- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Friday, 01 February 2019 06:43
- Hits: 6176
คมนาคม ปรับเกณฑ์จัดซื้อรถไฟ-รถไฟฟ้า หวังลดต้นทุนกว่า 1.8 หมื่นลบ./ปี
ก.คมนาคม ปรับเกณฑ์จัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนระบบราง กำหนดให้จัดซื้อตัวรถและระบบจากโรงงานในประเทศ ที่ขอรับการส่งเสริมบีโอไอ ชี้ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางในไทย ลดต้นทุนนำเข้าปีละกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้เรียกประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของไทย โดยกำหนดให้ระบบการจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนทางรางของภาครัฐทั้งหมด จะต้องพิจารณาจากผู้ผลิตในประเทศที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามโครงการส่งเสริมการผลิตรถไฟ หรือรถไฟฟ้า หรืออุปกรณ์หรือชิ้นส่วน (เฉพาะระบบราง) จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เท่านั้น โดยเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีฟภายในรัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความเห็นชอบเพื่อให้หน่วยงานรัฐทั้งหมดนำไปปฎิบัติ
ทั้งนี้ ระบบการจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนทางรางของภาครัฐ ตามเงื่อนไขใหม่ประกอบด้วย
1. การจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด จะกำหนดให้มีการซื้อตู้รถไฟและรถไฟฟ้าจากผู้ผลิตในประเทศหรือบริษัทที่มีแผนจะลงทุนผลิตในประเทศเท่านั้น ดำเนินการภายในปี 2563
2 การจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนทางรางของภาครัฐทั้งหมด จะกำหนดให้มีการส่งมอบตู้รถไฟและรถไฟฟ้าจากผู้ผลิตที่มีการประกอบขั้นสุดท้ายในประเทศ .ภายในปี 2565
3. การจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนทางรางของภาครัฐทั้งหมด จะกำหนดให้ต้องส่งมอบตู้รถไฟและรถไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศทั้งหมด โดยใช้ชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของราคารถไฟและรถไฟฟ้า ภายในปี 2567
4. การจัดซื้อจัดจ้างระบบขนส่งมวลชนทางรางของภาครัฐทั้งหมด จะกำหนดให้ต้องส่งมอบตู้รถไฟและรถไฟฟ้า รวมทั้งระบบอาณัติสัญญาณ (Signaling System) ที่ผลิตในประเทศทั้งหมด ทั้ง100% รวมทั้ง ต้องมีการผลิตชิ้นส่วนหลักที่เป็นสาระสำคัญ ด้วย คือ ระบบตัวรถ ประกอบด้วย โครงสร้าง ตู้โดยสารและห้องควบคุมรถ,ระบบช่วงล่างของโครงสร้างตัวรถ ประกอบด้วย โบกี้ ระบบห้ามล้อ (และอุปกรณ์เชื่อมต่อตู้โดยสาร,ระบบขับและควบคุม และระบบควบคุมและอาณัติสัญญาณ กำหนดตั้งแต่ปี 2568
ทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย แอร์พอต เรียลลิงก์ ต่อไปจะต้องจัดซื้อตามเงื่อนไขที่กำหนดข้างต้น เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้า ชิ้นส่วน และระบบรถไฟฟ้าให้ได้ เนื่องจากไทยมีการลงทุนระบบรางจำนวนมาก และอีก 20 ปี ข้างหน้าจะมีความต้องการจำนวนตู้รถไฟและรถไฟฟ้ามากกว่า 1,000 ตู้ หากอนาคตไทยสามารถผลิตได้เอง จะทำให้เกิดการลงทุนไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาทต่อปี ช่วยประหยัดการนำเข้ารถปีละ 1.8 หมื่นล้านบาท /1,000 ตู้ ลดต้นทุนค่าซ่อมบำรุง 4,300 ล้านบาท/ปี และคาดว่าโรงงานผลิตรถไฟ-รถไฟฟ้าแห่งแรก จะจัดตั้งได้ในปี 2565
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย