- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Saturday, 02 June 2018 11:19
- Hits: 4857
ประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 24 คืบหน้าไปอีกนิด
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย และนายนิ่ง จี๋เจ๋อ (Ning Jizhe) รองประธานกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธานประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 24 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ณ โรงแรมแชงกรี - ลา กรุงเทพฯ โดยมี นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ สภาวิศวกร และสภาสถาปนิก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมการประชุม
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 24 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ - นครราชสีมา แบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 14 ตอน คือ ตอนที่ 1 สถานีกลางดง - ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร เริ่มดำเนินการก่อสร้างไปเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 โดยมีวิศวกรชาวจีนเป็นที่ปรึกษาควบคุมงานอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างด้วย ขณะนี้มีความก้าวหน้าตามลำดับ การตรวจสอบคุณภาพและผลงานเป็นที่น่าพอใจ ตอนที่ 2 ช่วงสีคิ้ว - กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร ฝ่ายจีนได้จัดส่งแบบรายละเอียดให้ฝ่ายไทย ซึ่งที่ปรึกษาของไทยได้ตรวจสอบแบบและส่งความเห็นให้ฝ่ายจีนแก้ไข โดยฝ่ายจีนจะแก้ไขและส่งให้ไทยภายในวันที่ 8 มิถุนายน 2561 คาดว่าจะดำเนินการประกวดราคาในเดือนสิงหาคม 2561 และเริ่มการก่อสร้างในเดือนพฤศจิกายน 2561 ส่วนที่เหลืออีก 12 ตอน จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ๆ ละ 6 ตอน
ฝ่ายจีนจะส่งมอบแบบรายละเอียดทั้ง 2 กลุ่ม ให้ไทยภายในเดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งไทยต้องใช้เวลาในการตรวจสอบแบบรายละเอียดและเสนอความเห็นให้จีน เช่น การออกแบบอาคารสถานีที่ไทยต้องการให้มีเอกลักษณ์ในรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทย คาดว่าจะดำเนินการประกวดราคากลุ่มแรก จำนวน 6 ตอน ได้ประมาณเดือนกันยายน 2561 เริ่มการก่อสร้างประมาณเดือนมีนาคม 2562 และดำเนินการประกวดราคากลุ่มที่ 2 จำนวน 6 ตอน ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561 เริ่มการก่อสร้างประมาณเดือนเมษายน 2562
2. โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 เส้นทางนครราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 350 กิโลเมตร คงเป็นไปตามหลักการเดิม คือ ไทยจะดำเนินการเองทั้งในส่วนของการศึกษาความเหมาะสมและการออกแบบรายละเอียดโครงการ โดยมีจีนเป็นที่ปรึกษา ซึ่งฝ่ายจีนเห็นด้วยและขอมีส่วนร่วมในการดูแบบรายละเอียดและตัวรถ ทั้งนี้ ไทยจะเร่งดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 เริ่มก่อสร้างภายในปี 2562 และเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จเปิดให้บริการได้พร้อมกับโครงการฯ ระยะที่ 1
3. การเชื่อมโยงทางรถไฟช่วงหนองคาย - เวียงจันทน์ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ เพื่อใช้เป็นสะพานสำหรับรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่
4. การเจรจาสัญญา 2.3 งานระบบรถไฟความเร็วสูงและการฝึกอบรม จะเร่งเจรจาร่วมกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนสิงหาคม 2561
5. วิศวกรควบคุมงาน ระยะแรกใช้วิศวกรควบคุมงาน จำนวน 460 คน เป็นวิศวกรจีน 50 คน และวิศวกรไทย 410 คน สำหรับค่าใช้จ่ายของวิศวกรไทย ฝ่ายจีนเป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทยเป็นผู้คัดเลือกวิศวกรไทยที่มีคุณสมบัติ เพื่อดำเนินการต่อไป
รมว.คมนาคม เร่งจีนส่งแบบก่อสร้างรถไฟไทย-จีน คาดเริ่มเปิดประมูลได้ในส.ค-พ.ย.นี้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 24 วันนี้ได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะทาง 252.35 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 179,412.21 ล้านบาท ซึ่งตอนที่ 1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. การก่อสร้างน่าพอใจโดยฝ่ายจีนจัดวิศวกรที่ปรึกษาควบคุมและตรวจสอบงานในพื้นที่ก่อสร้างตามมาตรฐานและกำหนดแล้วเสร็จในเดือนส.ค.นี้
ทั้งนี้ ตามแผนงานซึ่งแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 14 ตอนนั้น ได้ย้ำให้ฝ่ายจีนเร่งแบบทั้งหมดในวันที่ 8 มิ.ย.ซึ่งหลังจากนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะถอดราคากลางและเปิดประมูลภายในเดือนส.ค. 61 และก่อสร้างได้ในเดือนพ.ย. 61 โดยในส่วนของตอนที่ 2 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม.นั้น จะเป็นแบบรายละเอียดที่ให้จีนปรับแก้แล้ว
ส่วนอีก 12 ตอน ที่เหลือ จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ๆละ 6 ตอน โดยตอนที่ 3-8 จะเปิดประมูลในเดือนก.ย.61 และก่อสร้างในเดือนมี.ค. 62 ส่วนตอนที่ 9-14 จะเปิดประมูลเดือนพ.ย.61 ก่อสร้างเดือนเม.ย. 62
สำหรับ แผนการก่อสร้างเฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทางกว่า 300 กม. นั้น หลักการฝ่ายไทยจะออกแบบรายละเอียดเอง โดยจีนเป็นที่ปรึกษา เนื่องจากใช้เทคโนโลยีจีนและมีส่วนเชื่อมต่อกับสปป.ลาวไปยังจีน โดยตั้งเป้าจะศึกษาออกแบบให้เสร็จอย่างเร็วในปี 61 และจะเริ่มก่อสร้างในปี 62 โดยจีนต้องการเร่งเฟส 2 ให้ทันกับเฟสแรกเพื่อเปิดเดินรถพร้อมกันตลอดสาย
นอกจากนี้ ได้หารือถึงเส้นทางช่วงเชื่อมต่อหนองคาย-เวียงจันทน์ โดยตกลงให้ฝ่ายจีนเป็นเจ้าพศึกษาออกแบบและประชุม 3ฝ่าย เพื่อกำหนดตำแหน่งสะพาน จุดตั้งสถานีฝั่งลาว ขณะที่ได้ข้อสรุปว่า สะพานใหม่จะมีทั้งระบบรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่รางขนาด1 เมตร ส่วนสะพานมิตรภาพเดิม จะยกเลิกการเดินรถไฟ1 เมตร เป็นสะพานรถยนต์อย่างเดียว เพื่อลดปัญหาจราจร
นายอาคม กล่าวถึงสัญญาที่ 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร) ว่า การเจรจารายละเอียดยังไม่เรียบร้อย ซึ่งกระทรวงการคลังขอให้จีนส่งสัญญา อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาการชำระ และเงื่อนไขแนบท้ายสัญญา ซึ่งยังมีประเด็นที่ต้องหาข้อยุติ เช่น กรณีผิดสัญญา จะฟ้องร้องกันได้หนือไม่ ซึ่งจีนยังไม่ตกลง ทั้งนี้ กรณีสัญญากับรัฐ จะฟ้องร้องและยึดทรัพย์ในโครงการอื่นแทนไม่ได้ ตามกฎหมายไทย หากผิดสัญญากับรัฐ กรณีล่าช้าจากเหตุใดเหตุหนึ่ง เช่นภัยพิบัติ เหตุสุดวิสัย เป็นต้น จะใช้วิธีต่อขยายอายุสัญญา อย่างไรก็ตามเงื่อนไขในสัญญา 2.3 จะต้องสรุปภายในเดือนมิ.ย. หากเจรจากับจีนไม่ได้ กระทรวงคลังจะพิจารณาแหล่งเงินอื่นต่อไป
อินโฟเควสท์