- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Tuesday, 30 September 2014 23:12
- Hits: 2935
เดินหน้ามัลติฟังก์ชั่นฯ สุวรรณภูมิ
บ้านเมือง : นายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ในวันที่ 4 ตุลาคมนี้ ที่จะมีการประชุมแผนปฏิบัติการหรือเวิร์คช็อปทางอากาศ ที่กระทรวงคมนาคม โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมนั้น ในส่วนของบริษัท ท่าอากาศไทย จำกัด (มหาชน) จะมีการรายงานความคืบหน้าของผลดำเนินการในส่วนของ ท่าอายานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะต้องเดินหน้าแผนโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือโครงการมัลติฟังก์ชั่นเทอร์มิเนอร์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยคาดว่าหากการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถรองรับ ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 15-20 ล้านคน จากเดิมที่รองรับได้ 45 ล้านคนต่อปี โดยจะใช้ระยะเวลา การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA การก่อสร้างทั้งหมด 45 เดือน ส่วนโครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือเฟส 2 สุวรรณภูมินั้น ขณะนี้ขอชะลอโครงการก่อสร้างก่อน นอกจากนี้ สำหรับการก่อสร้างโครงการขยายอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตนั้น ขณะนี้พบว่าเกิดความล่าช้า 7-8 เดือน จากเดิมตามแผนที่กำหนด เนื่องจากประสบปัญหาการมขาดแรงงาน และปัญหาเนื่องจากฤดูฝน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการอนุมัติให้ขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปเพิ่มเป็น 170 วัน ซึ่งคาดว่าจะเสร็จประมาณ เดือนสิงหาคม 2558 แต่ผู้รับเหมาก่อสร้างก็จะต้องถูกปรับเนื่องจากการก่อสร้างที่ล่าช้า
ทอท.พบ'ประจิน'พรุ่งนี้ ชงลงทุนก่อสร้าง 5 หมื่นล.
แนวหน้า : นายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เปิดเผยว่า จะนำเสนอโครงการลงทุนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่บริเวณทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A และรถไฟฟ้าโมโนเรล มูลค่า 2.4 หมื่นล้านบาท และโครงการลงทุนอื่นๆในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท ต่อ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในวันพรุ่งนี้ (30 ก.ย.) จากนั้น จะนำเสนอรายละเอียดการลงทุนอย่างเป็นทางการต่อ พล.อ.อ.ประจิน อีกครั้งในสัปดาห์หน้า และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในเดือน ธ.ค. นี้
ทั้งนี้ หลังจากนั้น จะมีการนำเสนอแผนต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) และจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี และเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2558 และใช้เวลา 4 ปี จึงเปิดให้บริการได้ โดยเงินลงทุนทั้งหมดจะมาจากสภาพคล่องของ ทอท. ที่มีอยู่กว่า 4.4 หมื่นล้านบาทและรายได้อีกประมาณปีละ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโครงการอื่นๆ ที่จะลงทุนพร้อมกับอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ประกอบด้วย 1. รันเวย์ที่ 3 ความยาว 2,900 เมตร มูลค่าการลงทุนรวมค่าชดเชยในการลดผลกระทบทางเสียงประมาณ 1.8-1.9 หมื่นล้านบาท โดยรันเวย์นี้จะเป็นรันเวย์สำรองในกรณีที่รันเวย์ที่ 1 และ 2 ปิดซ่อม ช่วยให้บริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น 2.การก่อสร้างหลุมจอดเพิ่มเติมอีก 28 หลุมจอด มูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และ 3.อาคารจอดรถเพิ่มเติม มูลค่า 1 พันล้านบาท