- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Sunday, 10 June 2018 07:42
- Hits: 3163
แอร์พอร์ตลิงก์ เตรียมทำแผนธุรกิจเน้นวิ่งรถไฟสายสีแดง หลังถ่ายโอนสายเดิมให้โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร รองประธานกรรมการ ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดเผยว่า ตามที่โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้กำหนดให้เอกชนที่ชนะการประมูลรับโอนการจัดการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ไปด้วย ซึ่งคาดว่าจะได้เอกชนที่จะเข้าดำเนินงานโครงการฯ ภายในเดือนธันวาคมปีนี้ และจะใช้ระยะเวลาที่จะรับโอนการบริหารการเดินรถเดิมของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ประมาณ 2 ปี นั้น
ทางคณะกรรมการบริษัทเห็นว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้บริษัทจะต้องจัดการดูแล บำรุงรักษา และเดินรถให้ได้ครบทั้ง 9 ขบวนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเร่งด่วนเช้า-เย็น ซึ่ง รฟฟท.จะต้องทำงานอย่างหนัก โดยอาจจะต้องปรับปรุง หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบ และวิธีการบริหารจัดการในการเดินรถ การบำรุงรักษา และการจัดหาอะไหล่ให้มีความพร้อมในการใช้งาน
รวมทั้งปรับปรุงระบบการจัดการ รูปแบบการทำงานต่างๆ เพื่อให้การถ่ายโอนการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ไปสู่เอกชนเป็นไปอย่างราบรื่น และเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า รฟฟท. มีประสบการณ์ และมีศักยภาพเพียงพอที่จะได้รับความไว้วางใจจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่จะมอบหมายให้ รฟฟท. ดำเนินการเดินรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ของ รฟท. โดยเฉพาะรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง
ทั้งนี้ รฟฟท.ว่าจ้าง บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเพื่อร่วมทำงานกับ รฟฟท.ในการจัดทำแผนธุรกิจ และแผนยุทธศาสตร์ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ เพื่อให้มียุทธศาสตร์การดำเนินงานเพื่ออนาคต และแผนปฎิบัติการที่เข้มข้น และชัดเจนว่าจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ และเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานด้านใดบ้าง รวมทั้งกำหนดตัวชี้วัดในการติดตาม ประเมินผล และกำกับงานเพื่อให้การดำเนินงานสามารถวัดผล และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งในอนาคตหากได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเดินรถไฟฟ้าสายอื่น จะต้องมีการเตรียมการ หรือปรับรูปแบบโครงสร้างองค์กรอย่างไร
โดยเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.61 คณะกรรมการบริษัท และผู้บริหารระดับสูง รวมทั้งผู้บริหารของบริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ร่วมประชุมหารือถึงการกำหนดกรอบการทำงานดังกล่าว โดยหลังจากนี้จะประสานงานร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิดต่อไปจนกระทั่งแผนงานดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์ทั้งฉบับในช่วงเดือน ก.ย.61 แต่ทั้งนี้ระหว่างที่ประสานการทำงานร่วมกันหากได้ข้อสรุปในประเด็นใดออกมา รฟฟท.จะนำข้อสรุปดังกล่าวมาดำเนินการโดยทันที แม้ว่าแผนงานจะยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ก็ตาม เพื่อให้สามารถเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานของ รฟฟท. ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
ด้านนายไวฑูรย์ โภคาชัยพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า เบื้องต้นบริษัทได้เข้ามาเก็บข้อมูลของ รฟฟท. และได้ดำเนินการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทางธุรกิจทั้งภายใน และภายนอก จัดทำ SWOT Analysis รวมทั้งข้อเสนอแนะเชิงยุทศาสตร์ และแนวความคิดในการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาสู่อนาคตในระดับหนึ่งแล้ว เช่น การดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล การมุ่งเน้นศักยภาพ และประสิทธิภาพการเดินรถและการซ่อมบำรุง รวมถึงการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการภายใน การมุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ การขับเคลื่อนองค์กรด้วยทุนมนุษย์ เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรม โดยหลังจากนี้จะเจาะลึกในรายละเอียดต่างๆเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
อินโฟเควสท์
แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ให้การต้อนรับคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเดินทางมาเยี่ยมชมการดำเนินงาน ณ ศูนย์ซ่อมบำรุงคลองตัน
รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ลิงก์ ให้การต้อนรับคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเดินทางมาเยี่ยมชม และรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงาน การซ่อมบำรุง และการให้บริการของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ภายในศูนย์ซ่อมบำรุงคลองตัน เมื่อวันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา
นายวิสุทธิ์ จันมณี กรรมการ และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดเผยว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม 2561 ภายในศูนย์ซ่อมบำรุงคลองตัน บริษัทได้ให้การต้อนรับ พลโท จเรศักณิ์ อานุภาพ ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการฯ และคณะอนุกรรมาธิการด้านการคมนาคมทางบก และทางราง ซึ่งเดินทางมาตรวจเยี่ยม และรับทราบข้อมูลการดำเนินงานในด้านต่างๆของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ทั้งด้านการซ่อมบำรุง ด้านความปลอดภัยในการให้บริการ ข้อมูลสถิติผู้โดยสาร รวมถึงแผนพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ในอนาคต โดยคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะอนุกรรมาธิการด้านการคมนาคมทางบก และทางรางได้ให้ความสนใจ ในเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การพัฒนาเทคโนโลยี การบริหารบุคลากรและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ
หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลและเงื่อนไขเพิ่มเติมได้ที่หมายเลข Call Center 1690 หรือ www.srtet.co.th , www.facebook.com/AirportRailLink และ Twitter : Airport Rail Link
รฟท.คาดรถไฟสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต สร้างเสร็จทันปี 62 ก่อนเปิดบริการ Q3/63 คาดผู้โดยสารแตะ 1 แสนคน/วันภายใน 5 ปี
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน ในฐานะรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คาดว่า โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิตระยะทางรวม 26.3 กม. จะก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนพ.ย.62 และคาดจะเปิดให้บริการได้ในเดือน ต.ค.63 หรือในไตรมาส 3/63 โดยจะมีการทดสอบเดินรถ ในมิ.ย.63 และทำการทดสอบ 3 เดือนก่อนเปิดให้บริการ ในส่วนรถไฟที่จะนำมาให้บริการมีจำนวน 103 ตู้ จะเริ่มสั่งผลิตในเดือน ก.ค. 62 กับบริษัทฮิตาชิ (ซึ่งเป็นกลุ่ม Mitsubishi-Hitachi-Sumitomo Consortium (MHSC)ที่เป็นผู้รับจ้างสัญญาที่ 3 โดยบางขบวนจะมี 6 ตู้ และ 4 ตู้ และรถจะทยอยส่งมอบในไตรมาส 2/62
ทั้งนี้ คาดว่า การเดินรถปีแรกจะมีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 5 หมื่นเที่ยวคน/วัน และหากเพิ่มเป็น 7-8 หมื่นเที่ยวคน/วันจะถึงจุดคุ้มทุน และตามประมาณการณ์คาดว่าในปีที่ 5 จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มมาเป็น 1.0- 1.2 แสนเที่ยวคน/วัน ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มมีกำไรในปีที่ 6 หรือ ปีที่ 7 ทั้งนี้ รถไฟชานเมืองสายสีแดงสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าเส้นทางอื่นได้หมด ได้แก่ สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีเขียว ซึ่งอนาคตสายสีเขียวก็จะมีส่วนต่อขยายออกไปถึงลำลูกกา ขณะที่เดียวกันสายสีเขียวก็เชื่อมต่อสายสีเหลือง และสีส้ม ส่วนสายสีชมพู เชื่อมสถานีหลักสี่ โดยอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 14-45 บาท/เที่ยว ใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าสายอื่น โดยคาดว่าจะมีค่าโดยสารเฉลี่ย 32-34 บาท/คน/วัน
นอกจากนี้ รฟท.เตรียมเสนอโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ได้แก่ รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , ตลิ่งชัน-ศาลายา และ ตลิ่งชัน-ศิริราช รวมมูลค่าเงินลงทุนราว 3-4 หมื่นล้านบาท ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)พิจารณาก่อนนำแสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)
นายวรวุฒิ กล่าวว่า รฟท.เตรียมเสนอคณะกรรมการ รฟท. ในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ เพื่ออนุมัติการจัดตั้งบริษัทใหม่ 2 แห่งซึ่ง รฟท.จะเป็นผู้ถือหุ้นรายเดียว บริษัทแรกจะดำเนินธุรกิจบริหารการเดินรถรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยเป็นการใช้บุคคลากรจากบริษัท รถไฟฟ้า รฟฟท. จำกัดที่ปัจจุบันเป็นผู้เดินรถไฟแอร์พอร์ตลิ้งก์และกำลังจะปิดกิจการหลังโอนสิทธิการเดินรถในเอกชนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จากนั้นนำส่งกระทรวงคมนาคมและจะเสนอคณะรัฐมนตรีของบกว่า 3 พันล้านบาท ใช้ในการจัดตั้งบริษัทเดินรถรถไฟชานเมืองสายสีแดง ที่จะรับพนักงานเพิ่มโดยบางส่วนมาจากรถไฟแอร์พอร์ตลิ้งก์ที่มีความชำนาญในการเดินรถแล้ว โดยจะมีการฝึกการเดินรถกับ HANSHIN Railway ซึ่งเป็นบริษัทเดินรถไฟในโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นในต.ค.62 และจะสรรหาซีอีโอ จากบุคคลภายนอกในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้
และ บริษัทที่สองจะดำเนินธุรกิจบริหารทรัพย์สินของรฟท. ในเชิงพาณิชย์ โดยจะดูแลสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะมีการเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ พื้นที่แปลงเอ จำนวน 32 ไร่ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จะเปิดให้เอกชนเข้ามาบริหารพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ คาดว่าจะได้ผู้ชนะประมูลมาบริหารพื้นที่ภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าโดยจะพัฒนาพื้นที่แบบ Mixed Used ไก้แก่ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม เป็นต้น โดยขณะนี้กำลังแต่งตั้งคณะกรรมการตามม.35 ของพ.ร.บ.ร่วมทุน เพื่อดำเนินการประมูลโครงการนี้ โดยส่วนนี้จะสร้างสำนักงานรฟท.แห่งใหม่ที่สถานีกลางบางซื่อด้วยซึ่งอยู่ติดกับสำนักงานของบมจ.ปูนซิเมตืไทย (SCC) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ให้ความสนใจเข้าร่วมประมูล
"การที่รถไฟเข้ามาเดินรถสายสีแดงเอง เป็นจุดเปลี่ยนที่จะช่วยพลิกฟื้นธุรกิจ ซึ่งเราได้ต่อสู้เรื่องนี้มานาน เราเชื่อว่าเมื่อโครงข่ายสมบูรณ์ การเดินรถไฟสายสีแดงจะมีผู้โดยสารได้มากกว่าเป้าหมาย" นายวรวุฒิ กล่าว
ปัจจุบัน รฟท.มีผลขาดทุนกว่าแสนล้านบาทโดยในงวดปี 60 มีผลขาดทุน 1.2 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ สถานะการดำเนินการโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงในปัจจุบันตามสัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 เป็นงานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง มีความคืบหน้า 69.31% สัญญาที่ 2 เป็นงานโยธาสำหรับทางรถไฟช่วงบางซื่อ-รังสิต มี 8 สถานี ทางรถไฟยกระดับและทางรถไฟระดับดิน มีควมคืบหน้า 97.94% และ สัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟ สำหรับช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ความก้าวหน้าคิดเป็น 26.71% ซึ่งจะต้องเร่งงานให้เสร็จทัน
อนึ่ง กิจการร่วมค้าเอสยู (บมจ.ซิโน-ไทยเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ)เป็นผู้รับจ้างสัญญาที่ 1 , บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) เป็นผู้รับจ้างสัญญาที่ 2 และ กลุ่ม Mitsubishi-Hitachi-Sumitomo Consortium (MHSC)ที่เป็นผู้รับจ้างสัญญาที่ 3
ขณะที่สถานีกลางบางซื่อปัจจุบันมีความคืบหน้าในการก่อสร้าง 49.31% โดยมีรูปแบบการก่อสร้างแบ่งเป็นอาคาร 3 ชั้น และชั้นใต้ดินประกอบด้วย ชั้นใต้ดิน เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถประมาณ 1,700 คัน โดยมีโถงเชื่อมต่อจากพื้นที่จอดรถขึ้นไปยังชั้นที่ 1, ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋ว มีโถงพักคอยและรับผู้โดยสาร รวมถึงพื้นที่พาณิชยกรรมและร้านค้าสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน , ชั้นที่ 2 เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟชานเมือง สายสีแดง มี 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกลมี 8 ชานชาลา และ ชั้นที่ 3 เป็นชานชาลาสำหรับรองรับรถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร เชื่อมภูมิภาค ทั้งหมดมี 10 ชานชาลา แบ่งเป็นสายเหนือ 4 ชานชาลา และสายอีสาน 6 ชานชาลา และยังสามารถรองรับรถไฟความเร็วสูงในอนาคต และรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน ได้อีก 2 ชานชาลา และมีทางเดินเชื่อมต่อกับสถานีบางซื่อของสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
นายวรวุฒิ กล่าวว่า รฟท.เตรียมนำเสนอคณะกรรมการ รฟท.ในอีก 2-3 เดือนนี้ในการปรับค่าแรกเข้าค่าโดยสารรถไฟชั้นที่ 3 จาก เดิม 2 บาทเป็น 8-10 บาท เนื่องจาก รฟท.มีต้นทุนสูงเกินกว่า 8 บาท/คน มานานแล้ว อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นสูงขณะนี้ไม่ได้กระทบกับค่าโดยสารแต่อย่างใด
อินโฟเควสท์
ประมูลสายสีแดงปีนี้ รฟท.ต่อขยายถึงนครปฐม/มธ.
แนวหน้า : เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน และรักษาการ ผู้ว่าการการรถไฟ แห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ได้ลงพื้นที่ตรวจความก้าวหน้าของ โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง
นายวรวุฒิกล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างของโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต พบว่า ขณะนี้ งานสัญญาที่ 1 งานโยธาของสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุงมีความคืบหน้าแล้วประมาณ 69.31% ในส่วนสัญญา 2 งานโยธาทางรถไฟช่วงบางซื่อ-รังสิต คืบหน้า 97.94%
อย่างไรก็ตาม สัญญาที่ 3 งานระบบรถไฟฟ้ารวมจัดหาตู้รถไฟฟ้า พบว่ามีความคืบหน้าเพียง 26.71% ซึ่งความล่าช้าในส่วนของการประกอบขบวนรถ 130 ตู้นั้น ร.ฟ.ท.ได้เร่งรัดบริษัทผู้รับงานประกอบรถไปแล้ว พร้อมเชื่อว่าจะสามารถเร่งรัดดำเนินการให้รับขบวนรถได้ในปลายปี 2562 และคาดว่าสำหรับงานก่อสร้างทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2563 หลังจากนั้น จะเริ่มทดสอบระบบอีกประมาณ 3 เดือน ก่อนจะพร้อมเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มระบบในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ถือว่าการดำเนินการโครงการดังกล่าวมีล่าช้ากว่าเดิมเป้าหมายเดิมประมาณ 3 เดือน
นายวรวุฒิ กล่าวว่า ในส่วนของความคืบหน้า โครงการรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา (นครปฐม) และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช รวมวงเงิน 24,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงาน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในกลางปีนี้ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาและคาดว่า จะสามารถเปิดประกวดราคาได้ไม่เกินสิ้นปีนี้
ขณะที่การบริหารการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงนั้น คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) ได้เห็นชอบให้ ร.ฟ.ท.จัดตั้งบริษัทลูกเข้ามาเป็นผู้บริหารการเดินรถ ซึ่งจะมีการตั้งบริษัทใหม่โดยดึงพนักงาน จากรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิ้งค์ บางส่วน เข้ามาช่วยและรับสมัครจากภายนอกเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าหลังจากเปิดให้บริการปีแรกจะมีผู้โดยสารอยู่ที่ 50,000 คนต่อวัน และหลังจากนั้นจะมีการขยับเป็น 70,000-80,000 คน ต่อวัน และคาดจะทำให้บริษัทลูกของการรถไฟฯเริ่มมี กำไรในปีที่ 6-7 ที่คาดว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 คนต่อวัน
นายวรวุฒิ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 21 มิถุนายน 2561 จะมีการเสนอให้ทางคณะกรรมการ(บอร์ด) ร.ฟ.ท.เพื่อพิจารณาอัตราค่าโดยสารที่จะใช้จัดเก็บสำหรับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เบื้องต้นจากการ คำนวณค่าโดยสารคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 32-34 บาท หรือจัดเก็บในอัตราเริ่มต้น 14 บาท และ แพงสุด 45 บาทต่อคนต่อเที่ยว
นอกจากนี้ จะมีการเสนอการปรับปรุง ยกระดับกิจการของ บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ให้เป็นบริษัทลูกที่บริหารการเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีแดง โดยมีทุนจดทะเบียนที่จะขอจากรัฐบาลในช่วงเริ่มต้น 3,000 ล้านบาท มีพนักงานในปีเริ่มต้นที่ประมาณ 600 คน และคัดเลือกสรรหาบุคลากรระดับผู้บริหารภายในเดือนกรกฎาคมต่อไป
ยันเปิดสายสีแดงต.ค.63 เคาะค่าโดยสาร 14-45 บ. เร่งประมูลมิสซิงลิงก์
ไทยโพสต์ : บางซื่อ * รฟท.เผยแผนการก่อสร้างรถไฟสายสีแดงล่าช้าไป 12% เหตุงานระบบล่าช้า มั่นใจเปิดให้บริการทัน ต.ค.63 เคาะอัตราค่าโดยสารตลอดเส้นทางเฉลี่ย 14-15 บาท/เที่ยว เผยเปิดประมูลรถ ไฟมิสซิงลิงก์ 4 หมื่นล้านบาทภายในปีนี้
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประ เทศไทย (รฟท.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการระบบรถไฟชาน เมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ- รังสิต ระยะทาง 26.3 กิโลเมตร ว่าโครงการมีความล่าช้ากว่าแผน 12% โดยมีสาเหตุหลักมาจากงานระบบรถไฟฟ้าล่าช้า เพราะต้องมีการปรับระบบอาณัติสัญญาณให้เป็นระบบแบบ ETCS (Euro pean Train Control System) ซึ่งเป็นระบบสากลที่รองรับรถได้ทุกประเภท คาดว่าจะปรับระบบแล้วเสร็จมิ.ย.ปี 63 จากนั้นจะนำรถมาวิ่งทดสอบระบบอีก 90 วัน และจะเปิดให้บริการในปลายปี 2563
ทั้งนี้ คาดว่าในปีแรกจะมีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 50,000 คน และภายใน 5 ปีจะมีปริมาณการเติบโตมากกว่า 100% หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 100,000 คนต่อวัน ส่งผลให้โครงการดังกล่าวจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 6-7 ปี อย่างไรก็ตาม สายสีแดงจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าเส้นทางอื่นได้หมด โดยอัตราค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 14-45 บาท/เที่ยว
"รถไฟสายสีแดงจะมีสถานีกลางบางซื่อเป็นชุมทางของการเดินรถ โดยจะเป็นศูนย์ กลางของรถไฟชานเมือง รถไฟความเร็วสูง ที่จะวิ่งออกไปแนวเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก นอกจากนี้จะสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่แนว ของสีน้ำเงินจะเชื่อมกับสายสีเขียวที่สถานีหมอชิต และต่อสาย สีม่วงที่เตาปูน ส่วนสีชมพูจะเชื่อม กับสีแดงที่หลักสี่ การเดินทางด้วยรถไฟทุกสายจะเชื่อมต่อกันได้หมด จะลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวได้ในอนาคต เพราะมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น ส่วนการก่อสร้างตัวสถานีกลางบางซื่อคาดจะเสร็จสมบูรณ์ พ.ย.2562 โดยปัจจุบันมีความคืบหน้าในการก่อสร้าง 49.31%" นายวรวุฒิกล่าว
นายวรวุฒิ กล่าวถึงความคืบหน้าการก่อตั้งบริษัทลูกเดินรถ เพื่อรองรับการบริหารงานเดินรถไฟสายสีแดงนั้น จะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ในการประชุมวันที่ 21 มิ.ย.นี้ จากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาและเสนอขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป โดยหลักการในเบื้องต้นนั้นจะมีการจัดตั้งบริษัทลูกด้วยทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท ก่อนทำการรับบุคลากรล็อตแรก 600 คน และคัดเลือกสรรหาบุคลากรระดับผู้บริหารภายในเดือน ก.ค.ส.ค.นี้ต่อไป
นายกำพล บุญชม ผู้อำ นวยการโครงการรถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต การรถ ไฟแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีแดง (มิสซิงลิงก์) ประกอบด้วย สายสีแดงอ่อน (ช่วงบาง ซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก) และสายสีแดงเข้ม (ช่วงบางซื่อ- หัวลำโพง) ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 4.41 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ใกล้ดำเนินการแล้วเสร็จ คาดว่าจะสามารถ เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรม การ (บอร์ด) รฟท.ได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ ก่อนเร่งเสนอกระ ทรวงคมนาคมและที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเร็วๆ นี้เพื่อให้สามารถเปิดประ มูลโครงการได้ตามเป้าหมายภายในปีนี้.