- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Saturday, 17 February 2018 12:01
- Hits: 3370
ผอ.ท่าเรือแหลมฉบัง ยันท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มูลค่า 1.4 แสนลบ. จะผ่าน EHIA ใน 6 เดือน ชี้มีนลท.สนใจแล้ว 4 ราย
ผอ.ท่าเรือแหลมฉบัง ยันท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มูลค่า 1.4 แสนลบ. จะผ่าน EHIA ใน 6 เดือน ชี้มีนลท.สนใจแล้ว 4 ราย ชี้ช่วยหนุนให้ยอดขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจาก 11 ล้านตู้ทีอียู เป็น 18 ล้านตู้ทีอียู ต่อปี รองรับการขนส่งรถยนต์จาก 1.9 ล้านคัน เป็น 3 ล้านคันต่อปี
นางพรทิพา ทวีนุช ผู้อำนวยการกองบริหารงานทั่วไป ท่าเรือแหลมฉบัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนและพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ว่า ขณะนี้โครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มูลค่าโครงการ 140,000 ล้านบาท ได้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ (EHIA) ให้กับสำนักงาน นโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. พิจารณาเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ในการศึกษาผลกระทบด้านดังกล่าวแล้วเสร็จ
โดยในกลางปีนี้ จะสามารถเปิดให้ผู้ประกอบการ หรือโอเปอร์เรเตอร์ เข้ามาประมูลโครงการ และคาดว่าจะทราบผลผู้ชนะประมูลได้ในต้นปี 2562 ส่วนในต้นปี 2562 จะเปิดสรรหาผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการ และจะเริ่มก่อสร้างได้ในปีเดียวกัน ซึ่งโครงการดังกล่าวคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี โดยเปิดโครงการได้ในปี 2568 เป็นต้นไป
“มั่นใจว่า โครงการนี้จะมีส่วนช่วยสนับสนุนอีอีซีค่อนข้างมาก เนื่องจากปัจจุบันมีนักลงทุน 4-5 รายที่เข้ามาดูโครงการ ซึ่งเป็นนักลงทุนทั้ง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้บริหารท่าเรือ และผู้ลงทุนในอีอีซี ที่สนใจสอบถามข้อมูลเป็นจำนวนมาก โดยสถานะปัจจุบันมีการขนส่งท่าเรือมีการใช้บริการมาแล้วใกล้เต็มศักยภาพโดยมีประมาณ 7.6 ล้านตู้ จากความสามารถรองรับทั้งหมด 11 ล้านตู้ ซึ่งหากไม่รีบดำเนินการสร้างให้แล้วเสร็จ จะทำให้ในปี 2564 จะเริ่มเต็มศักยภาพที่จะรองรับได้”นางพรทิพา กล่าว
ทั้งนี้ ประเมินว่า หลังจากก่อสร้างโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 แล้วเสร็จ คาดว่าจะมีขีดความสามารถในการรองรับการขนส่งสินค้าได้เพิ่มขึ้นจาก 11 ล้านตู้ทีอียู เป็น 18 ล้านตู้ทีอียู และรองรับการขนส่งรถยนต์จาก 1.9 ล้านคันต่อปี เพิ่มเป็น 3 ล้านคันต่อปี นอกจากนี้ท่าเรือดังกล่าว ยังจะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงระบบการขนส่งกับท่าเรือ ให้ไปสู่ระบบการขนส่งทางรางเพิ่มขึ้น จากปัจจุบัน 500,000 ตู้ต่อปี เป็น 3 ล้านตู้ต่อปีในระยะแรก รวมถึงยังช่วยเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางเรือ ท่าเทียบเรือชายฝั่งในประเทศ เพิ่มเป็น 500,000 ตู้ จากปัจจุบัน 260,000 ตู้ต่อปี ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรทางถนนได้เพิ่มขึ้น
นางพรทิพา กล่าวว่า ในส่วนของท่าเทียบเรือชายฝั่งภายในประเทศได้เริ่มก่อสร้างใกล้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปีนี้ ขณะที่โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ (เอสอาร์ทีโอ) คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2562
นายยุทธนา พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า ขณะนี้กรมฯได้เตรียมความพร้อมด้านพิธีศุลกากร ในการสนับสนุนโครงการอีอีซี 7 ด้าน เช่น ในเขตปลอดอากรและคลังสินค้าทันบนจะยกเว้นใบอนุญาตได้ถึง 46 พระราชบัญญัติ รวมถึงให้มีการตรวจสอบพิกัดราคาและแหล่งกำเนิดสินค้าได้ การใช้พิธีศุลกากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึง การนำอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ในการตรวจสอบตู้สินค้า ในการควบคุมพิธีทางศุลกากร เป็นต้น
นายจำเริญ โพธิยอด ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้มีนักลงทุนรายใหญ่ 4 รายให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการท่าเรือแหลมฉบัง แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยในรายละเอียดได้ ซึ่งกลุ่มนักลงทุนดังกล่าว ได้เดินทางมาพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ รวมถึงศึกษารายละเอียดโครงการ ซึ่งเมื่อนักลงทุนเห็นว่าโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาแบบอีอีซี ฟาสแทรก ทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจในโครงการมากขึ้น ว่าจะมีความเป็นไปได้แน่นอน และคาดว่าจะเปิดประโยชน์ให้กับประเทศในอนาคต
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย