- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Sunday, 05 October 2014 22:24
- Hits: 3362
คมนาคมทุ่ม 2.4 หมื่นลบ.พัฒนาสนามบิน,เดินหน้าแผนสุวรรณภูมิระยะ 2
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า การประชุมเชิงปฎิบัติการ (Work Shop) แนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการคมนาคมขนส่งทางอากาศนั้นได้รับงบประมาณในการพัฒนาศักยภาพกว่า 24,000 ล้านบาท ทั้งการพัฒนาสนามบินให้มีศักยภาพ, ปรับปรุงเครื่องมือสื่อสาร ระบบการเดินอากาศ รวมถึง สร้างถนนทางเข้า- ออกสนามบิน ทั่วประเทศ การคมนาคมขนส่งรถโดยสารสาธารณะ เพื่อรองรับประชาชนที่มาใช้บริการให้ได้รับการบริการที่ดี สะดวกและปลอดภัย นอกจากนั้น จะเร่งรัดโครงข่ายรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างสนามบินดอนเมือง กับสนามบินสุวรรณภูมิ
ส่วนแผนนโยบายโครงการพัฒนาขยายขีดความสามารถ สนามบินสุวรรณภูมิระยะที่ 2 มูลค่ากว่า 62,000 ล้านบาทนั้น กระทรวงคมนาคมยืนยันเดินหน้าโครงการต่อไป เพียงแต่จะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อพิจาณารายละเอียดเปรียบเทียบโครงการ ระหว่างโครงการเฟส 2 กับโครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่า 54,000 ล้านบาทบาท ตามที่คณะกรรมการบอร์ด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เห็นชอบให้ดำเนินการว่ามีโครงการไหนเป็นโครงการเดิมที่อยู่ในแผนขยายขีดความสามารถสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 หรือเป็นโครงการใหม่ ให้ได้ข้อสรุปใน 1 สัปดาห์ ก่อนเสนอความเห็นชอบ คณะรัฐมนตรีต่อไป
สำหรับ โครงการขยายศักยภาพสนามบินสุวรรณภูมิ 54,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ขยายความจุอาคารผู้โดยสาร และการให้บริการของสนามบิน แบ่งเป็นการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ทางด้านเหนือของอาคารผู้โดยสารปัจจุบันและรถไฟฟ้าโมโนเรล เพื่อเชื่อมต่อระหว่างอาคารหลังใหม่กับอาคารผู้โดยสารเดิมเพื่อเพิ่มความจุจาก 45 ล้านคน เป็น 65 ล้านคน วงเงิน 24,000 ล้านบาท รวมถึงจะมีการก่อสร้างทางวิ่ง หรือรันเวย์สำรองขนาด 2,900 เมตร และเงินชดเชยผลกระทบทางเสียง 19,000 ล้านบาท รวมถึงการก่อสร้างหลุมจอดเครื่องบินเพิ่มเติมอีก 28 หลุมจอด วงเงิน 10,000 ล้านบาท และอาคารจอดรถกว่า 1,000 ล้านบาท
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคมกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า มีแผนที่จะศึกษาการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาค 5 แห่ง เพื่อรองรับความต้องการในการเดินทาง ทั้งนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนในภูมิภาคและเชื่อมโยงประเทศในอาเซียนในทุกภาค ประกอบด้วย 1. ท่าอากาศยานแม่สอด เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ สามารถเชื่อมโยงการเดินทางระหว่าง East West Corridor และกรุงเทพมหานคร ไปยังประเทศเมียน์ม่าร์ได้สะดวกมากขึ้น
2. ท่าอากาศยานเบตง จะเป็นความร่วมมือระหว่างไทย มาเลเซียและอินโดนีเซีย เพื่อเชื่อมโยงการเดินทาง และสร้างความเจริญในพื้นที่ โดยขณะนี้ผ่านการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว
3. ท่าอากาศยานมุกดาหาร ที่อ.เลิงนกทา ซึ่งจะรองรับการความต้องการเดินทางของภาคอีสาน ซึ่งปัจจุบัน จ.มุกดาหารไม่มีสนามบิน หากผู้โดยสารต้องการเดินทางโดยเครื่องบินจะต้องไปลงที่สนามบินจ.อุบลราชธานี ซึ่งมีสายการบินต้นทุนต่ำ ให้บริการจำนวนมาก หรือไปลงที่สนามบินนครพนม และเดินทางโดยรถยนต์ต่อไปยังมุกดาหาร
4. ท่าอากาศยานอุตรดิตถ์ ซึ่งจะเป็นทางเลือกในการเดินทางสู่พื้นที่ในจังหวัดภาคเหนือที่ยังไม่มีสนามบิน 5. ท่าอากาศยานกาญจนบุรี ซึ่งคาดว่า เมื่อการพัฒนาโครงการท่าเรือทวายเต็มโครงการในอนาคต จะมีนักธุรกิจเดินทางในเส้นทางนี้มากขึ้น ดังนั้นจะต้องเตรียมความพร้อมของสนามบินไว้รองรับ และ 6. ท่าอากาศยานสระแก้ว ที่อ.อรัญประเทศ หรือที่ อ. คลองลึก จ.ตราด เพื่อเชื่อมกับฝั่งประเทศกัมพูชา
นายอาคม กล่าวว่า จะศึกษารายละเอียดสรุปแผนการลงทุนทั้ง 6 ท่าอากาศยานให้แล้วเสร็จใน 1-2 เดือนนี้ เพื่อเริ่มดำเนินโครงการภายในปี 2558 โดยจะใช้เวลาในการก่อสร้างและพัฒนาประมาณ 5 ปี ทั้งนี้นอกจากการศึกษาความเหมาะสม ความจำเป็น ซึ่งเป้าหมายในการลงทุนดังกล่าวเพื่อประหยัดเวลาในการเดินทางจากเดิมที่ใช้เส้นทางถนนเป็นหลัก มาเป็นการเดินทางโดยเครื่องบินแล้ว จะต้องพิจารณาหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วย ว่าจะเป็นกรมการบินพลเรือน (บพ.) หรือบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.
สำหรับ กรณีที่ยังมีท่าอากาศยานภูมิภาคหลายแหล่งที่ยังประสบปัญหาขาดทุนและไม่มีสายการบินไปให้บริการนั้น นโยบาย ต้องการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานภูมิภาคให้เต็มที่ ซึ่งขณะนี้แนวโน้มความต้องการในการเดินทางและจำนวนผู้โดยสารมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งไม่ได้เน้นการท่องเที่ยวในเมืองหลักๆ อย่างเดียวดังนั้นเมืองรอง หากมีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ดี จะรองรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้นไปด้วย
อินโฟเควสท์