- Details
- Category: รถไฟ-รถไฟฟ้า
- Published: Thursday, 06 October 2022 15:55
- Hits: 1829
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอชี้แจงกรณีการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
ข้อเท็จจริงกรณี องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2565 เกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
ตามที่ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ออกแถลงการณ์ ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2565 เรื่อง’กรณี 6.8 หมื่นล้านในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม’ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอเรียนชี้แจงกรณีการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ดังนี้
1) การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ รฟม. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำนักงบประมาณ (สงป.) กระทรวงคมนาคม สำนักงานอัยการสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิ 2 ท่าน
2) การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562) ประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (ประกาศคณะกรรมการ PPP) กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประกาศ สคร. เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการร่วมลงทุนที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2564 ซึ่งได้กำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับการดำเนินการตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสำหรับหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564
3) ในการดำเนินการตามประกาศ สคร. เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับการทำข้อตกลงคุณธรรมฯ สคร. ได้มอบหมายให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เป็นองค์กรภาคเอกชนให้ดำเนินการคัดเลือกผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม
4) สคร. ได้แจ้งชื่อผู้สังเกตการณ์ 5 ท่าน ที่ได้รับการคัดเลือกจาก องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ โดย รฟม. และผู้สังเกตการณ์ได้ลงนามข้อตกลงคุณธรรม เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 และผู้สังเกตการณ์ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ทุกขั้นตอน
5) ผู้สังเกตการณ์ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการคัดเลือกเอกชนฯ มีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานผลการสังเกตการณ์ และในกรณีที่พบเห็นพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางทุจริตให้แจ้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ โดยเร็ว เพื่อให้มีการชี้แจงหรือแก้ไขในระยะเวลาที่ผู้สังเกตการณ์กำหนด หากคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่ชี้แจงหรือแก้ไข ให้ผู้สังเกตการณ์แจ้งองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพื่อรายงานต่อ สคร. และกระทรวงเจ้าสังกัดพิจารณาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ สำหรับ กรณีการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ไม่ปรากฏว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้รับแจ้งข้อสังเกตใดจากผู้สังเกตการณ์ ทั้งนี้หากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้รับรายงานพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางทุจริตจากผู้สังเกตการณ์ ก็สมควรที่จะนำส่งรายงานดังกล่าวให้ รฟม. สคร. และกระทรวงคมนาคม พิจารณาดำเนินการ
6) ผลประโยชน์ของรัฐที่เอกชนเสนอแตกต่างกันมากถึง 6.8 หมื่นล้านบาท ตามที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวอ้าง น่าจะเป็นการเปรียบเทียบกับตัวเลขข้อเสนอที่เอกชนรายหนึ่งทำการเปิดเผยตัวเลขผลประโยชน์ของรัฐที่อ้างว่า เป็นข้อเสนอตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ซึ่งได้ยกเลิกไปแล้ว ข้อเสนอที่กล่าวอ้างจึงมิได้ผ่านการพิจารณาตามเกณฑ์การประเมินที่ประกอบด้วยข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ข้อเสนอด้านเทคนิค และข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน รวมถึงเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ ตามลำดับ ประกอบกับเป็นซองข้อเสนอที่เปิดเป็นการภายในของเอกชนเอง ตัวเลขที่อ้างไม่สามารถยืนยันที่มาที่ไปได้ จึงไม่น่าเชื่อถือ และไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้กับข้อเสนอที่ผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์กำหนด
7) เอกชนรายดังกล่าวที่ได้เปิดเผยตัวเลขผลประโยชน์ของรัฐ ที่อ้างว่า เป็นข้อเสนอตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ซึ่งได้ยกเลิกไปแล้ว ไม่ได้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ซึ่งน่าจะเกิดจากความไม่พร้อมในการเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งนี้เอกชนรายดังกล่าวได้มีการฟ้องศาลปกครองกลางและยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี โดยขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ
และต่อมาที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองกลางได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เป็นการดำเนินการที่เป็นไปตามขั้นตอนตามประกาศคณะกรรมการ PPP และตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562 นอกจากนี้ประกาศเชิญชวนฯ มีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมการคัดเลือกมากขึ้น เกิดการแข่งขันมากกว่าประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ประกาศเชิญชวนฯ จึงไม่มีลักษณะตัดสิทธิหรือกีดกันผู้ร้องมิให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอ ซึ่งผู้ร้องฯ สามารถยื่นข้อเสนอได้เช่นเดียวกันกับเอกชนรายอื่น ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่ง เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ยกคำร้องฯ ดังกล่าว
8) และเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้อ่านคำพิพากษาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อท30/2564 ระหว่างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (โจทก์) กับ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กับพวก (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) รวม 7 คน (จำเลย) โดยศาลอาญาฯ ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าจำเลยทั้ง 7 ได้ร่วมกันใช้ดุลพินิจแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอตามประกาศเชิญชวน ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 เพื่อประโยชน์ของรัฐตามข้อเท็จจริง
และตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562 ประกาศคณะกรรมการ PPP โดยไม่มีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่ามีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ หรือกระทำที่นอกขอบเขตแห่งกฎหมาย ไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การกระทำของจำเลยทั้ง 7 จึงไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง ศาลอาญาฯ จึงพิพากษายกฟ้อง
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)