- Details
- Category: คมนาคม
- Published: Sunday, 04 February 2018 19:58
- Hits: 1976
รฟท.คาดออกประกาศเชิญชวนร่วมประมูลไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน มี.ค.สรุปผลราว ส.ค.-ก.ย. 61
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คาดว่า รฟท.จะประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนแบบ PPP ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) มูลค่าโครงการกว่า 2 แสนล้านบาทในช่วงเดือน มี.ค.นี้ โดยมีเวลาสัมปทาน 50 ปี ซึ่งเป็นระยะก่อสร้าง 5 ปี และบริหารการเดินรถ 45 ปี รวมทั้งจะให้สิทธิเข้าพัฒนาที่ดิน 2 แปลง ได้แก่ บริเวณมักกะสัน 145 ไร่ และศรีราชาไม่เกิน 30 ไร่ คาดว่าจะได้ผู้ชนะประมูลในเดือน ส.ค.-ก.ย.61 และคาดจะเซ็นสัญญาได้ภายในปลายปี 61
"ระหว่างนี้ รฟท.กำลังจัดทำร่างเงื่อนไขหลักเกณฑ์การประกวดราคา (TOR) ขณะเดียวกันก็ได้นำเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) แล้ว และอยู่ขั้นตอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาก่อนนำเข้า กนศ.อีกครั้ง และ กนศ.จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประมาณกลางเดือนมี.ค.จากนั้นจะประกาศเชิญชวนได้ทันที" นายอานนท์ กล่าว
ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง ได้ปรับเป็นโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน จะมีเส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่แอร์พอร์ตลิ้งเดินรถในปัจจุบัน ช่วงมักกะสัน- สนามบินสุวรรณภูมิ และมีส่วนต่อขยายไปสนามบินดอนเมือง และส่วนต่อขยายจากสนามบินสุวรรณภูมิไปสนามบินอู่ตะเภา แม้ว่าจะมีการปรับรูปแบบการลงทุนแต่ผลตอบแทนที่ รฟท.จะได้เหมือนเดิม คือประมาณกว่า 1-2 หมื่นล้านบาท โดยเอกชนจะต้องดำเนินการทั้งโครงการ ได้แก่ งานก่อสร้างโยธา งานเดินรถ บริหารที่ดินเชิงพาณิชย์
การประกาศเชิญชวนเป็นลักษณะ International Bidding เพราะต้องการเปิดให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาร่วม เพราะบริษัทไทยยังไม่มีประสบการณ์การเดินรถไฟความเร็วสูง แต่ก็สามารถร่วมทุน (Joint Venture) กับบริษัทต่างชาติ ได้ โดยกำลังพิจารณาว่าอาจจะเปิดให้ต่างชาติถือมากกว่า 50% หรือ อาจจะเป็นสัดส่วน 50/50
ทั้งนี้ ช่วง 2 ปีก่อนที่เอกชนจะเข้ามาเดินรถจะส่งมอบโครงสร้างแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ แต่ระหว่างนี้แอร์พอร์ต เรล ลิงก์จะปรับปรุงรถโดยสารมาติดตั้งเก้าอี้ หรืออาจเพิ่มรถอีก 1-2 ขบวนรองรับการเดินทางไปก่อน ส่วนผู้บริหารและพนักงงานของแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ภายใต้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ก็จะโอนมาบริษัทย่อยของรฟท.ที่จะเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต แทน
ด้านโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 และทางสายใหม่ รวม 9 เส้นทาง มูลค่าราว 4.3 แสนล้านบาท ขณะนี้ รฟท.ได้ส่งเรื่องให้กับกระทรวงคมนาคมบางส่วนแล้ว คาดว่าจะทยอยนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่ มี.ค.61 เป็นต้นไปจนครบทุกเส้นทางภายในปีนี้ โดยเส้นทางแรกที่เป็นช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี และ ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ส่วนเส้นทางใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ขณะนี้ได้ผ่านการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA)แล้ว
อนึ่ง โครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง และทางสายใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. มูลค่าโครงการ 8,120.12 ล้านบาท, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กม., มูลค่า 24,294.36 ล้านบาท, สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 324 ล้านบาท มูลค่า 57,375.43 ล้านบาท, ปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กม. มูลค่า 62,883.55 ล้านบาท, ชุมทางจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กม. มูลค่า 37,527.10 ล้านบาท, ขอนแก่น- หนองคาย ระยะทาง 174 กม. มูลค่า 26,663.36 ล้านบาท , เด่นชัย- เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. มูลค่า 56,837.78 ล้านบาท ส่วนเส้นทางใหม่ เส้นทาง เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม. มูลค่า 86,345 ล้านบาท และ บ้านไผ่-มุกดาหาร- นครพนม ระยะทาง 355 กม. มูลค่า 67,965.33 ล้านบาท รวมระยะทาง 2,174 กม. มูลค่าโครงการ 427,012.03 ล้านบาท
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กล่าวถึงแผนฟื้นฟูกิจการของ รฟท.ว่า ตามแผนฟื้นฟู รฟท.จะมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) พลิกกลับมาเป็นบวกในปี 63 โดยจะมีรายได้หลักมาจากการบริหารสินทรัพย์ที่จะเปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนาที่ดิน โดยเฉพาะสถานีกลางบางซื่อ นอกจากนี้ รฟท.จะมีเส้นทางเดินรถเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มเข้ามาต่อเนื่อง โดยเส้นทางใหม่เส้นทางแรก คือ รถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต
นายไพรินทร์ คาดว่าในปี 63 จะมีรายได้จากการบริหารสินทรัพย์หลักพันล้านบาท และยังมีอีกหลายแปลงที่อายุสัญญาจะหมดลงในปี 63 ขณะเดียวกันรายได้จากการเดินรถก็จะค่อยๆเติบโต และจะกลายเป็นรายได้หลักของรฟท.
นายอานนท์ กล่าวว่า แผนฟื้นฟูกิจการ รฟท. จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ รฟท. ปัจจุบันที่เป็นบริษัทแม่ , บริษัทย่อยสำหรับบริหารสินทรัพย์ และ บริษัทย่อยสำหรับเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา ส่วนโครงการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ของรฟท. ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการ PPP แล้วที่มีข้อเสนอให้ รฟท.พิจารณาเอกชนรายเดียวลงทุนในพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งหมดของรฟท. แต่รฟท.กลับเห็นว่าควรให้แยกพื้นที่ให้เอกชนบริหารเพราะมองว่าการบริหารจัดการทั้งหมดจะต้องใช้เงินลงทุนสูงระดับหมื่นล้านบาทจะเป็นการจำกัดจำนวนนักลงทุน รฟท.จึงต้องการกระจายให้หลายบริษัทเข้ามาบริหาร โดยจะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)เพื่อยืนยันความเห็นดังกล่าว
ขณะเดียวกันในปีนี้ รฟท.ขอยกเลิกมติ ครม.เมื่อ 28 ก.ค.41 ที่ทำให้ไม่ให้เพิ่มอัตรากำลังคนได้ โดยจะนำเสนอขอเพิ่มบุคคลากรเพื่อรองรับกับหน่วยธุรกิจใหม่ทั้งการเดินรถเพิ่มเติมและการบริหารสินทรัพย์ โดยคาดว่าเมื่อโครงการรถไฟทางคู่เฟสแรกแล้วเสร็จจะเปิดเดินรถในปี 64 จะเพิ่มจำนวนบุคคลาการเป็น 1.6 หมื่นคน และหากโครงการรถไฟทางคู่เฟสสองแล้วเสร็จจะขอเพิ่มบุคคลากรเป็น 1.9 หมื่นคน จากปัจจุบันมีพนักงาน 1.4 หมื่นคน
ทั้งนี้ ตามแผนฟื้นฟูกิจการ รฟท.ในช่วง 10 ปี (ปี 60-70) โดยในปี 63 จะมี EBITDA พลิกกับมาเป็นบวก 1,637 ล้านบาท จากปี 62 ที่ EBITDA ติดลบ โดยจะมาจากการเพิ่มรายได้ และลดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะมีการปรับโครงสร้างค่าโดยสารใหม่ โดยมีค่าแรกเข้า 10 บาท บวกค่าโดยสารเพิ่ม 50% ตามระยะทาง โดยค่าโดยสารใหม่ชั้น 3 ระยะทาง 0-100 กม.เท่ากับ 0.323 บาท/กม.จะทำให้รายได้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้น 30% จากที่ไม่ได้ปรับขึ้นค่าโดยสารตั้งแต่ปี 28
ส่วนภาระหนี้สิน ณ วันที่ 30 ก.ย.60 เท่ากับ 1.2 แสนล้านบาท (ไม่รวมหนี้ของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ที่มีประมาณ กว่า 3 หมื่นล้านบาท)
อินโฟเควสท์
ดันรถไฟเชื่อม 3 สนามบินเตรียมประมูลกค./ให้สัมปทาน 50 ปี
แนวหน้า : นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) กล่าวถึงความ คืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ว่า สำหรับโครงการระยะแรกมีระยะทาง 220 กม. งบลงทุนประมาณกว่า 200,000 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ที่ประชุม คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (คณะกรรมการ EEC) พิจารณาได้รับทราบ ในหลักการของโครงการเชื่อมต่อ 3 สนามบินแล้ว
ขั้นตอนต่อไปต้องไปสอบถามความคิดเห็น ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการ พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ และสำนักงบประมาณ เป็นต้น และกลับเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ EEC อีกครั้งจากนั้น จะเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างเอกสารประกวดราคา(TOR) ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และออก TOR ได้ช่วงเดือน มีนาคม-เมษายนนี้ รวมถึงประกาศเชิญชวนเอกชนลงทุนในเดือนกรกฎาคมนี้ และคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้เดือนสิงหาคม-กันยายน และ เปิดบริการเต็มรูปแบบในปี 2566 คาดว่ามีผู้โดยสารอยู่ที่ 169,550 เที่ยวคนต่อวัน
ทั้งนี้ ส่วนรูปแบบการลงทุนจะเป็นแบบการให้เอกชนลงทุน(PPP) 100% ทั้งการก่อสร้างและงานระบบ มีระยะสัมปทาน 50 ปี โดย 5 ปีแรกเป็นการก่อสร้าง 45 ปี หลังเป็นเรื่องของการเดินรถและบริษัทที่มาลงทุนจะเป็นรูปแบบร่วมทุนหรือเป็นบริษัทต่างชาติ 100% ซึ่งต้องไปดูข้อกฎหมายอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้จะได้ตัวเอกชนเข้าร่วมลงทุน
รฟท.ขึ้นค่าตั๋วปี'63'สมคิด'เปิดทาง/จี้พัฒนาที่หารายได้
แนวหน้า : เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปมอบนโยบายให้ คณะกรรมการ(บอร์ด) และผู้บริหาร การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ร่วมหารือ
นายสมคิด กล่าวว่า ได้มีการมอบนโยบายให้การรถไฟฯ เร่งปรับปรุงโครงการให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐเนื่องจากยังอยู่ในช่วงการเตรียมงบประมาณปี 2562 โดยเฉพาะการก่อสร้าง รถไฟเส้นทางหลัก เส้นทางรถไฟทางคู่ และเส้นทางรถไฟไปยังเมืองรองเพื่อเชื่อมต่อภาคการท่องเที่ยว
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ นั้น ขณะนี้ยังไม่เคยมีนโยบายลดความเร็วลงแต่มีบางหน่วยงานได้มีข้อเสนอแนะว่าควรศึกษาการลดความเร็วเพื่อประหยัดงบประมาณ ซึ่งจากการทำการศึกษาพบว่าการลดงบประมาณได้เพียงเล็กน้อยจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีก็ต้องใช้ความเร็วสูงต่อไป
สำหรับ การฟื้นฟูกิจการ ทางการรถไฟฯ ยังได้เสนอตัวเลข และแนวทางแผนฟื้นฟู ที่จะมีรายได้มาจาก 2-3 แหล่งใหญ่ เช่น การบริหารทรัพย์สิน และการพัฒนาเส้นทางเดิน รถไฟ ซึ่งก็มีความเห็นพ้องกับทางกระทรวงการคลัง ว่า การรถไฟฯมีศักยภาพในการทำแผนฟื้นฟูแต่คง ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด จึงได้มีการสั่งการให้นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม กลับไปปรับปรุงแผนฟื้นฟูและจัดทำแผนการเพิ่มกำลังคนให้สอดคล้องกับการพัฒนาโครงการมากขึ้น
ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรของการรถไฟฯนั้นได้ให้ทางคณะกรรมการ การรถไฟฯกลับไปเร่งจัดทำแผนเสนอให้กระทรวงคมนาคมและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) พิจารณา ซึ่งแผนฟื้นฟูของการรถไฟฯจะมีเสนอให้ที่ประชุมคนร.ในนัดการประชุมวาระพิเศษเดือน กุมภาพันธ์นี้ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือทั้งเรื่องบุคลากรและตัวโครงการ
"ส่วนของการปรับค่าโดยสารของการรถไฟฯก็สามารถทำได้ หากมีการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการจนเป็นที่พอใจของประชาชนแล้ว
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า สำหรับการปรับขึ้นค่าโดยสารคาดว่าจะเริ่มในปี 2563 เป็นต้นไป หลังจากที่การรถไฟฯได้มีการรับขบวนรถใหม่และปรับปรุงการบริหารแล้ว โดยแนวทางการปรับขึ้นค่าโดยสารใหม่จะมีการคิดค่าแรกเข้า 10 บาท จากเกณฑ์เดิมที่คิดค่าแรกเข้า 2 บาท และค่าโดยสารตามระยะทางจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 50 เช่น โครงสร้างค่าโดยสารใหม่ชั้น 3 ระยะทาง 0-100 กิโลเมตร จะอยู่ที่ 0.323 บาทต่อกิโลเมตร จากเดิมอยู่ที่ 0.215 บาทต่อกิโลเมตร ซึ่งแผนดังกล่าวคาดว่า จะทำให้รายได้ของร.ฟ.ท.เพิ่มขึ้นอีก 30%
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯเชียงใหม่ยังต้องมีการพิจารณาจากผลการศึกษาอีกครั้ง กับทางญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้ได้รับการยืนยันจาก นายสมคิด แล้วว่าต้องเป็นรถไฟความเร็วสูง ซึ่งความเร็วขั้นต่ำจะอยู่ที่ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งจะมีการเสนอผลการศึกษาทั้งหมดให้ ครม.ในช่วงปลายปีนี้
ส่วนการมอบนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีนั้นได้ย้ำในเรื่องการพัฒนาแผนฟื้นฟูของการรถไฟฯเพื่อเพิ่มรายได้, การเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟไปยังเมืองรองส่งเสริมการท่องเที่ยว และโครงการรถไฟ เส้นทางพิเศษ เช่น โครงการรถไฟ ความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และโครงการ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และต้องปรับองค์กรให้สอดคล้องกับธุรกิจการท่องเที่ยว เพราะจะสามารถทำแพ็กเกจ ร่วมกันได้
สมคิด มอบนโยบาย รฟท.เร่งพัฒนาระบบรางหนุนแหล่งท่องเที่ยว-ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายคณะกรรมการและผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม, นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ร่วมหารือ
นายสมคิด ให้นโยบายเร่งขับเคลื่อนองค์กรนำพัฒนาระบบรางของประเทศ มีส่วนสนับสนุนความก้าวหน้าและเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมย้ำว่า ที่ผ่านมาหลายประเทศใช้การพัฒนาระบบขนส่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งระบบคมนาคมอาจจะเป็นเส้นทางถนน, ท่าอากาศยาน แต่รัฐบาลยุคนี้ยืนยันว่าหลังจากนี้จะใช้การพัฒนาระบบรางเป็นยุทธศาสตร์ ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเห็นผลเป็นรูปธรรม
นายสมคิด กล่าวถึงกำหนดการเยือนประเทศญี่ปุ่นในช่วง 8-10 ก.พ.นี้ว่า จะแวะเมืองฟูกูโอกะเพิ่อดูงานพัฒนารถไฟวิ่งหมุนเวียนรับส่งนักท่องเที่ยวภายในเมือง โดยจะมีผู้บริหาร รฟท.เดินทางไปด้วย เพื่อศึกษาดูงานก่อนจะรวบรวมแนวคิดว่าจะดำเนินโครงการลักษณะนี้ได้อย่างไรบ้าง เนื่องจากหลายเมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทยต้องการระบบคมนาคมเข้ามาสนับสนุน
"วันนี้มาบอกกล่าวผู้บริหารการรถไฟฯว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญมากกับการรถไฟฯ เพราะเราเล็งเห็นว่าอนาคตการสร้างความเชื่อมโยงกับการพัฒนา ไม่ว่าจะภายในประเทศ หรือกับประเทศเพื่อนบ้าน เราให้ความสำคัญกับรถไฟเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้นโครงการทั้งหลายที่คิดกันอยู่ ขอให้รีบดูรีบปรับปรุง เพื่อให้สอดรับกับนโยบาย โดยขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงเตรียมงบประมาณปี 62 ฝากเน้นการสร้างเส้นทางรถไฟ เส้นหลักๆ ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพ-ระยอง เส้นทางรถไฟทางคู่ และให้เชื่อมเมืองท่องเที่ยว จากเมืองใหญ่ไปเมืองรอง พยามยามสร้างการเข้าถึงสู่ท้องถิ่น และภูมิภาค"รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ส่วนแผนการฟื้นฟูกิจการของ รฟท.นายสมคิดกล่าวว่า มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงมาก และมีศักยภาพสูง โดยจะมีรายได้จาก 2-3 แหล่งใหญ่ และการเพิ่มกำลังคนสอดรับกับการขยายการเดินรถ โดยให้นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม เข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการปรับเพิ่มบุคคลากร ให้รองรับกับธุรกิจใหม่และการปรับอัตราค่าโดยสาร โดยจะให้ก.คมนาคมหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)
ด้านนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการ รฟท. รายงานความคืบหน้าโครงการพัฒนาระบบรางด้านต่าง ๆ เช่น รถไฟทางคู่ที่จะพัฒนาเส้นทางสายใหม่และภายในปี 2567 โดยจะบรรจุทางคู่เพิ่มอีก 4 เท่าของโครงข่ายรถไฟ รวมถึงการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายใหม่ จากปัจจุบันที่การรถไฟฯ มีโครงข่ายรถไฟครอบคลุม 47 จังหวัด ระยะทาง 4,044 กม. โดยจะเพิ่มอีก 681 กม.ภายในปี 67 และครอบคลุม 61 จังหวัด ในอนาคตการลงทุนไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านบาท
รวมถึงการพัฒนาโครงการรถไฟเกี่ยวกับการท่องเที่ยวตามเส้นทางรถไฟในปัจจุบัน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด ครอบคลุมภาคเหนือ 16 จังหวัด ภาคอีสาน 18 จังหวัด ภาคตะวันออก 5 จังหวัด ภาคกลาง 7 จังหวัด และภาคใต้ 9 จังหวัด รวมทั้งรายงานความคืบหน้าแผนฟื้นฟูที่ดำเนินการปัจจุบัน การพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ รฟท.ต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาล ทั้งการให้ปลดล็อคมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 41 เพื่อกำหนดกรอบอัตรากำลังพนักงานได้ตามความต้องการ เนื่องจากอยู่ในภาวะขาดแคลนเจ้าหน้าที่และการพิจารณาปรับโครงสร้างค่าโดยสารให้สะท้อนต้นทุนมากขึ้น เพื่อลดการขาดทุนในอนาคต
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า รองนายกรับมนตรีได้ให้นโยบายการฟื้นฟูกิจการ รฟท.ได้แก่ การเดินหน้าการลงทุนของรฟท. โดยโครงการลงทุนหลักๆในปีนี้ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่มี 9 เส้นทาง ซึ่งจะเดินหน้าต่อ ถือเป็นการปฏิรูปการรถไฟฯครั้งใหญ่ในรอบ 120 ปี
และเส้นทางใหม่ได้รับนโยบายลักษณะเชื่ออมต่อให้เป็น loop เชื่อมทางรถไฟ ไปเชื่อมต่อเมืองท่องเที่ยว โดยเป็นการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยว และทำการตลาดให้การเดินทางโดยรถไฟเป็นที่นิยม ซึ่งปัจจุบันได้ดำนเนินการรถไฟท่องเที่ยวอยุ่แล้วแต่ต้องการให้มีมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ก็เดินหน้ารถไฟทางด้านโครงการพิเศษ ได้แก่ รถไฟในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) , โครงการรถไฟไทย-จีน ซึ่งในเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ รองนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายต้องเป็นรถไฟความเร็วสูง และให้ความสำคัญพิเศษโครงการเชื่อมระหว่างตะวันออกไปตะวันตก ซึ่งปีนี้จะมีรถไฟทางคู่ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ส่วนตอนกลาง ช่วงบ้านไผ่-นครสวรรค์-ตาก ทางญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการศึกษา และทางเกาหลีก็ได้เข้ามาช่วยศึกษาด้วย โครงการเหล่านี้ถือว่าเป็นการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นการปรับโครงสร้างองค์กร รฟท.โดยแยกบริษัทลูกในการบริหารสินทรัพย์ การบริหารธุรกิจจากการเดินรถไฟ ในเรื่องดำเนินการสนับสนุนการท่องเที่ยว ต้องเชื่อมกับภาคธุรกิจเอกชน ทำแพ็คเกจท่องเที่ยว และแผนฟื้นฟู หาแนวทางการทำตลาดใหม่ โดยตามแผนฟื้นฟูจะมีการแยกธุรกิจ 3 ส่วนคือ บริษัทแม่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ บริษัทที่เดินรถ โดยแยกการเดินรถออกเป็นแต่ละสายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
อินโฟเควสท์