WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ไทยคม ส่งเสริมนวัตกรรม จัดประกวดต้นแบบจานดาวเทียมพร้อมใช้

    บมจ.ไทยคม ส่งเสริมแนวคิดในการต่อยอดและพัฒนานวัตกรรม เชิญชวนนิสิต นักศึกษา คณาจารย์ ร่วมส่งแผนโครงงาน 'การประกวดต้นแบบจานดาวเทียมพร้อมใช้ (Ready-to-Use Antenna Contest)'เพื่อเพิ่มความสะดวกในการติดตั้ง ลุ้นรับทุนการศึกษามูลค่ารวมกว่าแสนบาท

   นายธีระยุทธ บุญโชติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี บมจ.ไทยคมกล่าวว่า “ไทยคมได้เล็งเห็นถึงปัญหาการติดตั้งจานรับสัญญาณดาวเทียมตามบ้านเรือน ซึ่งมีความยุ่งยากและยังต้องมีการว่าจ้างเจ้าหน้าที่เฉพาะทาง ซึ่งก่อให้เกิดต้นทุนค่าใช้จ่ายในราคาสูง อีกทั้งยังไม่สะดวกในกรณีที่ต้องมีการย้ายสถานที่การใช้งานอีกด้วย บริษัทฯ จึงได้ริเริ่มโครงการแข่งขัน 'การประกวดต้นแบบจานดาวเทียมพร้อมใช้ (Ready-to-Use Antenna Contest)' โดยแบบที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อนำไปผลิตจานพร้อมใช้ โดยโครงการนี้ ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาแนวความคิด และการต่อยอดนวัตกรรมในหมู่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ อีกทั้งโครงการนี้ยังก่อให้เกิดความร่วมมือกันของภาคส่วนการศึกษาและอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต”

   จานดาวเทียมพร้อมใช้ ที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อนำมาพัฒนาให้เป็นต้นแบบนั้น จะต้องมีคุณสมบัติ คือ สามารถติดตั้งได้ง่ายและหันทิศทางไปหาดาวเทียมได้อย่างอัตโนมัติ (quick-deploy and auto-point) ผลิตได้ภายในประเทศ และราคาถูก โดยบริษัทฯ จะพิจารณาให้เงินสนับสนุน แก่โครงงานที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 5 โครงงาน โครงงานละ 20,000 บาท เพื่อจัดทำต้นแบบฯ และผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในรอบสุดท้ายจำนวน 1 กลุ่ม จะได้รับเงินรางวัลสูงสุดถึง 100,000 บาท

   นักเรียน นิสิต นักศึกษา และหรือ คณาจารย์ ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารเชิญชวนฯ และจัดส่งแผนโครงงานมายังคณะกรรมการจัดการแข่งขันฯ ภายในวันที่ 4 กันยายน 2557 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/groups/1432206307066800/ หรือทางหมายเลขโทรศัพท์ 02-591-0736 ext  8232, 8236 คุณฉัตรเพชร บุณยเกตุ หรือ คุณชวลิต อิทธิอาภา

เกี่ยวกับไทยคม 

   บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการดาวเทียมของไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2534 ด้วยภารกิจหลักในการให้บริการด้านการสื่อสารผ่านดาวเทียมทั้งบรอดคาสต์และบรอดแบรนด์ที่ล้ำหน้า เพื่อการสื่อสารที่หลากหลายครบวงจร จนถึงปัจจุบัน บริษัทได้จัดส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรแล้วทั้งสิ้นจำนวน 6 ดวง โดยมีดาวเทียมที่ให้บริการอยู่ ณ ปัจจุบันจำนวน 3 ดวง ได้แก่ดาวเทียมบรอดคาสต์ ไทยคม 5 และ ไทยคม 6 ที่เป็น “Hot Bird” ให้บริการถ่ายทอดสัญญาณรายการโทรทัศน์ มากกว่า 600 ช่อง ครอบคลุมประเทศไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และแอฟริกา (ภายใต้ชื่อทางการค้าว่า “แอฟริคอม-1”) และดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ซึ่งเป็นดาวเทียมบรอดแบนด์ดวงแรกของโลก ให้บริการบรอดแบนด์ครอบคลุม 14 ประเทศทั่วเอเชียแปซิฟิก ด้วยศักยภาพธุรกิจและเทคโนโลยีดาวเทียมที่โดดเด่นในระดับคุณภาพมาตรฐานโลกของไทยคม บริษัทสามารถนำเสนอโซลูชั่นครบวงจรให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคสามารถเชื่อมต่อการสื่อสารได้ในทุกที่ รวมถึงการเข้าไปสนับสนุนระบบการสื่อสารในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ

      ในปี 2557 บริษัทมีกำหนดจัดส่งดาวเทียมไทยคม 7 ขึ้นสู่วงโคจรเพิ่มเติม และอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการดาวเทียม

       ไทยคม 8 ซึ่งมีแผนจะนำขึ้นให้บริการในตำแหน่ง "Hot Bird" 78.5 องศาตะวันออกในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 เพื่อเพิ่มปริมาณช่องสัญญาณ รวมทั้งขยายพื้นที่ครอบคลุมการให้บริการของไทยคมในเอเชียและแอฟริกาเพิ่มเติมด้วย

      บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “THCOM”

เกี่ยวกับดาวเทียมไทยคม 7

      ดาวเทียมไทยคม 7 อยู่ในระหว่างการจัดสร้างโดย บริษัท สเปซ ซิสเต็มส์ ลอเรล ประเทศสหรัฐอเมริกา มีช่องสัญญาณแบบซีแบนด์รวมทั้งสิ้น 14 ช่องสัญญาณ ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการในทวีปเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดย บมจ.ไทยคม จะจัดส่งขึ้นสู่วงโคจรในตำแหน่ง 120 องศาตะวันออก ราวกลางปี 2557 โดยใช้จรวดส่งฟอลคอน 9 ของบริษัท สเปซ เอ็กซพลอเรชั่น เทคโนโลยีส์ คอร์ปอเรชั่น แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วยขยายโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจของบริษัทในการให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม ตลอดจนการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์รองรับลูกค้าในพื้นที่ให้บริการ

เกี่ยวกับดาวเทียมไทยคม 8

    ดาวเทียมไทยคม 8 ได้รับการออกแบบให้มีช่องสัญญาณแบบเคยูแบนด์รวมทั้งสิ้น 24 ช่องสัญญาณ ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการในประเทศไทย ภูมิภาคเอเชียใต้ และแอฟริกา โดยมีแผนในการจัดส่งขึ้นสู่วงโคจรที่ตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออก เพื่อตอกย้ำความเป็นดาวเทียม Hot Bird ของไทยคม ซึ่งจะเป็นลักษณะของการ Collocation กับดาวเทียมไทยคม 5 และ 6 ที่บริษัทฯ ได้จัดส่งขึ้นสู่วงโคจรไปก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถจัดส่งดาวเทียมไทยคม 8 ขึ้นสู่วงโคจรได้ภายในครึ่งแรกของปี 2559 โดย บริษัท ออบิทอล ไซเอนซ์ส คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้ผลิตดาวเทียม และ บริษัท สเปซ เอ็กซพลอเรชั่น เทคโนโลยีส์ คอร์ปอเรชั่น (สเปซ เอ็กซ์) ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ให้บริการจัดส่งดาวเทียม

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!