- Details
- Category: การตลาด
- Published: Thursday, 28 August 2014 22:39
- Hits: 2647
ดีดีไอ แนะเคล็ดลับช่วยพัฒนาศักยภาพผู้นำในองค์กร
บริษัท ดีดีไอ ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการความสามารถ (Talent Management Consultancy) ระดับโลกที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผู้นำและพนักงานภายในองค์กรร่วมกับเดอะคอนเฟอเรนซ์บอร์ดสมาคมด้านการวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกาเปิดเผยรายงานวิจัยฉบับล่าสุดในหัวข้อ The Global Leadership Forecast (GLF) 2014|2015, Ready-Now Leaders: Meeting Tomorrow’s Business Challenges พบว่าองค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ (เวลาที่ใช้ในการวางแผน บริหารจัดการ กำหนดเวลา) มากกว่าการมีปฏิสัมพันธ์ (เวลาที่ใช้ในการสนทนากับเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา และลูกค้า) ซึ่งกำลังจะกลายเป็นปัญหาสำคัญขององค์กรในขณะนี้
นางสาวสุชาดา ชื่นสุขสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ดีดีไอ-เอเชีย/แปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “บริษัท ดีดีไอเริ่มทำงานวิจัยชิ้นนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 โดยรวบรวมคำตอบจากกลุ่มผู้นำองค์กรระดับโลกจำนวน 13,124 คน และผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล 1,528 จากองค์กรชั้นนำกว่า 2,031 แห่งใน 48 ประเทศ และอยู่ใน 32 อุตสาหกรรมหลักๆ ภายใต้ความร่วมมือทั้งในระดับนานาชาติและระดับท้องถิ่น ซึ่งจากผลการวิจัยสรุปได้ว่าปัจจุบันผู้นำในองค์กรนั้นใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 41 เปอร์เซ็นต์ในการบริหารจัดการ ซึ่งมากกว่าการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคลที่ใช้เวลาเพียง 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่เมื่อถามถึงความต้องการที่แท้จริงแล้วพบว่าผู้นำองค์กรต้องการที่จะใช้เวลาในการมีปฏิสัมพันธ์มากกว่าการบริหารจัดการถึงสองเท่า”
ดังนั้น บริษัท ดีดีไอ จึงนำเสนอแนวทางสำคัญที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพผู้นำในองค์กร ได้แก่ 1. องค์กรธุรกิจและหน่วยงานต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการและสัมพันธภาพระหว่างบุคคลในสัดส่วนที่เท่ากัน ซึ่งนั่นจะนำไปสู่การประสบความสำเร็จ และระดับความผูกพันของพนักงานมีเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก 2. ระบบสรรหาและการเลื่อนตำแหน่งควรมีการวัดทักษะด้านการมีปฏิสัมพันธ์ด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่จะเน้นทักษะทางเทคนิคมากกว่าทักษะด้านการเป็นผู้นำ และ 3. การสร้างหรือการมีปฏิสัมพันธ์ทางบวกนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็สามารถฝึกฝนและพัฒนาได้
“ความสมบูรณ์แบบนั้นสามารถสร้างได้ด้วยการฝึกฝน ซึ่งจากรายงานวิจัยพบว่าผู้นำองค์กรที่ใช้เวลาในการมีปฏิสัมพันธ์มากกว่าจะมีทักษะเหล่านี้มากยิ่งขึ้น ได้แก่ การโค้ชและการพัฒนาผู้อื่น การสื่อสารและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การพัฒนาเครือข่ายหรือพันธมิตรที่เข้มแข็ง รวมถึงการสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่เกิดจากพนักงาน การระบุและพัฒนาความสามารถในอนาคตได้อย่างเหมาะสม ผู้สนใจสามารถคลิกดูรายงานฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://www.ddiworld.com/glf2014”นางสาวสุชาดากล่าวสรุปท้าย