- Details
- Category: ทางบก-ทางน้ำ
- Published: Thursday, 17 December 2020 18:28
- Hits: 12077
แกร็บ หนุน แอป ถูกกม. ค้านจำกัดโควตาไม่เป็นธรรม
นักวิชาการ และเครือข่ายรถยนต์รับจ้างทางเลือก เสนอ ภาครัฐ ยกเลิกกำหนด โควตา โดยให้ รัฐมนตรีเป็นผู้กำหนด ระบุล้าสมัย ไม่เป็นธรรม ชี้เปิดโอกาสให้คนที่มีรายได้น้อยได้มีอาชีพเสริมเลี้ยงครอบครัว
กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม จัดเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารแบบบริการทางเลือก พ.ศ. …. (ร่างกฎกระทรวงฯ) โดยมีนายธานี สืบฤกษ์ รองอธิบดี (ฝ่ายบริหาร) เป็นประธานฯ และมีหน่วยงานในสังกัดกรมการขนส่งทางบก รวมถึงตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจทางหลวง กสทช. สคบ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ธรรมศาสตร์ ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน ภาคประชาชนผู้ใช้บริการ กรมการท่องเที่ยว กลุ่มผู้ให้บริการแท็กซี่สาธารณะ ฯลฯ เข้าร่วมประชุมฯ รวมกันกว่า 100 คน ณ ห้องประชุม 1 อาคาร 1 ชั้น 3 กรมการขนส่งทางบก
นายธานี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กรมฯได้เปิดเวทีสาธารณะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียผ่านช่องทางออนไลน์มาก่อนแล้ว แต่เพื่อให้การแสดงความคิดเห็นที่รอบด้านจึงได้เปิดเวทีนี้ขึ้นมา เพื่อนำมาประกอบการพิจารณานำไปสู่การออกกฎกระทรวงในโอกาสต่อไป หลังจากนั้น ได้เปิดให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายแสดงความเห็น ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวฯ
ทั้งนี้ ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว หัวหน้าโครงการศึกษาและวิจัย CONC Thammasat ม.ธรรมศาสตร์ บอกว่า ส่วนตัวสนับสนุนให้นำรถยนต์ส่วนบุคคลมาจดทะเบียนเพื่อให้บริการ รับจ้างผ่านแอปพลิเคชัน และเข้ามาอยู่ในระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีเพียงข้อ 3 ที่ระบุว่า การรับจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารแบบบริการทางเลือก จะจดทะเบียนในจังหวัดใด จำนวนเท่าใด ให้เป็นไปที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด นั้น เป็นการจำกัดโควตา เป็นความล้าหลัง ไม่ทันยุคเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ทั้งจำนวนผู้ให้บริการฯและจำนวนเที่ยวในแต่ละวัน ผู้ที่เข้ามาให้แบบบริการทางเลือก ส่วนใหญ่จะเป็นอาชีพเสริม ไม่ต้องการการผูกมัด เรื่องเวลาการทำงานและรายได้ จึงต้องการให้ภาครัฐควรตัดข้อ 3 ออกไป เพื่อช่วยเหลือคนที่มีรายได้น้อยได้มีเงินเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว
ขณะที่ นายสุรพงษ์ สุขปูรณะ ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายรถยนต์รับจ้างแบบบริการทางเลือก (กลุ่มเครือข่ายฯ) กล่าวว่า กลุ่มเครือข่ายฯเห็นด้วยและสนับสนุนร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว แต่ไม่เห็นด้วยกับกับร่างกฎกระทรวงข้อ 3 เพราะเป็นการจำกัดโควตา และยังจำกัดสิทธิของคนขับ หากเกิดกรณีที่มีผู้ต้องการใช้บริการมากในช่วงไพรม์ไทม์ ผู้ให้บริการก็จะหมดโอกาส และยังเสี่ยงให้เกิดระบบซื้อขายใบอนุญาตอีกด้วย
“การกำหนดโควต้า เป็นการปิดโอกาสให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย ผู้ที่ต้องการหารายได้พิเศษ ที่ต้องการมีรายได้มาจุนเจือครอบครัว ซึ่งข้อจำกัดเรื่อง จำนวนโควตา น่าจะเป็นเรื่องของทางบริษัทเป็นผู้กำหนด เพราะรู้จำนวน และปริมาณความต้องการใช้บริการมากกว่า”
นอกจากนั้น ยังมีร่างกฎกระทรวง ข้อ 4 ที่ กำหนดให้จดทะเบียนรถรับจ้างแบบบริการทางเลือกได้แค่คนละหนึ่งคัน นั้นทางเครือข่ายฯก็ไม่เห็นด้วย เพราะบางคนอาจจะนำรถของญาติ หรือ พ่อ แม่ มาให้บริการเพื่อหารายได้พิเศษ เนื่องจากยังไม่มีรถยนต์เป็นของตนเอง เป็นต้น
ด้านนายมารุต จันทะลือ ตัวแทนเครือข่ายฯ อีกรายหนึ่ง กล่าวว่า การนำรถยนต์ส่วนตัวมารับจ้าง ทำให้มีรายได้เสริม สามารถเลี้ยงครอบครัวในช่วงวิกฤติแบบนี้ ภาครัฐควรเปิดเสรีให้กับคนขับที่ให้บริการรถส่วนบุคคล เพื่อให้ทุกคนประกอบอาชีพได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนี้
ส่วนดร.เก่งการ เหล่าวิโรจน์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ บริษัท แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นแกร็บ รู้สึกยินดีที่กระทรวงคมนาคมเร่งผลักดันแก้ไขร่างกฎกระทรวงฯ เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชั่นได้อย่างถูกต้อง เปิดโอกาสสร้างรายได้ อีกทั้งยังสร้างทางเลือกแก่ประชาชนอีก อย่างไรก็ตาม ร่างกฎกระทรวงฯนี้ จะต้องก่อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ไม่ปิดกั้นโอกาสในการกระจายรายได้และการเติบโตของระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ