- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Saturday, 07 December 2019 16:30
- Hits: 5602
วิศวะมหิดล ร่วมกับ สอวช. จัดงานประชุมวิชาการระบบขนส่งทางรางแห่งประเทศไทย ปี 2019
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย กลุ่มสาขาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง ร่วมกับ สำนักงานนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) และสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย (วศรท.) เป็นเจ้าภาพจัด งานประชุมวิชาการระบบขนส่งรางไทย ปี 2019 (Thailand Rail Academic Symposium - TRAS) โดยมี ดร.เยี่ยมชาย ฉัตรแก้ว ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ สอวช. เป็นประธานเปิดงาน ท่ามกลางผู้ร่วมงานจากภาครัฐ ผู้ประกอบการ ภาคการศึกษา นักวิชาการ วิศวกรและผู้สนใจ ณ ห้องประชุมซีอาเซียน อาคารไซเบอร์เวิลด์ทาวเวอร์ ถนนรัชดาภิเษก
งานประชุมวิชาการระบบขนส่งรางแห่งประเทศไทย ปี 2019 จัดเป็นครั้งแรกในปี 2557 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดย การประชุมครั้งนี้เป็นการจัดงานครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อ “การขนส่งทางรางในเมือง” (Urban Rail Transit) และนับเป็นครั้งแรกสำหรับการสัมมนาระดับนานาชาติ เพื่อให้มีการนำเสนอผลงานการศึกษาวิจัยและเผยแพร่ความรู้ด้านเทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง ทั้งจากหน่วยงานภายในและต่างประเทศ ในงานสัมมนาเปิดโอกาสให้บุคลากรในอุตสาหกรรมและผู้ที่สนใจเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงด้านการปฏิบัติพัฒนาระบบขนส่งทางรางที่ดี (Good Practices) พบปะแลกเปลี่ยนความรู้และข้อคิดเห็น นำไปสู่การสร้างเครือข่ายด้านการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง ภายในงานมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมจากทั้งในและต่างประเทศร่วมบรรยายและเสวนาในประเด็นการพัฒนาระบบขนส่งทางราง
ผศ.ดร.วเรศรา วีระวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานจัดงาน กล่าวว่า สาระสำคัญจากงานประชุม งานประชุมวิชาการระบบขนส่งรางแห่งประเทศไทย ปี 2019 เน้นย้ำความท้าทายในการพัฒนาระบบขนส่งทางรางเพื่อให้เป็นสิ่งแวดล้อมเมืองอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์แนวโน้มการเติบโตของเมืองและปัญหาที่โลกกำลังเผชิญ ซึ่ง Dr.Madan Banghu Regmi ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรสหประชาชาติ และดร.ศิรดล ศิริธร หัวหน้าภาควิชาระบบขนส่งทางราง มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเสนอต่อที่ประชุม
ด้านทีมผู้เชี่ยวชาญจาก 2 หน่วยงานที่มีชื่อเสียงของสหราชอาณาจักร ถ่ายทอดประสบการณ์เรื่องระบบขนส่งรางในโตเกียว โดย ดร. ทากุ ฟูจิยามา จากยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน (University College London) และการบูรณาการข้อมูลและให้บริการในระบบขนส่งสาธารณะในกรุงลอนดอน โดย 3 ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การคมนาคมแห่งลอนดอน (Transport for London) ซึ่งควบคุมงานขนส่งมวลชนในพื้นที่ รวมทั้ง รถไฟใต้ดิน รถเมล์ท้องถิ่น แทรมลิงก์ และรถไฟเบาสายดอคแลนด์ นำโดยคุณวิวิธ ศิรภัสสุณธร คุณโฮวาร์ด หว่อง และคุณเดวิด วินสเล็ตต์ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับที่ประชุม
ในส่วนของการนำเสนองานวิจัยในวันแรกมี ผศ.ดร.วศพร เตชะพีรพานิช และ ดร.จิรพรรณ เลี่ยงโรคาพาธ เป็นประธานที่ประชุม โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากในและต่างประเทศเข้าร่วมสัมมนาในหลายหัวข้อ อาทิ พฤติกรรมผู้โดยสารที่มีต่อการลดค่าโดยสารในช่วงการจราจรไม่แออัด สายแอร์พอร์ต เรลลิ้งค์ กรุงเทพ, การบริหารจัดการระยะสั้นในช่วงดิสรัพชั่นโครงข่ายรถไฟ, ดัชนีชี้วัดผลสำเร็จของผู้ประกอบการในบริการขนส่งมวลชนทางรางในประเทศไทย, ระยะเวลาที่ผู้โดยสารอยู่ในสถานีรถไฟฟ้า, แนวโน้มวิชาชีพด้านขนส่งทางรางในภูมิภาคอาเซียน โดยมีการหารือในการพัฒนา Soft skills เพื่อส่งเสริมความสามารถของบุคคลากรในการทำงาน ผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางทั้งในและต่างประเทศ นักศึกษาต่างชาติ และ อาจารย์จากภาควิชาระบบขนส่งทางราง ม.มหิดล ซึ่งมีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษและมุ่งเน้นให้นักษาทำงานในระดับนานาชาติ
วันที่สองมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ของการพัฒนาระบบรางจากส่วนภูมิภาคในเรื่องกรอบเวลาในการก่อสร้างและอุปสรรคในการดำเนินงาน รวมทั้งการหารือแนวคิดการเชื่อมต่อกับการเดินทางระบบรอง (รถประจำทางและสองแถว) การแข่งขันกับรถยนต์และจักรยานยนต์ส่วนตัวในด้านเวลาและค่าใช้จ่าย รวมถึงนโยบายในการส่งเสริมการใช้ระบบรางและแผนการพัฒนาเมืองและพื้นที่รอบสถานี (TOD)
ในช่วงของการนำเสนองานวิชาการ ดร.นทชัย วงษ์ชวลิตกุล และ แอนนา ฟราสซิค (Anna Fraszczyk) เป็นประธานที่ประชุม มีการสัมมนาในหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ เจาะลึกความเร็วของรถไฟสูงสุดสำหรับระบบขนส่งที่ใช้เทคนิค เจเนติก อัลกอริธึม, การออกแบบความเร็วของรถไฟสูงสุด สำหรับระบบ PMSM ซึ่งใช้โปรแกรมไดนามิคกับการควบคุมแบบ MTPA, การเคลื่อนที่ของรถไฟภายใต้ระบบ Virtual Coupling
ส่วนช่วงสุดท้ายมี ดร.สมศิริ เซียววัฒนกุล และ ดร.กรธรรม สถิรกุล เป็นประธานที่ประชุม โดยมีการสัมมนาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ในหลายหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ วิถีความปลอดภัยในการบำรุงรักษารถไฟ : กรณีศึกษาจากโครงข่ายรถไฟฟ้าใต้ดินกรุงเทพ, การขยายโครงข่ายรถไฟใต้ดิน The West Midlands และการประเมินผลกระทบด้านสังคม - เศรษฐกิจ, ระบบกำหนดเวลาวิ่งของรถไฟ ซึ่งใช้ไทม์ คัลเลอร์ เพ็ทติ - เน็ต, การพัฒนาของระบบตรวจสอบรางรถไฟเพื่อการบำรุงรักษา, แพลตฟอร์มข้อมูลรถไฟและระบบบริการ, กรณีศึกษาการแข่งขันด้านการค้าปลีกที่ สถานีฮากาตะ ประเทศญี่ปุ่น, การใช้ที่ดินและการเชื่อมต่อระบบการขนส่ง เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงของคนเดินเท้าสู่สถานีขนส่งมวลชน, การวัดประเมินผลความเปลี่ยนแปลงของการเข้าถึงรถไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ต่างๆ : กรณีศึกษาของโครงข่ายรถไฟฟ้าใต้ดิน ฟูกุโอกะ เป็นต้น
นับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางและยกระดับบริการระบบขนส่งมวลชนแก่ประชาชนเพื่อรองรับอนาคตประเทศ
AO12114
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web