- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Sunday, 13 May 2018 07:50
- Hits: 5244
คมนาคม เผยบริษัทที่ปรึกษาฯ 8 ราย แข่งเสนอรูปแบบองค์กรบริหารรถไฟความเร็วสูง
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินซึ่งตอบรับจะร่วมยื่นข้อเสนอมีทั้งหมด 8 ราย ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารยูโอบี, ฟินันซ่า, อาร์เอชบี, เพลินจิตแคปปิตอล, อวานานการ์ แคปปิตอล และ ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สเอฟเอเอส
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมระดมสมองจัดตั้งองค์กรบริหารรถไฟความเร็วสูงว่า ที่ประชุมฯ ได้เชิญบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) จำนวน 8 แห่ง ให้แข่งขันกันยื่นข้อเสนอ เกี่ยวกับรูปแบบการจัดตั้งและโครงสร้างขององค์กรบริหารรถไฟความเร็วสูง เนื่องจากบริษัทที่ปรึกษาฯ มีความเชี่ยวชาญในประเด็นเหล่านี้ ขณะเดียวกันองค์กรบริหารรถไฟความเร็วสูงก็เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และในอนาคตอาจจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อลดภาระของภาครัฐ
ทั้งนี้ นายไพรินทร์ได้ให้โจทย์ให้บริษัทที่ปรึกษาฯ ว่า ต้องการให้องค์กรบริหารรถไฟความเร็วสูงมีความยืดหยุ่น สามารถรองรับเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพเหมือนภาคเอกชน แต่ภาครัฐยังคงเป็นเจ้าของและสามารถควบคุมองค์กรได้ และมีความเป็นไปได้หรือไม่ถ้าหากจะจัดตั้งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้สามารถระดมทุนและสามารถบริหารจัดการรายได้ได้ดีขึ้น
บริษัทที่ปรึกษาฯ ต้องนำโจทย์ไปวิเคราะห์และสรุปประเด็นที่สำคัญคือ หน่วยงานภาครัฐแห่งใดควรเป็นผู้ถือหุ้น, วงเงินทุนจดทะเบียนและเป้าหมายทางการเงินที่เหมาะสม, จำเป็นที่ต้องระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยบริษัทที่ปรึกษาฯ จะต้องยื่นข้อเสนอภายใน 1 เดือน จากนั้นกระทรวงคมนาคมจะพิจารณาข้อดีข้อเสีย ก่อนเลือกข้อเสนอที่เหมาะสม 1-2 รูปแบบ เพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่มีนายไพรินทร์เป็นประธานและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามลำดับ โดยการแข่งขันยื่นข้อเสนอครั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินจะดำเนินการให้ฟรี ไม่มีการคิดค่าใช้จ่าย
“วันนี้ ได้เชิญบริษัทที่ปรึกษามาหลายคน แล้วให้เขาช่วยระดมสมอง แต่ละคนจะยื่นข้อเสนอเข้ามาในเวลาสัก 1 เดือน แล้วเราจะเลือกความคิดที่ดีที่สุด แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า สุดท้ายแล้วคนที่เสนอความคิดที่ดีที่สุด ก็อาจได้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในอนาคต” นายไพรินทร์
นายไพรินทร์ตั้งเป้าว่า จะจัดตั้งองค์กรบริหารรถไฟความเร็วสูงให้ได้ภายในปีนี้ เพราะตอนนี้การจัดตั้งค่อนข้างล่าช้า เนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กำลังจะเริ่มถ่ายทอดเทคโนโลยีกันแล้ว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
ปตท. แจงซื้อซองรถไฟเชื่อม 3 สนามบินเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ยังไม่มีแผนจับมือพันธมิตรร่วมประมูล
นายประเสริฐ สลิลอำไพ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่ คณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีมติอนุมัติให้ ปตท. เข้าซื้อเอกสารเชิญชวนประมูล (ทีโออาร์) ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และ อู่ตะเภา นั้น เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีความน่าสนใจ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณาร่วมลงทุนกับพันธมิตรอื่นๆ แต่อย่างใด
ทั้งนี้ จากที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. มอบหมายให้บริษัทในกลุ่มที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับโครงการนี้ จำนวน 2 บริษัท คือ บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านผลิตไฟฟ้า ร่วมซื้อซองประมูลเพื่อนำมาศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนด้านที่เกี่ยวข้อง โดยคณะกรรมการฯ ยังมีความเห็นว่า บริษัทอื่นๆ ในกลุ่ม ปตท. ที่มีศักยภาพ สามารถเข้าซื้อซองเพื่อศึกษาได้เช่นกัน โดยให้นำผลการศึกษามานำเสนอต่อคณะกรรมการฯ พิจารณา ก่อนตัดสินใจดำเนินการอื่นใด ซึ่งหากมีการตัดสินใจลงทุนจริง จะต้องดำเนินการแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต่อไป
“ปตท. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ Thailand 4.0 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ พร้อมทั้งเป็นโอกาสในการศึกษาห่วงโซ่ธุรกิจไฟฟ้า เช่น การผลิตไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงาน สถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือ อีวี รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อรองรับเทคโนโลยีของโลกและความต้องการของประชาชนในประเทศที่เปลี่ยนไป” นายประเสริฐ กล่าวเสริมในตอนท้าย
บอร์ด PTT ให้เข้าซื้อซองรถไฟเชื่อม 3 สนามบินศึกษาความเป็นไปได้ แต่ยังไม่มีแผนร่วมมือพันธมิตรเข้าประมูล
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้กลุ่ม ปตท.เข้าซื้อเอกสาร เชิญชวนประมูล (TOR) ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) เพื่อนำมาศึกษาความเป็นไปได้การลงทุน เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจ แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะลงทุน และยังไม่มีการพิจารณาที่จะร่วมกับพันธมิตรรายใดในการเข้ายื่นประมูล
"ให้ไปซื้อ TOR เพื่อมาศึกษาความเป็นไปได้ เพราะเป็นอะไรที่น่าสนใจ แต่ยังไม่มีเรื่องการร่วมทุนกับใคร เรื่องนี้ยังห่างไกล"นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
อนึ่ง PTT อยู่ระหว่างมองหาธุรกิจใหม่ ๆ ในห่วงโซ่ธุรกิจไฟฟ้า (Electricity Value Chain) รองรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ทั้งในเรื่องการผลิตไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) สถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV) หรือ EV Charge ตลอดจนยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
สำหรับ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร (กม.) มูลค่าราว 2 แสนล้านบาท คาดว่าการจัดทำ TOR จะแล้วเสร็จเร็ว ๆ นี้ ก่อนเปิดให้เอกชนยื่นความจำนง และคาดว่าจะสามารถคัดเลือกบริษัทผู้ได้รับการประมูลได้ในราวเดือน พ.ย.61 ขณะที่กำหนดโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 66
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม และว่าที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT กล่าวว่า คณะกรรมการ ปตท.อนุมัติให้ซื้อ TOR ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจลงทุน หรือร่วมทุนกับพันธมิตรรายใดในโครงการดังกล่าว ซึ่งหลังจากศึกษาแล้วหากมีการตัดสินใจอย่างไรก็จะเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทและแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯต่อไป
อินโฟเควสท์