- Details
- Category: การตลาด
- Published: Monday, 20 February 2017 22:12
- Hits: 6741
จุฬาฯ ประกาศผลสุดยอดแบรนด์ทรงพลังปี 2016 เสริมความแข็งแกร่งแบรนด์ผลิตภัณฑ์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จะประกาศผล สุดยอดแบรนด์ทรงพลังปี 2016 (The Most Powerful Brands of Thailand 2016) ใน 32 กลุ่มผลิตภัณฑ์จาก 6 อุตสาหกรรมได้แก่ ยานยนต์และพลังงาน, เครื่องดื่ม, อาหารและของว่าง , ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคลและครัวเรือน, ร้านอาหารที่มีสาขาและบริการทางการเงิน, ผลิตภัณฑ์และบริการด้านเทคโนโลยี นับเป็นการสำรวจแบรนด์ผลิตภัณฑ์ครั้งยิ่งใหญ่ที่ครบทุกมิติ ทั้งความตระหนักในแบรนด์ (Awareness), ความชื่นชอบในแบรนด์ผลิตภัณฑ์ (Preference), การใช้ผลิตภัณฑ์จริง (Usage) และภาพลักษณ์ในมุมมองผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ (Image) จากการสำรวจ 12,000 ตัวอย่างครอบคลุมทั่วประเทศ กำหนดประกาศผลและมอบรางวัลสุดยอดแบรนด์ทรงพลังปี 2016 (The Most Powerful Brands of Thailand 2016) ในวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ศกนี้ ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน โดยมี ศ.ดร บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เกียรติเป็นประธานมอบรางวัล
รศ. ม.ล. สาวิกา อุณหนันท์ หัวหน้าโครงการวิจัย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า “ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จะประกาศผลสุดยอดแบรนด์ทรงพลัง ปี 2016 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นทุก 2 ปี โดยครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความแข็งแกร่งของแบรนด์ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ที่จะช่วยให้ผู้พัฒนา แบรนด์สามารถเข้าใจถึงศักยภาพและกำหนดทิศทางในการพัฒนาแบรนด์ ตลอดจนประเมินความคุ้มค่าของการลงทุนกับแบรนด์ในด้านต่างๆ ซึ่งการวัดพลังของแบรนด์นั้น จะครอบคลุมทั้ง 4 มิติ ได้แก่ ความตระหนักในแบรนด์ (Awareness) โดยวัดจากแบรนด์แรกที่ตระหนักถึง, ความชื่นชอบในแบรนด์ผลิตภัณฑ์ (Preference) วัดจากความรู้สึกชื่นชมแบรนด์นั้นมากกว่าแบรนด์อื่นในหมวดผลิตภัณฑ์เดียวกัน, การใช้ผลิตภัณฑ์จริง (Usage) วัดจากอัตราการใช้ผลิตภัณฑ์มากกว่าแบรนด์อื่นๆ และภาพลักษณ์ในมุมมองผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ (Image) โดยจะดูความแตกต่างในด้านภาพลักษณ์ของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ในด้านต่างๆ”
การสำรวจเพื่อวัดแบรนด์ทรงพลังที่สุดในประเทศไทย จัดทำขึ้นระหว่างเดือนเมษายน – ตุลาคมที่ผ่านมา โดยทำการเก็บข้อมูลจากกลุ่มประชากร ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ คือ ผู้บริโภคชาวไทยอายุระหว่าง 18-60 ปี จำนวน 12,000 ตัวอย่าง ครอบคลุมในทุกส่วนของประเทศ แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 6,000 ตัวอย่าง และอีก 6,000 ตัวอย่างใน 13 จังหวัดที่เป็นหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ นครสวรรค์ อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา ราชบุรี เพชรบุรี ระยอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา ซึ่งกลุ่มคนที่ทำการสำรวจเหล่านี้ทั้งหมด จะต้องเป็นผู้ตัดสินใจซื้อ และบริโภคผลิตภัณฑ์หรือบริการต่างๆ ใน 6 ประเภทหลัก 32 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย ประเภทยานยนต์และพลังงาน ได้แก่ รถยนต์ที่นั่งส่วนบุคคล, รถยนต์เชิงพาณิชย์, รถจักรยานยนต์, ยางรถยนต์, สถานีบริการน้ำมัน ประเภทเครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำอัดลม, น้ำผลไม้, กาแฟสำเร็จรูป, กาแฟพร้อมดื่ม, ชาพร้อมดื่ม, เบียร์, เครื่องดื่มชูกำลัง ประเภทอาหารและของว่าง ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, อาหารกระป๋อง, ขนมขบเคี้ยว, ไอศกรีม, ผลิตภัณฑ์จากนม, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ประเภทผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคลและครัวเรือน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้า, ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกาย, ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวกาย, ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม, ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก, ผงซักฟอก, ผ้าอนามัย ประเภทร้านอาหารที่มีสาขาและบริการทางการเงิน ได้แก่ ร้านอาหารที่มีสาขา, ธนาคาร, ประกันชีวิต ประเภทผลิตภัณฑ์และบริการด้านเทคโนโลยี ได้แก่ แล็ปท็อป / โน้ตบุ๊ค, เครือข่ายมือถือ, โทรศัพท์มือถือ, โทรทัศน์
“รางวัลสุดยอดแบรนด์ทรงพลังปี 2016 (The Most Powerful Brands of Thailand 2016) ที่ประกาศผลในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ เป็นงานวิจัยที่คณาจารย์ภาควิชาการตลาดได้ร่วมกันทำขึ้น ซึ่งมีความเป็นกลาง น่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับทั้งในแวดวงวิชาการและในวงการธุรกิจ แบรนด์ที่ได้รับรางวัลเป็นแบรนด์ที่ประชากรไทย เห็นว่ามีความแข็งแกร่งและทรงพลังที่สุด รางวัล The Most Powerful Brands of Thailand 2016 จึงเป็นรางวัลอันทรงเกียรติและเป็นเครื่องยืนยันว่าแบรนด์ที่ได้รับรางวัลเป็นแบบอย่างของแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม” รศ. ม.ล.สาวิกา กล่าวปิดท้าย