คมนาคมลั่นเปิดประมูลรถไฟฟ้า 3 สายปี 58
ไทยโพสต์ : ราชดำเนิน * คมนาคมเดินหน้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูเหลือง-ส้ม และแอร์พอร์ตลิงค์ส่วนต่อขยาย เปิดประมูลปี 58 ด้าน รฟม.ขอทบทวนงานโยธา หวั่นขัดข้อกฎหมายก่อนเสนอบอร์ดพิจารณาอีกครั้ง
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผย ภายหลังการประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินการ โครงการรถไฟฟ้า โดยมี พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เป็นประธาน ว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รายงานความคืบหน้า โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ และ ขอกลับไปทบทวนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสาย สีเหลือง ในเรื่องของการลงทุน และงานโยธาอีกครั้งก่อนที่ จะนำกลับมาเสนอคณะกรรม การ (บอร์ด) รฟม.อีกครั้งใน วันที่ 17 ต.ค.2557 นี้ เนื่องจากพบว่าแผนการพัฒนา พื้นที่รอบศูนย์ซ่อม อาจขัดต่อกฎหมาย โดยเฉพาะในเรื่องการเวนคืน
"คาดว่าภายในต้นเดือน พ.ย.57 รฟม.จะส่งรายละเอียดมายังสำนักงานนโยบายและแผน การขนส่งและจราจร (สนข.) จาก นั้นจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติโครง การต่อไป" นางสร้อยทิพย์กล่าว
สำหรับ ความคืบหน้าโครง การรถไฟฟ้าสายอื่นนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม อาทิ สายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมมีนบุรี 2.สายสีชมพู ช่วงแครายมีนบุรี และ 3.สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง รวมระยะทางประมาณ 120 กม. หากเป็นไปตามแผน จะสามารถประกวดราคาหาผู้รับเหมาก่อสร้างได้ภายในปี 2558 รวมถึงโครงการส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงค์ ช่วงพญาไท-ดอนเมือง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.).