- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Saturday, 22 September 2018 18:56
- Hits: 5236
ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืนคำตัดสินให้ กทพ.จ่ายชดเชยค่าเสียหายรวมกว่า 1.8 พันลบ.ให้บ.ย่อย BEM
รายงานจากศาลปกครองว่า ในวันนี้ (21 ก.ย.61) ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ชำระเงินแก่บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) เป็นบริษัทย่อยของบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) โดยจ่ายเงินค่าชดเชยรายได้ที่ลดลง แก่บริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด สำหรับปี 2542 จำนวน 780.80 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ตามที่กำหนดในสัญญา และสำหรับปี 2543 จำนวน 1,059.20 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ตามที่กำหนดในสัญญา รวมจำนวนกว่า 1.8 พันล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการที่ บริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด ได้ก่อสร้างทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ตามสัญญาที่รัฐมนตรีมีมติให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการ และกรมทางหลวงได้ก่อสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ – รังสิต ซึ่งบริษัทเห็นว่าเป็นทางแข่งขันกับทางด่วน สายบางปะอิน – ปากเกร็ด ตามที่กำหนดในสัญญา เนื่องจากไม่เข้าข้อยกเว้นที่ระบุไว้ว่าเป็นทางที่ไม่มีลักษณะแข่งขัน จึงร้องขอให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยชำระเงินค่าชดเชยที่ปริมาณจราจรและรายได้ลดลงจากที่ประมาณการไว้
ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดว่า ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ-รังสิต เป็นทางแข่งขันที่ทำให้ปริมาณการจราจรและรายได้ค่าผ่านทางของทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด ลดลงจากที่ประมาณการไว้ ซึ่งมีผลกระทบตามสัญญา จึงชี้ขาดให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ชำระเงินค่าชดเชยรายได้ที่ลดลงแก่บริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด
ศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงมีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ชำระเงินแก่บริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด และยกคำร้องของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว
ทั้งนี้ ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการ ทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด)
อินโฟเควสท์