- Details
- Category: การตลาด
- Published: Monday, 28 November 2016 23:24
- Hits: 12019
BCP ทุ่ม 3 พันลบ.เปิดร้าน SPAR ซูเปอร์มาร์เกต 300 สาขาภายในปี 63 หวังสร้างยอดขาย 1.5 หมื่นลบ.
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP) เปิดตัว SPAR แบรนด์ซูเปอร์มาร์เกตแห่งแรกจากเนเธอร์แลนด์ในสถานีบริการน้ำมันบางจากฯ ถนนราชพฤกษ์ พร้อมตั้งเป้าเปิด 300 สาขาภายในปี 63 ด้วยงบลงทุนประมาณ 3 พันล้านบาทขยายสาขาทุกรูปแบบปีละ 50-80 สาขา ขณะที่คาดว่าจะสร้างยอดขายได้ราว 1.5 หมื่นล้านบาทภายในปี 63
"ปี 2020 เราตั้งเป้าหมายจะมี 300 แห่ง เป็นแฟรนไชส์ครึ่งหนึ่งและของบางจากครึ่งหนึ่ง ปีนี้คงจะเปิดได้ 6-7 แห่ง ตอนนี้เปิดไปแล้ว 2 แห่ง ปีหน้าจะเปิดอีก 40 แห่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องอยู่ในปั๊มน้ำมัน"นายชัยวัฒน์ กล่าว
SPAR เป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งรายใหญ่ระดับนานาชาติ มีสาขากว่า 12,100 แห่งใน 43 ประเทศ และไทยเป็นประเทศที่ 44 โดยให้สิทธิกับ BCP ผู้เดียวในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด SPAR FRESH & EASY FOOD MARKET ที่ให้บริการลูกค้าด้วยจุดเด่นที่แตกต่างคือ ความเป็นเลิศด้านอาหารสด ใส่ใจคุณภาพและบริการ และมีมุมจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากชุมชน ตามนโยบายของบางจากฯ ทั้งนี้จะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากชุมชนในแบรนด์ SPAR เพื่อจำหน่ายในไทยและมีแผนส่งออกไปต่างประเทศด้วย
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ตามแผนการเปิดร้าน SPAR จำนวน 300 แห่งในปี 63 นั้น คาดว่าประมาณ 100-200 แห่งจะเป็นร้าน Stand Alone ส่วนที่เหลือจะอยู่ในสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งต้องมีขนาดพื้นที่ที่เหมาะสมในการดำเนินการ
ขณะที่บางจากฯ ได้สิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ของ SPAR เพียงผู้เดียวในไทย เป็นเวลา 5 ปี และสามารถต่อสัญญาได้ รวมถึงให้สิทธิเพื่อเจรจาขยายไปยังในกลุ่มประเทศ CLMV ได้ในอนาคต ซึ่งแต่เบื้องต้นต้องการที่จะสร้างเครือข่ายในประเทศให้มีความแข็งแรงก่อน
ส่วนร้านซูเปอร์มาร์เกต"มินิบิ๊กซี"ปัจจุบันยังคงมีอยู่ในสถานีบริการน้ำมันบางจากราว 150-160 แห่ง ก็ยังคงดำเนินการอยู่ แต่ได้เปลี่ยนแปลงข้อตกลงที่จะไม่มีข้อผูกมัดให้ต้องเปิดมินิบิ๊กซีในสถานีบริการของบางจากเท่านั้น ทำให้มินิบิ๊กซีฯ สามารถเปิดในพื้นที่สถานีบริการน้ำมันอื่นได้
ขณะที่ร้านสะดวกซื้อ"ใบจาก"ที่มีอยู่ราว 20 แห่งก็จะทยอยหมดลงตามอายุสัญญา ซึ่งบางจากฯ ก็จะไม่ขยายแบรนด์นี้ต่อไป
นอกจากนี้ บางจากฯยังได้ปรับโฉมใหม่ของสถานีบริการ น้ำมันเป็นรูปแบบ Bangchak Greenovative Experience เพื่อรองรับวิถีชีวิตคนไทยยุคใหม่ ด้วยกระบวนการ 4 R คือ Renewable Recycle Reuse และ Reduce ได้แก่ การติดตั้ง Solar Roof Top เพื่อผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์สถานี EV Charger สำหรับรถยนต์ระบบไฟฟ้า เครื่องเก็บขวดพลาสติกอัตโนมัติเพื่อรีไซเคิลเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ระบบการนำน้ำฝนและน้ำใช้แล้วมาใช้รดน้ำต้นไม้ ร้านกาแฟเพื่อสุขภาพที่ใช้แก้วกาแฟย่อยสลายได้ และใช้เมล็ดกาแฟออแกนิกส์ที่ปลูกด้วยวิธีการรักษาป่าและไม่ใช้สารเคมี รวมไปถึงการใช้วัสดุอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวร่มรื่น เป็นต้น
"ทั้งหมดนี้ นอกจากจะสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคมของบริษัทฯ ยังสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ในการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม"นายชัยวัฒน์ กล่าว
อินโฟเควสท์