WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

คมนาคมลุยโรดแมป 10 ปีจ่อผุดสนามบินทั่วไทย รองรับลงทุน-บริการเชื่อมเศรษฐกิจภูมิภาค

       แนวหน้า : พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติด้านการขนส่งทางอากาศ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือกันถึงยุทธศาสตร์แผนงานและการแก้ปัญหาสภาพคล่องของแต่ละสนามบิน เบื้องต้นได้รับทราบแผนงานที่เกี่ยวข้องในระยะยาว ซึ่งอยู่ในกรอบยุทธศาสตร์แผนงานระยะเวลา 10 ปีที่ได้กำหนดไว้ โดยในปี 2558 จะใช้งบประมาณ 24,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาการขนส่งทางอากาศทั้งหมด

      รมว.คมนาคม กล่าวต่อว่า ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางบก คือ การเข้าออกสนามบิน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องถนนสายหลัก ถนนสายรอง และระบบเชื่อมต่อสาธารณะอื่นๆ โดยเฉพาะจากสนามบินดอนเมืองไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ ชุมชนและนอกเมือง ในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรียลลิ้ง เชื่อมต่อจากดอนเมืองไปยังสุวรรณภูมิ ซึ่งจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2558

     “ในอนาคตจะมีสนามบินที่เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อ คือ สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา โดยในเร็วๆนี้กระทรวงฯจะจัดคณะทำงานไปประสานงานกับกองทัพเรืออู่ตะเภา เพื่อใช้ประโยชน์สนามบินร่วมกัน และจะเสริมพื้นที่เชิงพาณิชย์ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้การเดินทางทางอากาศเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด นอกจากนี้ในสัปดาห์หน้ากระทรวงฯจะลงพื้นที่สนามบินเชียงใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ เช่น การจราจรที่จะเข้าสู่เส้นทางหลักไปยังสนามบินให้มีความคล่องตัว เข้า-ออกได้อย่างสะดวก” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

      พล.อ.อ.ประจิน กล่าวอีกว่า ส่วนการขยายขีดความสามารถของสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 ภายใต้งบประมาณ 62,500 ล้านบาท มี 7 แผนงานหลักที่จะต้องดำเนินการ เช่น การขยายหลุมจอดเครื่องบิน การขยายและสร้างพื้นที่อาคารผู้โดยสารเพิ่ม การสร้างอุโมงค์เชื่อระหว่างอาคารผู้โดยสารเฟส 1 และ 2 พื้นที่จอดรถ และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในและบริเวณโดยรอบสนามบิน ซึ่งจะยังเดินหน้าโครงการต่อไปไม่มีการชะลอ แต่อาจจะแบ่งการลงทุนเป็นระยะ ซึ่งทางกระทรวงฯขอเวลาศึกษารายเอียดภายใน 15 วัน หลังจากนั้นจะนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ส่วนรันเวย์ หรือทางวิ่งเส้นที่ 3 จะใช้งบประมาณที่ ครม.อนุมัติก่อนหน้านี้อีก 19,000 บาท คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีความชัดเจนเรื่องข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง หรือ TOR และก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2560

      ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม กล่าวว่า ทางกระทรวงฯยังได้พิจารณาการขยายการลงทุนในสนามบินภูมิภาค เช่น สนามบินเบตง ที่เป็นความร่วมมือระหว่างไทย-มาเลเซีย-อินโดนิเซีย ซึ่งโครงการได้ผ่านกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) แล้ว และกำลังรอเสนอเข้า ครม. โดยสนามบินดังกล่าวจะเป็นจุดเชื่อมโยงในภูมิภาค สร้างโอกาสในการเดินทาง และการท่องเที่ยว รวมถึงสนามบินแม่สอด ที่จุดในเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ(East-West Economic Corridor:EWEC) ที่จะต้องขยายการลงทุนด้วย

      “นอกจากนี้ยังพิจารณาจุดบอดต่างๆของการเดินทางทางอากาศ เช่น พื้นที่ทางฝั่งตะวันออกที่ยังไม่มีการเดินทางทางอากาศ ระหว่าง จ.มุกดาหาร , อุบลราชธานี และสกลนคร ที่เป็นจุดเชื่อมต่อไปยังลาว และเวียดนามได้ ซึ่งกระทรวงฯกำลังพิจารณาการก่อสร้างสนามบินในระหว่างกึ่งกลางพื้นที่ดังกล่าว โดยผู้ประกอบการและประชาชน เสนอใช้พื้นที่ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ซึ่งกระทรวงฯจะเร่งพิจารณาขยายเพิ่มสนามบินในจุดดังกล่าวให้” รมช.คมนาคม กล่าว

        รมช.คมนาคม กล่าวอีกว่า พื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่มีแผนจะก่อสร้างสนามบินภูมิภาคเพิ่มเติม รวมถึงพื้นที่ที่จะให้สนามบินเป็นจุดเชื่อมโครงข่ายการขนส่งสินค้าระหว่างโครงการท่าเรือทวาย โดยจะพิจารณาที่ จ.กาญจนบุรี เพราะในอนาคตถ้าโครงการท่าเรือทวายมีการพัฒนาเต็มพื้นที่ คาดว่าจะมีการขนส่งและเดินทางมากขึ้น จึงต้องเตรียมพื้นที่สนามบินเพื่อรองรับการเติบโต

      ส่วนพื้นที่ที่เชื่อมต่อกับกัมพูชา ซึ่งจะมี อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และ จ.ตราด ที่แม้ว่าการเดินทางระหว่างกันในบริเวณดังกล่าวจะมีระยะทางไม่ไกลนัก แต่เพื่อประหยัดการเดินทาง ก็อาจจะพิจารณาก่อสร้างสนามบินขนาดเล็กด้วย

       “ความชัดเจนในแผนการพัฒนาขยายและเพิ่มสนามบินน่าจะได้ข้อสรุป 1-2 เดือน โดยจะพยายามเริ่มต้นแผนการพัฒนาให้ได้ภายในปี 2558 และคาดว่าในส่วนของสนามบินขนาดเล็กจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี จึงจะแล้วเสร็จ ส่วนงบประมาณยังไม่สามารถระบุได้ ต้องมีการพิจารณาว่าจะอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใด และต้องศึกษารายละเอียดของโครงการก่อน ซึ่งทางกระทรวงจะพยายามเน้นในเรื่องของการใช้สนามบินเต็มศักยภาพมากที่สุด” รมช.คมนาคม กล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!